ภาษารัก (Love language)

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
10710

วันก่อนผมได้พูดคุยกับผู้มารับคำปรึกษาท่านหนึ่ง เธอมีความเศร้ามาหลายเดือนเพราะรู้สึกว่าสามีไม่ค่อยแสดงความรัก ไม่ค่อยจับมือ ไม่กอด รวมถึงแทบไม่เคยบอกว่ารัก เธอรู้สึกน้อยใจ ไม่แน่ใจว่าสามียังรักกันอยู่หรือเปล่า แต่เมื่อคุยไปสักพักก็พบว่า จริง ๆ แล้วสามีก็ถือว่าดูแลค่อนข้างดี ไม่มีทีท่าว่าจะนอกใจ ช่วยทำงานบ้าน (ซึ่งนับว่าหายาก) ทำอาหารให้รับประทาน ตอนที่เธอป่วยก็ดูแลดี และที่จริงเขาก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรกที่แต่งงานแล้ว

ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึกดี ๆ ที่คนสองคนมีให้แก่กัน การแสดงซึ่งความรักนั้นมีได้หลายวิธี แตกต่างกันไปในแต่ละคน ทำให้หลายครั้งการแสดงออกถึงความรักของฝ่ายหนึ่งอาจสื่อไปไม่ถึงอีกฝ่าย เกิดเป็นความรู้สึกไม่ดี หรือคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รัก ทั้งที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น วิธีการแสดงออกซึ่งความรัก เรียกว่า “ภาษารัก” (love language) และปัญหาที่พบได้บ่อยในความสัมพันธ์ก็คือ ‘ภาษารักไม่ตรงกัน’ 

ภาษารักเป็นแนวคิดที่มาจาก Dr. Gary Chapman เขียนอยู่ในหนังสือชื่อ The Five Love Languages โดยกล่าวว่า คนเราแสดงออกซึ่งความรักได้ 5 แบบใหญ่ ๆ ตามชื่อหนังสือ การเข้าใจว่าคนเราแสดงความรักได้หลายแบบ การเข้าใจว่าภาษารักของเราเป็นแบบไหน และภาษารักของคู่เราเป็นแบบใด จะช่วยให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เราสื่อภาษารักให้ตรงกับคู่ของเราได้มากขึ้น มาลองดูกันครับว่า…ภาษารักทั้ง 5 แบบนี้มีอะไรบ้าง และเราตรงกับแบบไหนมากที่สุด

  1. คำพูด (word of affirmation)

คือการบอกความรู้สึกดี ๆ เช่น คิดถึง เป็นห่วง ให้กำลังใจ หรือการพูดออกไปตรง ๆ ว่า “รัก” ภาษารักด้วยคำพูดเป็นการบอกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึงความรักแบบตรงไปตรงมา และยืนยันความรักที่มีให้แก่กัน โดยไม่ต้องใช้วิธีคาดเดาหรือคอยสังเกตอย่างอ้อม ๆ ประโยคที่ว่า “การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” บางครั้งก็อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะบางครั้งอีกฝ่ายอาจจะไม่รับรู้ หรือไม่แน่ใจถ้าเราไม่พูดออกมา หากคู่ของเราชอบภาษารักแบบนี้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ การพยายามหัดพูดออกไปให้มากขึ้น

สิ่งสำคัญ คือ สิ่งที่พูดควรออกมาจากใจและเป็นจริง ไม่ใช่พูดไปเรื่อย หรือพูดแบบไม่จริงใจ เพราะอีกฝ่ายอาจรู้สึกได้เช่นกันว่ามันไม่จริง (หรือแรงหน่อยก็คือตอแหล) การพูดหวานเลี่ยนเป็นละครก็อาจทำให้รู้สึกประหลาดหรือน่ารำคาญได้เช่นกัน ดังนั้น…ดีที่สุดคือ ‘พูดด้วยใจจริง’

  1. เวลาที่มีคุณภาพ (quality time)

