ข้อเขียนต่อไปนี้สรุปความจากบทความ Why Bad Marriages Are Worse for Kids Than Divorce เขียนโดย Sean Grover เผยแพร่บน Psychology Today วันที่ 31 มีนาคม 2017 โดยคงคำสำคัญเอาไว้ เขียนอธิบายเพิ่มเติมและปิดท้ายด้วยข้อเขียนของผู้เขียนเอง
ผู้เขียนบทความข้างต้นพูดเหมือนที่ทุกคนพูด นั่นคือเราควรรักษาชีวิตสมรสสุดความสามารถ คือเรื่องที่ดีที่สุดโดยไม่มีข้อสงสัย แต่ถ้าชีวิตสมรสมีปัญหาจริง ๆ คำสำคัญคือ dysfunctional relationship แปลว่าความสัมพันธ์ที่ใช้การไม่ได้แล้ว และลูก ๆ ต้องอดทนอยู่กับความสัมพันธ์ที่ใช้การไม่ได้นี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่นนี้ผลเสียมีมากกว่าผลดีแน่นอน เด็กจะกล่าวโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุที่พ่อแม่ทะเลาะกัน แล้วนั่นจะยิ่งเสียหายหนักเข้าไปอีก
เด็ก ๆ จะเผชิญกับเรื่องต่อไปนี้…
- ความตึงเครียดเรื้อรัง (Chronic Tension) เป็นความจริงที่ว่าเด็ก ๆ จะดูดซับอารมณ์ของพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า internalize แปลว่าเอาเข้าไป ตามจิตวิเคราะห์คือการเอาเข้าไปไว้ในจิตใต้สำนึก ผลที่เกิดขึ้นคือเด็กต้องแบกรับน้ำหนักแห่งความตึงเครียดนี้ไปเรื่อย ๆ จนโต ไม่มีวันจางหายโดยง่าย นำไปสู่ปัญหาทางจิตเวชที่สำคัญคือภาวะอิดโรยเรื้อรัง (Chronic fatigue) และอารมณ์เศร้า (Depression)
- ตัวตนที่ไม่มั่นคง (Unstable Sense of Self) การทะเลาะกันของพ่อแม่ทุกเมื่อเชื่อวันทำให้ความมั่นคงในจิตใจของลูกเสียหาย แตกเป็นเสี่ยง ทำให้ได้ตัวตนที่ไม่มั่นคง ตัวตนแยกออกเป็นสอง เช่น เขาจะเติบโตเป็นคนที่โหยหาความรักแต่จะทำลายความรักที่เกิดขึ้น เขาอยากมีเพื่อนแต่จะใช้ชีวิตโดดเดี่ยว เขาอาจจะฉลาดและทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพแต่จะทำลายผลงานของตัวเอง เป็นต้น เขาจะพัฒนาต่อไปไม่ได้และติดชะงักอยู่ที่จุดนี้ตลอดไป
- หวาดกลัวความใกล้ชิด (Fear of Intimacy) เด็ก ๆ จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่โหยหาความรักแต่ไม่กล้าเข้าใกล้ และทุกครั้งที่มีโอกาสใกล้ชิดกับใครจะถอยหนี รวมทั้งทุกครั้งที่เกิดเรื่องขัดแย้งกับคนรักหรือคู่ครองเขาจะกระทำซ้ำสิ่งที่พ่อแม่เคยกระทำ นั่นคือสร้างความสัมพันธ์ที่เสียหาย เท่ากับดึงโลกทั้งใบกลับคืนสู่วัยเด็กอีกครั้งหนึ่ง วัยที่พ่อแม่ทะเลาะกันตลอดเวลา และตัวเองมีข้าวกินมีที่นอนก็พอแล้ว
- ปัญหาทางอารมณ์ (Mood Problems) เด็กจะมีอารมณ์เศร้าเรื้อรัง มองโลกในแง่ร้าย พัฒนาไปสู่บุคลิกภาพผิดปกติ การใช้สารเสพติด และรู้สึกหมดหวังอยู่ตลอดเวลา เด็กจะข้ามวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว จริงจัง ไม่ผ่อนปรน ไม่สามารถสนุกสนาน
ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบคือ การแต่งงานสร้างความเครียดแก่ชีวิตเท่า ๆ กับการหย่าร้าง หลังงานแต่งงานที่เลิศหรูและการแสดงความยินดีของพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนฝูงผ่านพ้นไป คู่สมรสจะตื่นมาพร้อมกับความเป็นจริงชุดใหม่ นั่นคือคนที่เราแต่งงานด้วยจะไม่ใช่คนเดิมที่เราเคยควง เพราะเขาจะเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องปิดบังอะไรอีก การเลือกคู่ครองจึงเป็นความเสี่ยงและบ่อยครั้งที่ใครบางคนจะเลือกผิด
แต่นี่คือประเด็นสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ทักษะชีวิต (Life Skills) กล่าวคือเมื่อเราตัดสินใจเลือกหนึ่ง แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าทางนี้ผิด แต่เราไม่รู้จริง ๆ หรอกว่าอีกทางหนึ่งจะไม่ผิดยิ่งกว่า เราเลือกคู่ครองคนนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าเลือกผิด แต่ที่จริงแล้วเราไม่อาจจะมั่นใจได้เสมอไปว่าหากไม่แต่งงานเลย หรือหากเลือกอีกคนหนึ่ง ชีวิตจะไม่แย่ไปกว่านี้ ทักษะชีวิตที่ดีจึงมิใช่เรื่องเลือกผิดหรือเลือกถูก แต่อยู่ที่การยอมรับสิ่งที่ตนเองเลือกแล้วหาทางแก้ไขอย่างดีที่สุด และเมื่อมั่นใจแล้วว่าแก้ไขไม่ได้ก็ไม่แปลกอะไรที่จะยุติแล้วเลือกเส้นทางใหม่
ปัญหาของชีวิตสมรสที่มีบุตรแล้วคือก่อนที่เราจะเลือกเส้นทางใหม่ เราควรจะไปจนถึงจำเป็นต้องรับผิดรับชอบ (Accountable) ต่อการตัดสินใจที่เราทำไปแล้วคือมีลูกด้วยกัน และรับผิดชอบ (Responsible) ต่อลูกที่เกิดมาเพราะเราสองคนเคยรักกัน
การทนอยู่แล้วทะเลาะกันต่อหน้าลูกทุกวันไม่ใช่เรื่องดี การทนอยู่แล้วมึนตึงใส่กันทุกเมื่อเชื่อวันมิใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับลูกเช่นกัน ข้อสรุป 4 ข้อข้างต้นนั้นเป็นเรื่องจริง คือความตึงเครียดเรื้อรัง ความไม่มั่นคงของตัวตน หวาดกลัวความใกล้ชิด และปัญหาทางอารมณ์ จะเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตของเขา
Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018