ลดความดันโลหิตสูงด้วยหลัก 4 อ.

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
4440
ลดความดันโลหิตสูง

หลายครั้งที่หมอพบว่าผู้ป่วยค่อนข้างตกใจเมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้อาจนำไปสู่ภาวะที่ร้ายแรงที่สุดถึงขนาดก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้มักมีคำถามสำคัญที่ผู้ป่วยมักถามบ่อย ๆ ว่า…

“ผมต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตตลอดชีวิตเลยใช่มั้ยครับหมอ?”

“เราจะหยุดรับประทานยาได้บ้างไหมค่ะ?”

“มีวิธีอื่นอีกหรือเปล่าถ้าไม่อยากรับประทานยา?”

วันนี้หมอเลยขอชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและวิธีรับมือกับโรคนี้แบบไม่ต้องใช้ยาดูบ้างดีกว่า

โรคความดันโลหิตสูงนั้นเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมาก โดยที่ทางการแพทย์เรายังไม่รู้สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงแน่ชัดนัก แต่จากหลายการศึกษาก็ทำให้เราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้มากขึ้นครับ และเพราะว่าโรคนี้ไม่มีอาการใด ๆ จึงเป็นที่รู้จักกันในนามของ “เพชฌฆาตเงียบ” เพราะผู้ป่วยไปรู้ตัวอีกทีก็มักตรวจพบโรคแทรกซ้อนมากมาย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ทางเดียวที่เราจะตรวจพบได้ก็คือ การวัดความดันโลหิต ซึ่งทำกันได้โดยง่าย ไม่ต้องเจ็บปวดอะไร

ความดันโลหิตประกอบด้วยตัวเลข 2 จำนวน เช่น 120 / 80 ตัวเลขแรกหรือตัวเลขตัวบน คือความดัน systolic เป็นค่าแรงดันเมื่อหัวใจบีบตัว ส่วนตัวเลขหลังหรือตัวเลขล่างคือความดัน diastolic หรือแรงดันเมื่อหัวใจคลายตัว โดยทั่วไปเราเชื่อว่าจุดที่ควรเริ่มได้รับการใส่ใจดูแลคือสูงกว่า 120 / 80 ซึ่งถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงที่จะพบปัญหาแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูงเมื่อมีความดันโลหิตสูงเกิน 140 / 90 (หรือแพทย์บางท่านอาจถือเอาตัวเลข 130 / 80 แล้วแต่แนวทางการรักษานะครับ)

สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ การอ่านค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ไขว้เขวได้ หลายคนมีภาวะที่เรียกว่าความดันโลหิตสูงเทียม เช่น มีความดันโลหิตสูงผิดปกติเฉพาะเวลาที่ไปพบแพทย์ ซึ่งมักเกิดจากความวิตกกังวล ดังนั้นถ้าค่าความดันโลหิตไม่ได้สูงมาก ๆ ก็อาจรอดูอาการสัก 24 ชั่วโมงก่อนจะตัดสินใจรับการรักษาก็ได้ครับ การวัดความดันโลหิตซ้ำที่บ้านถือเป็นทางเลือกที่ดีในการตัดภาวะความดันโลหิตสูงเทียมนี้ได้ดีเลยทีเดียว

สิ่งสำคัญในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนอกจากยาลดความดันโลหิตแล้ว เรายังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตได้โดยไม่ต้องพึ่งยา หมอเองมักแนะนำผู้ป่วยทุกคนให้เริ่มปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตตามหลักฐานทางการแพทย์ที่พบว่าทำแล้วมีประโยชน์ ลดความดันโลหิตได้จริงร่วมด้วยเสมอแม้จะใช้หรือไม่ใช้ยาก็ตาม หมอขอเรียกสั้น ๆ เป็นตัวย่อว่า หลัก “4 อ.” ครับ เพราะเวลาหมอท่องไปใช้งานก็จำ “4 อ.” แบบนี้จริง ๆ ไม่ค่อยลืม ใช้กันง่ายดี ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังนี้ครับ

อ – อาหาร

ในแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ได้แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีชื่อเรียกว่า DASH หรือ Dietary Approaches to Stop Hypertension ซึ่งเป็นแนวทางการรับประทานอาหารที่มีงานวิจัยพบว่า ช่วยลดความดันโลหิตได้จริง โดยมีการเน้นให้

