ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม: ยารักษาโรคสมองเสื่อม

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
3097

สมองเสื่อมเป็นคำกว้างๆ ภาวะนี้เกิดจากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยในบ้านเราคือสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s dementia) ที่เหลือเกิดจากสาเหตุอื่นๆ และโรคทางสมองที่หายากในรูปแบบอื่นๆ จะเป็นแบบไหนก็ตาม ณ ปัจจุบัน ไม่มียารักษาโดยตรง

ข้อเขียนชุดนี้มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรที่ลูกหลานมีอยู่เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนทั้งบ้าน คือคนแก่ด้วย คนดูแลด้วย และลูกๆ ทุกคนด้วย ถ้ามีเงินสักก้อน ให้ทุ่มไปที่การบริหารบุคคลและสถานที่ก่อน ถ้าคนดูแลพร้อม ลูกหลานเข้าเวรมาช่วยกันบ้าง สถานที่เหมาะสม รับรองได้ว่าผู้ป่วยคือบุพการีของเราจะพออยู่ได้ และทุกคนอยู่ได้ด้วย ดังนั้นต่อให้มีเงินเยอะ ก็ยังไม่ควรผลีผลามทุ่มลงไปที่ยา

ยาที่อ้างว่ารักษาโรคสมองเสื่อมหรือที่จ่ายให้ผู้สูงอายุเพื่อรักษาสมองเสื่อมทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม cholinesterase inhibitor ซึ่งมิได้ไปรักษาหรือแม้กระทั่งหยุดกระบวนการสมองเสื่อมได้ ยาทำหน้าที่เพียงไปช่วยให้สมองทำงานได้ดีกว่าเดิมบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน  ที่ควรระวังคือ ยาทำให้ผู้สูงอายุเบลอๆ สับสน พูดไม่ค่อยรู้เรื่องบ่อยครั้ง การให้จึงควรทำด้วยความระมัดระวัง

ผู้ป่วยบางคนพลุ่งพล่าน พูดจาสับสน เดินไม่หยุด ไม่รู้เวลา สถานที่ หรือบุคคล ไปจนถึงมีอาการหวาดระแวง ที่พบบ่อยคือระแวงสมบัติ ถามหาทองเส้นเดิม บัญชีเงินฝาก กล่าวหาลูกหลานว่าหยิบไป บ้างหวาดระแวงขโมยจะขึ้นบ้าน ไปจนถึงลูกหลานวางยาพิษ เช่นนี้ให้รักษาตามอาการ คือให้ยาเพื่อบรรเทาอาการสับสนหรือหวาดระแวง

ผู้ป่วยบางคนซึมเศร้ามาก ร้องไห้บ่อยครั้ง หลายครั้งที่ร้องไห้ก็ไม่มีปี่มีขลุ่ย คิดอยากตายไปจนถึงพยายามฆ่าตัวตาย เช่นนี้ให้รักษาตามอาการ คือให้ยาเพื่อบรรเทาอารมณ์เศร้าหรือโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นแทรกซ้อนแล้วแต่กรณี โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นแทรกซ้อนนี้เป็นได้ทั้งที่มีสาเหตุจากจิตใจและสภาพแวดล้อม หรือที่มีสาเหตุจากรอยโรคในสมองโดยตรง ก็จะได้รับยาต้านอารมณ์เศร้าต่างขนาด ต่างชนิดและระยะเวลาที่ต้องกินยานานไม่เท่ากัน

ผู้ป่วยบางคนนอนไม่หลับ มีทั้งหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ ตื่นแล้วหลับต่อยาก ฝันร้ายบ่อย นอนละเมออย่างรุนแรง หรือนอนกระตุกจนพักไม่ได้ เหล่านี้ลดลงได้ด้วยยาที่ถูกต้อง ที่ไม่ควรใช้คือยาที่อยู่ในตระกูลยานอนหลับแท้ๆ (hypnotics) เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงสูงและมักก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ไปจนถึงก้าวร้าวในเวลาต่อมา

