มังคุด ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
9194

สมัยเมื่อเล็กเป็นเด็กอยู่ ผู้เขียนได้ฟังสารคดีทางวิทยุได้ความว่า ทำไมมังคุดจึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า mangosteen โดยเรื่องนั้นเล่าว่า มีฝรั่งไปถามแม่ค้าว่า ผลไม้สีม่วงนั้นชื่ออะไร แม่ค้าก็บอกว่า มังคุด ฝรั่งก็พูดตามได้ว่า มังโก๊ะ(คล้ายคำว่า mango ซึ่งแปลว่า มะม่วง) หลายครั้งเข้าแม่ค้าจึงรำคาญ เลยสวนออกไปว่า มังโก๊ะ son-teen เอ็งนะซี ฝรั่งก็เลยทวนคำว่า Oh, yes mangosteen, I see. เรื่องนี้จริงหรือไม่ยังหาเอกสารอ้างอิงไม่ได้ครับ

แต่ที่อ้างอิงพอได้คือ มังคุดเป็นผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมมากจากคนหลายเชื้อชาติ จนหลายคนอุปโลกน์ให้เป็น “ราชินีของผลไม้” (คู่ไปกับราชาผลไม้คือ ทุเรียน) ทั้งที่ยังไม่ได้มีการประกวดกันอย่างจริงจัง การกล่าวอ้างนี้อาจเป็นด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของราชินีฝรั่งบางประเทศ

มังคุดนั้นเป็นผลไม้ที่ราคาไม่แพงนัก ราคามังคุดผิวมันเบอร์ยอด ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ตลาดสี่มุมเมืองคือ 32 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวว่าราคานั้นตกลงจากเดิม (โดยเฉลี่ย 3 ปีที่แล้วอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม) ในขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวว่า ผู้ค้าจีนได้เข้ามากว้านซื้อถึงสวนของเกษตรกรทำให้อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดในประเทศลดลง ซึ่งดูแล้วข่าวนั้นสวนทางกัน อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังหวังว่าผู้ค้าจีนคงเหลือมังคุดให้คนไทยได้กินบ้างในราคาไม่แพงนัก เพื่อช่วยลดความร้อนแรงหลังการกินทุเรียนซึ่งก็ออกในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับคนต่างชาติแล้วมักรู้ดีว่า ถ้าจะกินมังคุดให้อร่อยต้องมาเมืองไทย จึงจะสะใจในรสชาติ แม้มีประเทศหนึ่งทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีพื้นที่ใหญ่โต (แต่เป็นทะเลทรายใหญ่มากอยู่ตอนกลาง) และมีความสามารถเป็นพิเศษในการหลอกล่อให้คนในประเทศอื่นที่มีผลไม้อร่อยไปทำวิจัยเพื่อรับปริญญาเอก โดยแลกกับการนำเอาผลไม้อร่อยของประเทศตนเองไปทำวิจัยและปลูกในประเทศนั้น ก็ยังพบว่ามังคุดที่นำไปปลูกนั้นแค่พอกินได้แต่มันไม่ถึงใจเท่ามากินที่เมืองไทย

วันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนยังไม่เกษียณ มีคณบดีของคณะเกษตรในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนเคยไปเรียนวิชาด้านพิษวิทยามาเยี่ยมที่ทำงาน ทางผู้บริหารของหน่วยงานจึงตามผู้เขียนไปทักทาย สิ่งที่ภรรยาของคณบดีถามผู้เขียนประโยคแรกคือ จะหาซื้อมังคุดได้ที่ไหน ซึ่งประจวบเหมาะกับวันนั้นมีลูกศิษย์ได้นำมังคุดมากำนัลผู้เขียน จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ชาวต่างชาติสองคนได้ลิ้มลองความอร่อยของผลไม้ที่ได้ชื่อว่าอร่อยที่สุดในโลกชนิดหนึ่งในวันแรกที่สัมผัสแผ่นดินไทย

ข้อมูลจากเว็บต่างๆ ทั้งไทยและเทศกล่าวว่า มังคุดเป็นผลไม้กึ่งยาซึ่งได้รับการวิจัยทางชีวภาพแล้วมากมาย สำหรับคนไทยนั้น มังคุดเป็นผลไม้จำเป็นเพื่อแก้ร้อนในเมื่อกินทุเรียนแบบลืมตาย มังคุดมีเนื้อในสีขาวสะอาด รสชาติแสนหวาน และหอมหวน อร่อยอย่างยากที่จะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้ ชาวบ้านในบางจังหวัดนำมังคุดมาประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาว เช่น แกง ยำ และอาหารหวาน เช่น มังคุดลอยแก้ว แยมมังคุด มังคุดกวน มังคุดแช่อิ่ม เป็นต้น