ไม่ได้หมายถึงการที่คนสองคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกันเฉย ๆ หลายครั้งเราพบว่า แม้จะมีอีกคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีแต่อย่างใด (คือแม้ตัวใกล้ แต่ใจก็ห่างกันได้) สิ่งสำคัญของเวลาที่มีคุณภาพก็คือ การที่คน ๆ นั้น “อยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง” ให้ความสำคัญกับอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ รับฟังอีกฝ่ายอย่างสนใจ หรือทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกัน คุณภาพนั้นสำคัญกว่าเรื่องปริมาณ เวลาที่มีคุณภาพเพียงไม่นานอาจทำให้รู้สึกถึงความรักได้อย่างมากมาย ตรงกันข้าม ต่อให้นั่งในห้องเดียวกันทั้งวัน แต่คนหนึ่งทำอะไรของตัวเองตลอดเวลา ก็อาจไม่รู้สึกถึงความรักเลยก็ได้

หากเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ควรเลือกกิจกรรมที่ทั้งสองคนสนใจร่วมกันจริง ๆ ซึ่งปกติทุกคู่ก็ย่อมมีสิ่งที่สนใจร่วมกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ไม่ใช่เลือกกิจกรรมที่อีกฝ่ายไม่ชอบ บังคับให้มาทำ อย่างนี้คงไม่ใช่เวลาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ก็ควรมีเวลาที่ได้อยู่ร่วมกันสองต่อสองอย่างสงบบ้าง ไม่ใช่มีเพื่อนอยู่ด้วยตลอดเวลา หรือทำโน่นทำนี่ไปด้วย ยิ่งในยุคสมัยนี้สิ่งที่พบบ่อยคือ แม้อยู่ด้วยกันสองต่อสองสอง แต่เวลาคุณภาพมักไม่ค่อยมี เพราะต่างคนต่างเล่นมือถือตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้บางคนรู้สึกน้อยใจว่าไม่มีความสำคัญ หรือเกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ ในเรื่องของการพูดคุยกัน สิ่งสำคัญได้แก่ การรับฟังอีกฝ่ายอย่างตั้งใจและเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแบบขอไปที พูดแทรก เปลี่ยนเรื่อง หรือตัดจบ แล้วพูดแต่เรื่องที่เราอยากพูดเท่านั้น

สิ่งที่ต้องระวัง หากเรามีภาษารักแบบเวลาคุณภาพก็คือ การต้องการเวลาที่มากเกินไป เรียกว่าทำอะไรต้องตัวติดกันตลอด หรือเรียกร้องให้เขาทำแต่กิจกรรมที่เราชอบ แต่กิจกรรมที่เขาชอบเราไม่ทำ อันนี้ก็ไม่ไหว เพราะอีกฝ่ายจะรู้สึกว่าไม่มีอิสระในชีวิต และในความเป็นจริง โอกาสที่คนสองคนจะชอบอะไรเหมือนกันไปหมดย่อมเป็นไปได้น้อย ต้องมีกิจกรรมที่คนหนึ่งชอบ แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ อาจจะต้องแยกกันทำ การมีเวลาส่วนตัวบ้างจึงเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายไม่รัก

  1. ของขวัญ (gifts)

คือการให้ของขวัญหรือของฝากต่าง ๆ เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัดมาแล้วซื้อของฝากมาให้ เดินเจอของถูกใจก็ซื้อมาฝาก รวมถึงของขวัญวันเกิดหรือตามเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น ภาษารักด้วยของขวัญนี้ไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกวัตถุนิยม เพราะสิ่งสำคัญอาจไม่ใช่ราคาของ แต่เป็นการแสดงถึงความคิดถึงกัน การเอาใจ และการเป็นคนสำคัญ

สิ่งที่ต้องระวัง คือ บางคนมีแนวโน้มจะให้สิ่งของแทนความรักเป็นหลัก (โดยเฉพาะผู้ชายมักเป็นกันบ่อย) เช่น สามีที่ทำงานหนักตลอดเวลา และมองว่าการให้สิ่งของกับเงินแก่ภรรยาเป็นความแสดงความรักแล้ว โดยที่ไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายอาจจะต้องการภาษารักรูปแบบอื่นด้วย ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในระยะยาว

  1. การดูแล (acts of service)

การดูแลในที่นี้เน้นไปที่การกระทำ นั่นคือการดูแลและให้บริการเรื่องต่าง ๆ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ทำอาหารให้กิน ช่วยทำธุระต่าง ๆ ให้ หรือคอยดูแลยามเจ็บป่วย เป็นต้น สำหรับภาษารักแบบนี้การกระทำอาจสำคัญกว่าคำพูด และการดูแลช่วยเหลือนี่แหละคือการสื่อถึงความรักที่มีให้กัน

