สเตียรอยด์ ดาบสองคม

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
7044
สเตียรอยด์

“คุณหมอคะ คุณแม่จะไปฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในหัวเข่าจะดีไหมคะ” 

“คุณหมอครับ เป็นนิ้วล็อคไปฉีดสเตียรอยด์บ่อย ๆ ได้ไหมครับ”  

“คุณหมอครับ ฉีดสเตียรอยด์แล้วจะทำให้เอ็นเปื่อยหรือขาดได้ไหมครับ”  

เหล่านี้เป็นคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับสเตียรอยด์ที่คงมีหลายคนสงสัย

จริง ๆ แล้วสเตียรอยด์ก็คือฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งในร่างกาย สังเคราะห์มาจากคอเลสเตอรอล และผลิตออกมาโดยต่อมหมวกไต เรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงาน การสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ ระดับความดันโลหิต ระดับอินซูลินในเลือด ภูมิคุ้มกันร่างกาย ระบบการอักเสบ การแลกเปลี่ยนเกลือแร่ระดับเซลล์ เรียกได้ว่าควบคุมแทบจะทุกอวัยวะของร่างกาย

จนกระทั่งปี ค.ศ.1931 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเคมีชาวเยอรมันสามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนสเตียรอยด์ออกมาได้เป็นผลสำเร็จ (ในสารคดีเคยบอกว่าฮิตเลอร์ต้องการตัวนักเคมีคนนี้เพื่อให้สังเคราะห์สเตียรอยด์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับนำไปฉีดให้กับทหาร ให้กลายเป็น Super Soldier ไว้สู้รบ) จากนั้นนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาได้ทำการพัฒนาจากตัวตั้งต้น คือ คอร์ติซอล ให้มีความเข้มมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่พวกเราได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) เบต้าเมทาโซน (Betamethasone)

เนื่องจากคุณสมบัติที่มีประโยชน์ของสเตียรอยด์ จึงมีคนหัวหมอนำมาผสมเป็นยาลูกกลอนโฆษณาว่าสามารถรักษาได้แทบทุกโรค หรือในนักกีฬาช่วงหนึ่งก็มีการนำมาใช้เพื่อเร่งการสร้างกล้ามเนื้อ (จนโดนตัดสิทธิ์การแข่งขันเพราะถือว่าเป็นยาโด๊ป) บางรายใช้มากเกินขนาดจนเกิดเป็นผลเสียตามมาไม่ว่าจะเป็นไตวาย ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนคุมไม่ได้ เส้นเลือดตีบตัน จนถึงขั้นเสียชีวิตก็เคยมีข่าวกันมาแล้ว แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่มีการศึกษามาอย่างถูกต้องและอยู่ในการควบคุมของแพทย์ก็จะกลายเป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมากเช่นกัน

สเตียรอยด์กับกระดูกและข้อ

ประโยชน์ของสเตียรอยด์ที่ใช้ในเรื่องของกระดูกก็คือ สามารถลดภาวะการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อในส่วนของข้อและเอ็นกล้ามเนื้อได้ ที่พบบ่อย ๆ ก็เช่น นิ้วล็อค เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดกดทับเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณ
ข้อมือ พังผืดอักเสบบริเวณข้อมือ เหล่านี้เกิดจากการที่เอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณนั้นถูกใช้งานซ้ำ ๆ จนเกิดการอักเสบขึ้น

แต่ก็ใช่ว่าจะต้องใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดรักษาทุกรายนะครับ ส่วนมากหมอจะให้ใช้วิธีกินยาลดอาการปวดและอักเสบจำพวก NSAIDs แช่น้ำอุ่น และลดการใช้งานบริเวณอวัยวะนั้น ๆ ซึ่งพบว่ากว่า 70-80% อาการจะดีขึ้น แต่ในรายที่ยังไม่หายก็จำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณนั้น ตัวยาที่มักใช้กันจะเป็นสเตียรอยด์ปริมาณต่ำ โดยจะฉีดเข้าไปบริเวณปลอกหุ้มเอ็น ยาจะออกฤทธิ์ลดการอักเสบบวมที่บริเวณนั้น ไม่ได้เข้าสู่ระบบกระแสเลือดในร่างกาย

อย่างไรก็ตามการฉีดสเตียรอยด์ก็ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกครั้งไป โดยมากจะฉีดในตำแหน่งเดิมไม่เกิน 3 ครั้ง เพราะถ้ายังไม่หายอาจเป็นเพราะพยาธิสภาพของโรคที่เป็นนั้นอาจเป็นมากถึงขั้นที่ควรรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด เพราะการฉีดสเตียรอยด์มีโอกาสที่จะทำให้เอ็นบริเวณที่ได้รับการฉีดเกิดการอ่อนยุ่ยกว่าเดิมได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกราย จึงควรให้แพทย์ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

สเตียรอยด์กับข้อเข่าเสื่อม

นอกจากบริเวณข้อมือข้อศอกแล้ว ยาสเตียรอยด์ยังมีบทบาทลดการอักเสบบริเวณข้อเข่าในรายที่เป็นข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วยนะครับ บางคนอาจจะกำลังสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร

อย่างที่เคยกล่าวไว้ในฉบับก่อน ๆ ว่าผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือเรียกง่าย ๆ คือมีผิวที่เข้าขรุขระ เวลาใช้งานเรื่อยๆ ไม่ว่าจะขึ้นลงบันได นั่งคุกเข่าปลูกต้นไม้ จะทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณเนื้อเยื่อรอบหัวเข่าจนเกิดการอักเสบ สังเกตง่าย ๆ คือ มีอาการปวด บวม แดงร้อนขึ้นมารอบ ๆ เข่านั่นเอง ช่วงนี้แหละที่ยาสเตียรอยด์จะเข้าไปมีบทบาทช่วยลดการอักเสบ โดยแพทย์จะฉีดเข้าไปบริเวณข้อเข่าเพื่อลดอาการปวดจากการอักเสบ แต่ก็อย่างที่บอกคือควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะยาที่ฉีดสามารถลดการอักเสบจากการเสียดสีได้ชั่วคราวประมาณ 3-4 เดือน ในระหว่างนั้นแนะนำให้ผู้ป่วยปรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งยอง ๆ การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หรือการยกของหนัก จะช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อมได้อีกวิธีหนึ่งครับ

อย่างที่หนังสือกำลังภายในของจีนบอกไว้ว่า “กระบี่เล่มเดียวกันสามารถจะทำร้ายผู้คน หรือช่วยผู้คนได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่ถือหรือบังคับมัน” เฉกเช่นเดียวกับยาสเตียรอยด์ ถ้าเราใช้มันอย่างผิด ๆ ก็จะมีโทษ แต่ถ้าใช้อย่างถูกวิธีก็จะเป็นประโยชน์กับเราอย่างมาก ฉบับนี้ขอจบเรื่อง สเตียรอยด์ไว้เท่านี้ก่อน ถ้ามีอะไรใหม่ ๆ จะมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018