นอกจากอร่อยมากแล้วเนื้อมังคุดมีคุณค่าทางโภชนาการดีคือ มีทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร (ซึ่งเป็นเรื่องไม่แปลกนัก) แต่สิ่งที่เราควรสนใจคือ ข้อมูลจาก USDA Nutrient Database ของกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกากล่าวว่า เมื่อกินเนื้อมังคุดราว 100 กรัม จะได้รับสารอาหารหลายชนิด ซึ่งเมื่อคำนวณตามความต้องการในแต่ละวันของผู้ใหญ่แล้วคือได้ วิตามินบี1 ร้อยละ 5 วิตามินบี2 ร้อยละ 5 ไนอาซีนร้อยละ 2 วิตามินซีร้อยละ 3 โฟเลตซึ่งมีถึงร้อยละ 8 (ซึ่งเหมาะกับคนท้องเพราะช่วยป้องกันความผิดปกติของทารก) และวิตามินอื่นๆ อีกเล็กๆ น้อยๆ ส่วนกลุ่มเกลือแร่ที่จะได้นั้นคือ แมกนีเซียมร้อยละ 4 แมงกานีสร้อยละ 5 สังกะสีร้อยละ 2 โปแตสเซียมร้อยละ 1

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจในประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกมังคุดนั้นมีประโยชน์คุ้มค่าที่จะตากแห้งแล้วเก็บไว้ เพราะวิกิพีเดียภาษาไทยกล่าวว่า เปลือกของมังคุดมีสารให้รสฝาด คือ แทนนินซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็ว ส่วนสารธรรมชาติอีกชนิดคือ แมงโกสตินช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้

ในตำรับยาแผนไทย แนะนำให้ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟแล้วฝนกับน้ำปูนใสเพื่อแก้ท้องเสีย เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใสใช้บำบัดอาการคันเนื่องจากน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ฝรั่ง มาเลย์เชื้อสายอินเดีย และไทยตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine เมื่อปี 2010 กล่าวว่า ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประของมาเลเซียใช้เปลือกผลแห้งรักษาแผลเปิดได้ดี

นอกจากนี้จากการศึกษาในห้องทดลองเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ภายใต้การดูแลของผู้เขียน ทำให้เราพบว่า เนื้อมังคุดมีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก ซึ่งรวมถึงการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษบางชนิดด้วยจึงอาจกล่าวว่า มังคุดเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยที่ดูเป็นการสนับสนุน (ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Society for Integrative Oncology เมื่อปี 2006 เรื่อง Mangosteen for the cancer patient: facts and myths) กล่าวว่ามังคุดมีสารชื่อ แซนโธน (Xanthones) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ต้านอาการบวม และต้านการขยายจำนวนของเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยมะเร็งคงต้องรองานวิจัยที่วางแผนการศึกษาในคนไข้ที่ดีกว่านี้ในอนาคต ดังนั้นระหว่างนี้อย่าเพิ่งไปหลงเชื่อการโฆษณาจากคนขายน้ำมังคุด ซึ่งมีตั้งแต่เขาเป็นใครก็ไม่รู้ในอินเตอร์เน็ต ตลอดไปจนถึงบุคคลากรด้านสาธารณสุขที่มักกล่าวว่า น้ำมังคุดใช้บำบัดมะเร็งได้ เพราะยังไม่มีใครบอกได้ว่า น้ำมังคุดจะไปรบกวนการทำงานของยาบำบัดมะเร็งอื่นหรือไม่ ที่สำคัญในช่วงการบำบัดมะเร็งด้วยการฉายรังสี อาจจำเป็นต้องงดการกินผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงรวมทั้งมังคุดด้วย เพราะช่วงนี้ของการฉายรังสีนั้นเป็นความต้องการให้เกิดอนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์มะเร็ง จากนั้นเมื่อการฉายรังสีลุล่วงไปแล้วผู้ป่วยจึงควรเพิ่มการกินผลไม้กลุ่มที่มีสารต้านออกซิเดชั่นเพื่อบำรุงร่างกายให้กลับสู่สภาพปกติ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.181 May 2016