สิ่งที่ต้องระวัง คือ การดูแลมากเกินไป เช่น เข้าไปยุ่งทุกเรื่อง ดูแลทุกอย่าง ซึ่งบางคนอาจไม่ชอบ หรือรู้สึกว่าถูกควบคุมมากเกินไป เช่น ผู้ชายบางคนอาจไม่ชอบให้ฝ่ายหญิงมายุ่ง มาจัดโต๊ะทำงานของตัวเอง (ที่แม้จะดูรก แต่เจ้าตัวทำงานได้ และจำได้ว่าของอยู่ตรงไหน) ดังนั้นจะเข้าไปดูแลช่วยเหลือแค่ไหนอาจจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของอีกฝ่ายด้วย

  1. การสัมผัสทางกาย (physical touch)

การสัมผัสทางร่างกายในที่นี้ เช่น จับมือ หอมแก้ม โอบ กอด จูบ หรืออาจรวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ต้องระวังว่า การสัมผัสกายไม่ได้จะหมายถึงเพศสัมพันธ์เสมอไป (โดยเฉพาะสำหรับฝ่ายชาย การที่ผู้หญิงอยากจับมือ โอบ หรือหอมแก้ม ไม่ได้จะแปลว่าเขาอยากมีเพศสัมพันธ์นะครับ) แต่การสัมผัสเป็นการสื่อถึงความรัก ความห่วงใย และความใกล้ชิดที่มีระหว่างกัน

สิ่งที่ต้องระวัง คือ หากคู่เราไม่ได้ชอบแบบนี้อาจจะต้องทำให้พอเหมาะ เพราะถ้าอีกฝ่ายไม่ชอบให้แตะตัวมากอาจจะรู้สึกรำคาญได้ นอกจากนี้อาจจะต้องทำให้เหมาะสมกับสถานะและวัฒนธรรม อย่างบางอาชีพ เช่น ผู้บริหาร อาจารย์ หมอ อาจจะระวังตัวไม่อยากให้มีคนนัวเนียในที่สาธารณะมากเกินไป เป็นต้น

โดยทั่วไปแต่ละคนมักมีภาษารักไม่เหมือนกัน และแต่ละคนมักมีมากกว่าหนึ่งแบบ (เฉลี่ย 2-3 แบบ) เพียงแต่มีความชอบมากน้อยแตกต่างกันไป ในหลายคู่รวมถึงตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังตอนต้น ปัญหาเกิดจากภาษารักที่ไม่ตรงกัน ฝ่ายชายแสดงความรักด้วยการดูแล ช่วยทำงานบ้าน ทำอาหาร ดูแลเรื่องเงินทอง แต่ไม่ค่อยแสดงออกทางการสัมผัสหรือคำพูด ไม่ค่อยมีความโรแมนติค (ซึ่งผู้ชายจำนวนมากมักจะเป็นแบบนี้) ในขณะที่ฝ่ายหญิงภาษารักของเธอคือการสัมผัสและการพูด จึงทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ ห่างเหิน และเมื่อนานเข้าก็เริ่มสงสัยว่าอีกฝ่ายไม่รัก ทั้ง ๆ ที่ความจริงก็รักกันดี

หากถามว่าแล้วเราเรียนรู้ภาษารักไปทำไม …คำตอบก็คือ เพื่อให้เราเข้าใจว่า การที่เขาไม่แสดงความรักออกมาในรูปแบบที่เราต้องการ อาจไม่ได้แปลว่าเขาไม่รัก เพียงแต่เขามีวิธีแสดงความรักที่ต่างออกไป หากเราเข้าใจย่อมสามารถเห็นถึงความรักของเขาได้ นอกจากนี้เมื่อเราเข้าใจถึงใจเขาใจเรา เราย่อมสามารถแสดงความรักได้อย่างเหมาะสมและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความรักที่มีได้อย่างเต็มที่

สุดท้ายภาษารักไม่ได้ใช้ได้กับคู่รักเท่านั้นนะครับ แต่สามารถนำไปใช้กับญาติพี่น้องและเพื่อนได้อีกด้วย ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าให้ไปบอกรักเพื่อนนะครับ แต่เพื่อนบางคนอาจชอบที่เราพูดให้กำลังใจ หรือชื่นชม ในขณะที่บางคนอาจจะดีใจเวลาคุณซื้อของมาฝาก เป็นต้น

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017