สิ่งที่ไม่ควรคุยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social media)

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
4528
สื่อออนไลน์

ในปัจจุบันที่การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ (Line), Messenger หรือตัว Facebook เองที่สามารถส่งข้อความให้กันได้บ่อยเท่าไหร่ก็ได้ตราบเท่าที่ยังมีอินเตอร์เน็ตใช้ แถมนอกจากข้อความแล้วยังสามารถส่งรูป ส่งไฟล์ แนบแผนที่ หรือมีสติกเกอร์ให้ใช้มากมาย ทำให้สำหรับหลายคนการสื่อสารลักษณะนี้กลายเป็นวิธีสื่อสารหลักในชีวิตประจำวันแทนการพูดคุยแบบเจอหน้ากันไปแล้ว

แต่สิ่งที่ต้องระวังสำหรับคนที่ใช้การสื่อสารแบบนี้จนชิน คือบางสถานการณ์ที่ไม่ควรใช้ก็ยังใช้ เช่น ทะเลาะกันผ่านไลน์ บอกเลิกกันผ่าน Facebook หรือนักศึกษาปรึกษาอาจารย์เรื่องการทำโปรเจคในประเด็นที่ซับซ้อนมาก ๆ ผ่านการส่งข้อความ เป็นต้น ซึ่งกรณีเหล่านี้หลายครั้งมักสร้างปัญหาตามมาได้อย่างมาก

 

สถานการณ์ที่ไม่ควรใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์

  1. เรื่องสำคัญมาก อย่าคุยผ่านไลน์ (หรือสื่ออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน*)
  2. เรื่องด่วนมาก อย่าส่งทางไลน์
  3. เรื่องอ่อนไหว (Sensitive) มาก เช่น เรื่องที่อาจทำให้โกรธกัน ทะเลาะกัน หรือการเคลียร์กัน อย่าคุยผ่านไลน์
  4. การขอโทษในเรื่องจริงจัง อย่าขอโทษผ่านไลน์
  5. การคุยเรื่องซับซ้อน ที่ต้องอธิบายยาว หรือซักถามไปมามาก ๆ อย่าทำผ่านไลน์
  6. เรื่องที่ต้องการแสดงความจริงใจหรือตั้งใจจริง เช่น ประโยคที่มีคำว่า “…..อย่างจริงใจ” “….จากใจจริง” “….จริง ๆ นะ” พวกนี้อย่าเขียนผ่านไลน์

ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นวิธีที่ดีที่สุดควรเป็นการพูดคุยแบบต่อหน้าเจอตัวเป็น ๆ หากทำไม่ได้จริง ๆ เช่น อยู่คนละประเทศ หรือนัดเจอไม่ได้เลย รองลงมาน่าจะเป็นการคุยแบบเห็นหน้าผ่านระบบสื่อสาร (เช่น Facetime คือทั้งได้ยินเสียงและเห็นหน้า) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็นการโทรคุยกัน แต่ไม่ควรสื่อสารผ่านไลน์โดยเด็ดขาด เนื่องจากการสื่อสารผ่านไลน์มีข้อเสียดังนี้

 

