ไข้เลือดออกเกิดจาก “เชื้อไวรัสเดงกี” มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยยุงลายหนึ่งตัวสามารถนำพาเชื้อได้หลายสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับว่ายุงตัวนั้นไปดูดเลือดของคนที่มีเชื้อสายพันธุ์ใดอยู่ ในอดีตโรคนี้พบมากในเด็กวัยเรียน แต่ปัจจุบันเริ่มพบในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเพราะมีการดูแลไม่ให้เด็กถูกยุงกัดได้ดีขึ้น เด็ก ๆ จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลง การติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรกมักไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากจนผู้ที่ได้รับเชื้ออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองติดเชื้อไวรัสเดงกี และเมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต แต่ถ้ามีการติดเชื้อครั้งที่ 2 จากเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์อื่น อาการป่วยอาจจะหนักกว่าเดิม และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีแบบไม่มีอาการอาจสามารถแพร่เชื้อผ่านยุงที่มากัดได้คล้ายกับผู้ที่มีอาการ แต่เชื่อว่าระยะเวลาในการแพร่เชื้ออาจจะสั้นกว่าเนื่องจากมีปริมาณเชื้อน้อยกว่า ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ “การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด” เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ได้รับเชื้อและไม่ได้เป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
อาการต้องสงสัยไข้เลือดออก
อาการเด่นชัดที่สังเกตได้ของไข้เลือดออก คือ
- มีไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง หรือลดลงเพียงครู่เดียวเท่านั้น
- มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระบอกตา
- มักไม่ค่อยมีอาการไอ น้ำมูก หรือถ้ามีก็มีอาการไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ปวดท้อง เป็นต้น ดังนั้นถ้าพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะ 3 อาการเด่นตามที่ระบุไว้ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุโดยทันที เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเป็นอาการของโรคไข้เลือดออก ซึ่งในปัจจุบันการตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นผลสำเร็จแล้ว โดยสามารถครอบคลุมไวรัสเดงกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2559 โดยสามารถฉีดได้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือนในการฉีดแต่ละครั้ง
“แล้วเราควรจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกดีไหม?” สำหรับผู้ที่กำลังตั้งคำถามนี้อยู่ในใจ แนะนำให้พิจารณาจากข้อมูลดังต่อไปนี้ ได้แก่
- ผู้เข้ารับการฉีดจะต้องไม่มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ไม่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- อยู่ในช่วงอายุ 9-45 ปี
- ประสิทธิภาพของวัคซีนตรงตามความคาดหวัง ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนต้องเข้าใจก่อนว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้โดยเฉลี่ยประมาณ 60% และลดการนอนโรงพยาบาลรวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรคได้ประมาณ 80% ดังนั้นหากหวังผล 100% คงต้องพิจารณาปรับความคาดหวังกันใหม่
- ราคาของวัคซีน ราคาจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาล สำหรับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ราคาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจะอยู่ที่เข็มละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะต้องฉีดให้ครบทั้ง 3 เข็ม
หลังจากพิจารณาข้อมูลส่วนนี้ครบแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วว่าจะตัดสินใจเช่นไร
อย่างไรก็ตามวัคซีนไข้เลือดออกเป็นเพียงมาตรการเสริมในการป้องกันโรคเท่านั้น มาตรการหลักที่เราทุกคนควรยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การพ่นยาฆ่ายุงในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มียุงเป็นพาหะอีกด้วย
Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017