สับปะรดเป็นผลไม้ประจำงานประชุมต่างๆ ที่มีการเก็บค่าอาหารกลางวันรวมไปกับค่าลงทะเบียน และเป็นผลไม้ที่พบเป็นประจำในผลไม้รวมบรรจุกระป๋อง ทั้งนี้เพราะสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีราคาไม่แพง ในการสำรวจราคาทางอินเตอร์เน็ตเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2559 พบว่า สับปะรดภูเก็ตราคาขายส่งจากไร่ผลละ 20 บาท สับปะรดตราดสีทองเบอร์ 2 ขายเป็นกิโลกรัมที่ตลาดสี่มุมเมืองก็ 20 บาท ส่วนสับปะรดภูแลซึ่งขึ้นชื่อว่าอร่อยนั้น ราคาโดยเฉลี่ยที่ตลาดไทเท่าที่หาได้คือ 100 กว่าบาทต่อกิโลกรัม
แม้ว่าสับปะรดในไทยมีหลายชื่อ (เข้าใจว่าตั้งขึ้นตามท้องถิ่นที่ปลูก เช่น นางแล ภูแล อินทรชิต เพชรบุรี ศรีราชา ฯลฯ) ก็ตาม แต่ต้นตอน่าจะมาจากพันธุ์ดั้งเดิมไม่กี่พันธุ์ เช่น พันธุ์ซึ่งปลูกที่ปราณบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) และผู้เขียนได้กินตั้งแต่เด็กชื่อ พันธุ์ปัตตาเวีย (มีผลใหญ่ต่างจากพันธุ์ภูเก็ตอย่างชัดเจน) สับปะรดพันธุ์นี้มีอีกชื่อเรียกว่า สับปะรดศรีราชา เพราะปลูกที่ศรีราชา (ชลบุรี) โดยที่สับปะรดทั้งสองมีรสชาติอร่อยต่างกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมในการปลูกที่ต่างกัน เช่น ดิน ปริมาณน้ำ ลมฟ้าอากาศ ดังนั้นจึงไม่ควรประหลาดใจเมื่อนำจุกสับปะรดซึ่งตัดจากสับปะรดที่กินแล้วอร่อยไปปลูกที่บ้านซึ่งมีดินที่ปรับปรุงด้วยปุ๋ยอย่างดี แต่ผลที่ได้มีรสชาติไม่เป็นสับปะรดอย่างที่คิด
สับปะรดนั้นหากินได้ง่ายในประเทศไทย เพราะเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะอากาศร้อน แห้งแล้ง มีดินปนทราย ซึ่งเป็นลักษณะดินที่คนไทยพยายามปรับเปลี่ยนจากดินผืนป่าที่ชุ่มชื้นให้แห้งแล้ง โดยการมุ่งมั่นตัดไม้ในป่าต้นน้ำ (มาตลอดเวลาที่ผู้เขียนจำความได้) ทำให้อนุมานได้ว่า คนไทยเหล่านี้คงหวังให้ไทยเป็นประเทศส่งออกสับปะรดรายใหญ่ของโลกแทนคอสตาริก้า (เหรียญทอง) ฟิลิปปินส์ (เหรียญเงิน) บราซิล (เหรียญทองแดง) โดยมีไทยซึ่งยังไม่ได้เหรียญอะไรเลยตามอยู่ลำดับที่สี่ (ข้อมูลนี้ดัดแปลงมาจาก Wikipedia)
สำหรับผู้เขียนแล้ววันใดโชคดีซื้อสับปะรดหวานฉ่ำได้จะกินสด ส่วนวันเคราะห์ร้ายได้สับปะรดที่เปรี้ยวก็นำไปเติมน้ำตาลผสมเพคตินทำเป็นแยมสับปะรดสำหรับทาขนมปัง, นำไปผสมน้ำตาลเติมแบะแซแล้วกวนได้สับปะรดกวน, เอาไปต้มกับน้ำตาลทรายเลยก็ได้สับปะรดเชื่อมไว้กินกับน้ำแข็ง, หรือจะบดละเอียดแล้วใส่ในช่องแช่แข็งก็จะได้ไอติมสับปะรดเชอร์เบทที่ทำให้สดชื่นในช่วงฤดูร้อน ส่วนเปลือกสับปะรดนั้นสามารถนำไปทำเป็นน้ำส้มสายชูซึ่งมีกลิ่นหอมหวานเฉพาะตัว