ไม่ว่าจะเป็นยาอะไรเพื่อบรรเทาอาการอะไรก็ตาม เรื่องที่ควรระวังคือตัวยาเหล่านี้เกือบทั้งหมดทำให้ผู้สูงอายุคอแห้ง เบ่งปัสสาวะนาน ท้องผูก ลุกเร็วแล้วล้มทั้งยืน ไปจนถึงสับสนหนักยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น การให้ยาจึงควรทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งอีกเช่นกัน สรุปง่ายๆ ว่าให้ยาก็ไม่ดีนัก ไม่ให้ยาก็ไม่รู้จะทำอะไร แล้วจะให้ทำอะไร

การดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมมักจะได้ผลดีเมื่อผู้ดูแลอารมณ์ดี ใจเย็น อดทน สุขุม สะอาด เรียบร้อย ไม่ต่อปากต่อคำผู้สูงอายุ เป็นผู้ฟังที่ดีและยินดีรับฟัง ซึ่งทำไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องอาศัยการผลัดเวร ผลัดกันเข้ามาดูแล นอกจากนี้คือต้องการสถานที่ที่เหมาะสม หากสองอย่างนี้ดีแล้วส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาอะไรอีก

อาการสับสนก็ตาม อาการซึมเศร้าก็ตาม เป็นอาการที่เรานั่งดูไปสักพักได้ อย่ารีบร้อนเข้าแก้ไข ปลอบโยน หรืออธิบาย ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี คล้อยตามบ้าง ขัดคอบ้าง เปลี่ยนเรื่องบ้าง แหย่เล่นบ้าง แต่โดยรวมๆ คือ ให้เป็นผู้ฟังที่ดี ส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุจะมีอาการดีขึ้นเอง อาการสับสนหายไปเอง อารมณ์เศร้าดีขึ้นเอง แล้วก็จะเป็นอีก แล้วก็หายอีก แล้วก็เป็นอีก แล้วก็หายอีก เรื่องเหล่านี้เป็นธรรมดา จนกว่าจะพบว่าท่านมีอาการสับสนรุนแรงหรือซึมเศร้าอย่างรุนแรงและเป็นอยู่นานพอสมควรจึงค่อยพาไปพบแพทย์ให้ยา แต่ควรท่องไว้เสมอว่า ยาที่ได้มีข้อเสียในตัวของมันเองเสมอ ให้มากเกินไปมักสับสนมากกว่าเดิม

ยาประจำตัวผู้ป่วยก็เป็นปัญหามาก ปัจจุบันผู้สูงอายุแต่ละท่านมียาประจำตัวคนละ 10-20 รายการ ผู้เขียนเคยพบสูงสุด 25 รายการ ส่วนใหญ่จะมียาลดความดัน 2 ซอง ยาเบาหวาน 2 ซอง ยาหัวใจ 2 ซอง ยาลดไขมัน ยากระเพาะอาหาร ยาโรคเกาต์ ยาต่อมลูกหมาก ฮอร์โมน แคลเซียม ยา(ที่อ้างว่า)ขยายหลอดเลือดสมอง ยา(ที่อ้างว่า)เพิ่มออกซิเจนไปสมอง ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยากระดูกพรุน ยากรดไหลย้อน ยาคลายเครียด ยาต้านอารมณ์เศร้า ยานอนหลับ ครบ 20 ซองพอดี

หลายครั้งที่หยุดยาเหล่านี้ทั้งหมด ผู้ป่วยมักหายสับสนเองใน 3-7 วัน การหยุดยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำว่าควรหยุดยาอะไร และควรเหลือยาอะไรที่หากไม่กินแล้วอาจจะเกิดอันตรายได้อย่างเฉียบพลัน เช่น ยาเบาหวาน หรือ ยาหัวใจ เป็นต้น ส่วนประเภทหยุด 7-14 วันก็ไม่เกิดอะไรควรหยุดก่อน เมื่อหายสับสนแล้วค่อยว่ากันใหม่ มิเช่นนั้นก็ต้องเติมยาที่ใช้ลดอาการสับสนลงไปอีกอย่างน้อยก็ 2 ซองกลายเป็น 22 ซอง หากเติมวิตามินลงไปอีก 2 ซองก็ครบ 2 โหลพอดี

ยามิใช่คำตอบสุดท้าย การจัดระบบ (system management) คือคำตอบสุดท้าย หากยังจะมีอะไรควรทำและน่าจะได้ผลน่าจะอยู่ที่โภชนาการและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งนักโภชนาการและนักเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีความสามารถควรช่วยได้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.180 April 2016