“เคลื่อนไหวช้า หน้าเรียบเฉย มือสั่นเทา” เป็นอาการที่คนทั่วไปเห็นเมื่อมองไปยังผู้ป่วยพาร์กินสัน อาการที่แสดง
ออกมาเกิดจากความเสื่อมของสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ในส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วน Basal ganglia ที่อยู่ลึกและทำหน้าที่เสมือนศูนย์ที่ผลิตน้ำมันหล่อลื่นให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว และสารที่เสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่สมองพร่องไปนั้น เราเรียกมันว่า “โดปามีน (Dopamine)”
โรคพาร์กินสันและธรรมชาติของโรค
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และรักษาไม่หายขาด การรักษาในปัจจุบันคือการใช้สารโดปามีนสังเคราะห์ที่อยู่ในรูปของยารับประทาน เพื่อทดแทนสารโดปามีนที่ขาดไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป สารโดปามีนนี้ก็จะ
ลดลง ทำให้อาการเป็นมากขึ้น ในปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาด แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้เซลล์ทดแทน (stem cell therapy) แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
มันเป็นความยากลำบากที่เกินจะอธิบาย เมื่อใจและสมองของผู้ป่วยพาร์กินสันยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของการอยากเคลื่อนไหว แต่ร่างกายกลับไม่ตอบสนองดังคาด ต้องอาศัยยาเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งมันก็อาจออกฤทธิ์ไม่ได้เต็มที่เหมือนใจอยากให้เป็น นอกจากนี้ เมื่อยาหมดฤทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อาการเคลื่อนไหวจะช้าลงหรือหยุด เสมือนรถขาดน้ำมัน
ออกกำลัง เคลื่อนไหวไปด้วยกัน
แม้ว่าการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยาจะมีข้อจำกัด แต่การรักษาอื่น ๆ สามารถช่วยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากหลักฐานทางการแพทย์ การออกกำลังและการทำกายภาพบำบัดแบบมีแบบแผนและเฉพาะเจาะจงต่อโรค มีผลทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตกับโรคพาร์กินสันได้ดีขึ้น โดยอาการที่ดีขึ้นจากการออกกำลังและกายภาพบำบัด ได้แก่ การตึงตัวของกล้ามเนื้อ (rigidity) การทรงตัว (balance) การก้าวเดิน (gait) การออกเสียง (speech) ซึ่งโดยรวมทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้นและลดผลเสียระยะยาว เช่น ภาวะล้มง่าย ซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกหัก โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นต้น
5 ข้อแนะนำสำหรับการออกกำลังกายในโรคพาร์กินสัน
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาของโรคพาร์กินสัน โดยการออกกำลังและกายภาพบำบัดที่มีประโยชน์ ได้แก่
- การออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อ (Stretching exercise) เป็นการออกกำลังกายที่มีวัตถุประสงค์ให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ลดอาการตึงและปวดกล้ามเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวให้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำได้โดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เช่น ไหล่ กล้ามเนื้อหลัง และขา เป็นต้น
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) จะทำให้การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น ระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายทำงานได้ดีมากขึ้น เพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ ลดอาการเหนื่อยง่ายจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ การออกกำลังกายรูปแบบนี้ ได้แก่ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน เป็นต้น
- การออกกำลังกายเสริมสร้างการทรงตัว (Balance exercise) เป็นการออกกำลังกายเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง และลดปัญหาการหกล้มง่ายในผู้ป่วย สามารถฝึกได้โดยการฝึกเดินบนเบาะ การฝึกเดินไปตามเส้นตรง เป็นต้น
- การฝึกเดินตามจังหวะ (Rhythmic walking training) เพื่อลดปัญหาการเดินที่ผิดรูปแบบในผู้ป่วย
พาร์กินสัน เช่น การเดินติดแข็ง การเดินลากเท้า เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ในผู้ป่วยพาร์กินสัน แม้ว่าจะมีอาการเดินติด แต่เมื่อได้ก้าวท้าวตามจังหวะ ก็จะสามารถก้าวเท้าได้ดียิ่งขึ้น ทางการแพทย์เรียกการก้าวเท้าตามจังหวะนี้ว่า Auditory cueing - การฝึกการหายใจและออกเสียง (Breathing and speech training) เนื่องผู้ป่วยพาร์กินสันมีลักษณะการหายใจที่ตื้นและช้า อีกทั้งมีโทนเสียงพูดที่เบาและต่ำ การฝึกหายใจและออกเสียงที่ถูกต้องจะทำให้สุขภาพกายและจิตดีขึ้น เป็นการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้ในเวลาเดียวกัน ผู้ป่วยสามารถฝึกได้โดยนำเอามือ
ข้างหนึ่งทาบที่หน้าอก และอีกข้างทาบที่หน้าท้อง และหายใจเข้าออกลึก ๆ และช้า ๆ ให้สุด
การออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีการเคลื่อนไหวช้าต้องการความพยายามมากกว่าปกติหลายเท่า ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นกลุ่ม (Group exercise) สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน นอกจากจะมีส่วนช่วยให้มีการออกกำลังกายที่ดีแล้วยังช่วยให้มีการเสริมกำลังใจให้แก่กันในกลุ่มผู้ป่วยอีกด้วย
ในรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โปรแกรม Parkinson Wellness Recovery (PWR) ได้จัดออกแบบการ
ออกกำลังกายในยิม ที่เรียกว่า PMR4Life สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ร่วมกับการให้คำแนะนำเรื่องโรค การปฎิบัติตัว และสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิตด้วย ส่วนในประเทศไทย ใน
โรงพยาบาลหรือศูนย์รักษาโรคบางแห่งเริ่มมีโปรแกรมสำหรับออกกำลังกายและกายภาพสำหรับโรคพาร์กินสันแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันไม่ต้องต่อสู้กับโรคตามลำพัง
Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018