  1. เป็นการสื่อสารผ่านตัวอักษรเท่านั้น (Text-based) ถือว่าเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารผ่านไลน์ นั่นคือเราจะรับรู้ได้แต่ตัวข้อความเท่านั้น สิ่งอื่น ๆ ที่เป็นอวัจนภาษา (Non-verbal) จะไม่เห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง สีหน้า หรือท่าทางของคู่สนทนา ทำให้ไม่สามารถรู้อารมณ์ของอีกฝ่ายได้ ซึ่งการพูดคุยโดยขาดอวัจนภาษาหลายครั้งทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน หรือตีความข้อความผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น เราไลน์ไปบอกแฟนว่า ที่เคยสัญญาว่าวันเกิดปีนี้จะไปฉลองด้วยกัน เกิดไปไม่ได้แล้วเพราะติดงาน แฟนตอบกลับมา “ไม่เป็นไร” ถ้าเป็นการคุยกันต่อหน้า เรามักจะพอคาดเดาได้ว่า “ไม่เป็นไร” ในที่นี้ไม่เป็นไรจริง ๆ รึเปล่า เช่น หากพูดพร้อมสีหน้าโกรธชัดเจน น้ำเสียงตอนพูดว่า ‘ไม่เป็นไร’ ก็พูดด้วยหนัก ๆ เข้ม ๆ แบบนี้เราก็พอจะเดาได้ว่าที่จริง “เป็นไร” และหาทางแก้ไขต่อไป แต่พอเป็นการอ่านข้อความอย่างเดียวทำให้คาดเดาไม่ได้ จึงพบได้บ่อยว่าในเรื่องที่อ่อนไหวยิ่งคุยก็ยิ่งแย่ ยิ่งจะเคลียร์กันกลับทะเลาะกันมากขึ้น ดังนั้นแล้วจึงควรเลิกพิมพ์แล้วไปคุยกันต่อหน้าจะดีที่สุด
  2. ใช้เวลาตอบสนองนาน (Time lag) ถ้าลองสังเกตจะพบว่า เรื่องที่เราสามารถคุยกับเพื่อนแบบต่อหน้ารู้เรื่องใน 10 นาที ถ้าให้ไปคุยในไลน์กว่าจะรู้เรื่องมักจะใช้เวลามากกว่าเป็นเท่าตัว เพราะเวลาพิมพ์ไปกว่าอีกฝ่ายจะอ่านและพิมพ์ตอบจะใช้เวลานานกว่าการพูดเยอะ ทำให้มีการเหลื่อมของเวลา (Time lag) ยิ่งเรื่องที่ซับซ้อน ต้องถกเถียง หรือถามมาตอบไป ก็ยิ่งใช้เวลานานมาก หลายครั้งพิมพ์กันนานยังไม่รู้เรื่องสักที แถมหากอีกฝ่ายเกิดไม่ว่างหรือต้องไปทำอะไรก่อนก็กลายเป็นคุยขาดตอน ทำให้เสียความต่อเนื่องและความเข้าใจ อีกทั้งในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพิมพ์ได้เร็วกว่ามักจะเกิดปรากฏการณ์ที่คนหนึ่งถามมา 2-3 คำถามแล้ว อีกคนยังตอบคำถามแรกไม่เสร็จด้วยซ้ำ ยิ่งคุยก็ยิ่งงงว่าที่ตอบมานี่ตอบคำถามไหนกันแน่
  3. คนจำนวนมากไม่ได้อ่านทันทีตลอดเวลา หลายคนมักถือว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นเหมือนงานอดิเรก คือเปิดอ่านเฉพาะยามว่าง หรือบางคนมีข้อความเข้ามาเยอะมาก เพื่อนผมบางคนมีข้อความเข้ามากกว่าหนึ่งร้อยข้อความต่อวัน แน่นอนว่าแบบนี้คงไม่มีใครเปิดอ่านทันทีตลอดเวลา ดังนั้นหากเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือเรื่องสำคัญจึงไม่ควรส่งผ่านสื่อออนไลน์เพราะอีกฝ่ายอาจตอบไม่ทันเวลา
  4. อาจดูเสียมารยาทหรือไม่จริงใจ อย่างในกรณีที่เราทำผิดอย่างชัดเจนและต้องการขอโทษ เช่น นักเรียนลืมนัดกับอาจารย์แล้วปล่อยอาจารย์มารอเก้อ กรณีแบบนี้ควรไปขอโทษต่อหน้า ไม่ควรส่งไลน์มา 1 บรรทัดว่า “ขอโทษนะครับ” แล้วจบ เพราะจะดูไม่จริงใจและเสียมารยาทอย่างมาก เช่นเดียวกัน เรื่องที่เราอยากแสดงความจริงใจให้อีกฝ่ายเห็น เช่น ต้องการสื่อให้หัวหน้ารู้ว่า ผมอยากทำงานนี้จริง ๆ นะ หรือบอกแฟนว่าให้เชื่อใจผมเถอะ ความจริงใจเหล่านี้ไม่ควรถูกส่งผ่านไลน์ เพราะแค่ส่งในไลน์ก็แทบจะเหมือนกับว่ามันเป็นเรื่องเล่น ๆ ตั้งแต่แรกแล้ว

ถึงแม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก และเป็นหนึ่งในวิธีสื่อสารหลักในชีวิตประจำวันของสมัยนี้ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการสื่อสารด้วยข้อความเหล่านี้คงไม่สามารถทดแทนการสื่อสารแบบดั้งเดิมได้ทั้งหมด ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน สำคัญ หรืออ่อนไหว การสื่อสารแบบเจอหน้าพูดคุยกันยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์

 

Resource: HealthToday Magazine, No.215 March 2019