สมัยเมื่อยังทำงานสอนและวิจัยทางพิษวิทยาอยู่ เคยมีคนไต้หวันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทผลิตผลไม้แห้งใหญ่ที่สุดในโลก (ตั้งอยู่ในประเทศไทย)ได้มาปรึกษากับผู้เขียน ต้องการลดต้นทุนในการขนส่งเปลือกสับปะรดสำหรับนำไปขายเพื่อเป็นอาหารเสริมเลี้ยงวัว บริษัทได้สกัดสารละลายเข้มข้นจากเปลือกสับปะรดด้วยเหตุที่ว่า เปลือกสับปะรดนั้นมีสารที่ต่อต้านอาการเต้านมวัวอักเสบ (udder disease) (อาจเป็นสารชื่อ โบรมีเลน (Bromelain) จึงต้องการหาผู้รับจ้างทดสอบประสิทธิภาพของสารนั้นในสัตว์ทดลอง ซึ่งถ้าได้ผลดีจะได้สกัดเอาเพียงแค่สารละลายไม่ต้องขนเอาเปลือกสับปะรดลงเรือไปไต้หวันซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก
ความจริงการทดสอบฤทธิ์การต้านอาการอักเสบดังกล่าวนั้น ผู้เขียนพอรู้ว่าทำได้อย่างไร แต่ก็แบ่งรับแบ่งสู้ว่าไม่มีเครื่องมือ ให้บริษัทหาเครื่องมือมาแล้วจะทำให้ โดยเครื่องมือนั้นเป็นตาชั่งพิเศษสำหรับชั่งอุ้งเท้าหนู ที่ถูกตัดออกมาจากหนูที่ถูกฉีดอุ้งเท้าด้วยสารเคมีที่ทำให้เท้าบวมข้างหนึ่ง พร้อมกับเท้าอีกข้างหนึ่งที่ได้รับสารเคมีที่ทำให้เท้าบวมพร้อมกับสารที่ต้องการทดสอบฤทธิ์ต้านการบวม ท่านผู้อ่านคงพอเห็นภาพว่า การทดสอบดังกล่าวนั้นต้องตัดเท้าหนูมาศึกษาซึ่งสยองพอควร ดังนั้นผู้เขียนจึงหาทางบ่ายเบี่ยงในการหาเครื่องมือ สุดท้ายบริษัทดังกล่าวก็จากไป
แต่จากเรื่องนี้ผู้เขียนก็ได้นำความรู้มาบอกแก่อาจารย์ที่มาขอคำปรึกษา ต้องการแก้ปัญหาการอักเสบของเต้านมวัวในฟาร์มที่นครปฐม ซึ่งได้ลองปฏิบัติแล้วพบว่าคำแนะนำให้เสริมเปลือกสับปะรดในอาหารวัวนั้นดูได้ผลดีในการป้องกันอาการดังกล่าวด้วยต้นทุนที่ต่ำลงได้ ดังนั้นการกินสับปะรดเป็นผลไม้ประจำบ้านจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง เพราะสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งนั้นเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องมาจากการเกิดอาการอักเสบ (Inflammation) ซ้ำซากของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง
สำหรับข้อมูลด้านโภชนาการของสับปะรดนั้น กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า เนื้อสับปะรด 100 กรัม มักมีวิตามินซีราว 48 มิลลิกรัม พร้อมธาตุโปแตสเซียมราว 109 มิลลิกรัม และน้ำตาลราว 10 กรัม ซึ่งถือว่าเยอะพอควรที่ทำให้สับปะรดหวานฉ่ำนั้นเหมาะต่อผู้ที่ชอบออกกำลังกายกินแก้เหนื่อย สำหรับสารอาหารอื่นๆ นอกจากใยอาหารแล้วไม่น่าสนใจเท่าใดนัก แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ สับปะรดนั้นควรกินหลังอาหารเพราะโบรมีเลนซึ่งย่อยเนื้อสัตว์ได้ดีนั้นช่วยลดอาการท้องอืดเฟ้อ โดยมีหลักฐานแต่โบราณว่า คนในแถบอเมริกาใต้จัดให้สับปะรดมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ปัญหาอาหารไม่ย่อย
Resource : HealthToday Magazine, No. 182 June 2016