  • จำกัดการรับประทานเกลือโซเดียมให้ไม่เกิน 1,500 มก.ต่อวัน (ประมาณ 2/3 ช้อนชา) ระวังอาหารที่มีเกลือแฝงสูง เช่น ผงชูรส ไส้กรอก ลูกชิ้น น้ำแกง อาหารแช่แข็ง หมอแนะนำว่าควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนบริโภคทุกครั้งครับ
  • ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ผักใบเขียว  โยเกิร์ต เห็ด แครอท ฟักทอง มะละกอ
  • ลดการใช้น้ำมันในอาหาร โดยในหนึ่งวันควรรับประทานไม่เกิน 1 ช้อนชา เน้นการปรุงอาหารด้วยการต้มหรือนึ่งเป็นหลัก
  • รับประทานถั่วชนิดต่าง ๆ 4-5 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ (1 หน่วยบริโภค เท่ากับ 2 ช้อนโต๊ะ) เพราะถั่วเป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันชนิดดี และแร่ธาตุแมกนีเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยลดความดัน แต่ต้องเลือกเป็นถั่วธรรมชาติชนิดไม่ปรุงรส และไม่ใช่แบบทอดด้วยนะครับ
  • รับประทานโปรตีนที่ดีจากเนื้อปลาและไก่ไม่ติดหนัง
  • รับประทานไข่แดงไม่เกิน 4 ฟองต่อสัปดาห์
  • รับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5 หน่วยบริโภคต่อวัน
  • รับประทานธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ลูกเดือยเพื่อให้ได้เส้นใยอาหารและแร่ธาตุ

อ – ออกกำลังและลดน้ำหนักตัว

หมอเคยเขียนเรื่องประโยชน์และวิธีการออกกำลังกายไว้แล้วในฉบับที่ผ่านมา คิดว่ายังพอหาอ่านได้ครับจะไม่ขอลงรายละเอียดมาก แต่ขอนำงานวิจัยมาให้ดูเป็นตัวอย่างครับ มีงานวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยดุ๊กซึ่งรายงานไว้ในปี ค.ศ.2000 ได้แบ่งชายและหญิง 133 คนที่มีน้ำหนักเกินและใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างเดียวด้วยการวิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยานสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 45 นาที และกลุ่มที่ 3 ซึ่งออกกำลังกายและเข้ารับการอบรมเรื่องการลดน้ำหนักตัว ผลที่ได้เป็นไป
ตามคาดหมาย คือกลุ่มควบคุมลดลงน้อยที่สุดที่ 0.9 / 1.4 มิลลิเมตรปรอท กลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างเดียวลดลง 4.4 / 4.3 ส่วนกลุ่มที่ใช้วิธีผสมผสานมีความดันโลหิตลดลง 7.4 / 5.6 จะเห็นได้ว่าการออกกำลังและควบคุม
น้ำหนักนั้นมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการรับประทานยาเม็ดลดความดันฯ ราคาแพงเลยทีเดียว

อ – แอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ครับ มีหลักฐานจากงานวิจัยหลายงานวิจัยในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเรื่องปริมาณการดื่มที่อันตราย แต่โดยทั่วไปการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 แก้วจึงจะปลอดภัยต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองครับ

อ – อารมณ์และความเครียด

อย่างที่เราทราบกันมานานแล้วครับว่าความเครียดและอารมณ์ด้านลบจะส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากความผิดปกติของระบประสาทอัตโนมัติที่ถูกกระตุ้น กิจกรรมหนึ่งที่หมอมักแนะนำให้ผู้ป่วยลองทำในแง่นี้ก็คือ การฝึกทำสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งมีบางรายงานพบว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับความดันโลหิตสูงได้ดีขึ้น ทั้งนี้รวมถึงยังช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มใช้ยาลดความดันโลหิตสูง เราสามารถลองควบคุมความดันโลหิตด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตได้ครับ โดยที่หลายคนนั้นเพียงแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตก็เพียงพอแล้วต่อการควบคุมความดัน แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิต ก็ควรใช้ตามที่แพทย์สั่ง แต่อย่าลืมใช้หลัก “4 อ.”ดังกล่าวข้างต้นร่วมด้วยนะครับ หากปฏิบัติตามอย่างจริงจังแล้ว หมอเชื่อว่าความดันโลหิตสูงจะไม่ใช่โรคที่น่าตกใจอีกต่อไปครับ