อกหักมักป่วนการกิน เทคนิคกินสำหรับคนอกหักแบบไม่แคร์แฟนเก่า

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
2635

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มาถึง ก็ชวนให้นึกถึงเทศกาลวันวาเลนไทน์ทุกครั้งไป หลายคนมีความสุขที่ได้รับของขวัญหรือคำเชิญออกเดท แต่หลายคนก็อาจจะต้องผิดหวังรอเก้อ แล้วก็เดินเข้าสู่ชมรมคนอกหักไปตามระเบียบ หนังสือพิมพ์ BLT Bangkok ได้เผยแพร่ข้อมูลจากสำนักงานอ้างอิงทางประชากรแห่งสหรัฐอเมริกา (Population Reference Bureau) ที่ระบุว่า ในช่วงชีวิตคนเราจนถึงอายุ 50 ปี แต่ละคนจะมีประสบการณ์อกหักเฉลี่ยประมาณ 3 ครั้ง เมื่อเทียบกับประชากรโลก 7.3 พันล้านคน จะมีคนอกหักในโลกถึง 1.2 แสนคนต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยประมาณ 10,805 คนต่อวัน หรือประมาณ 4 ล้านคนต่อปี คุณผู้อ่านไม่ต้องแปลกใจไปนะคะว่าสหรัฐอเมริกามีการเก็บข้อมูลสถิติเหล่านี้ด้วยเหรอ เพราะทันทีที่ผู้เขียนค้นเจอก็รู้สึกแปลกใจเช่นกันค่ะ แต่ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในแง่การศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์ และการวางแผนทางเศรษฐกิจและการค้าค่ะ

ในประเทศไทยเราก็ไม่แพ้กัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผยผลงานวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการใช้เฟสบุ๊ก และพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของคนอกหัก” ซึ่งศึกษาในคนอกหักปี พ.ศ. 2559 จำนวน 404 คน อายุระหว่าง 25 – 55 ปี พบว่า คนอกหักมักจมอยู่กับการใช้เฟสบุ๊กเพื่อการติดต่อสื่อสาร สนทนา สังเกตพฤติกรรมคนรักเก่า แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความรัก หรืออาจใช้ระบายอารมณ์ความรู้สึกตนเองบ่อยและนานขึ้น และมีบางส่วนก็ใช้แสดงด้านดีของตนเองโดยไม่แคร์คนหักอก เช่น ฉันสวยขึ้น ฉันหล่อขึ้น เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ คนอกหักจะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น 5 รูปแบบ คือ ซื้อเสื้อผ้า 49.3% ใช้บริการร้านอาหาร 42.8% ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 41.6% ท่องเที่ยว 39.9% และเข้าฟิตเนส 38.20% จะเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบริโภครวมกันสูงถึง 84.4% ดังนั้นหากคนอกหักเพิ่มความใส่ใจเลือกซื้อสินค้าและบริการด้านการบริโภคที่ดีและเหมาะสมก็จะช่วยเพิ่มด้านบวกให้ตนเอง จนอาจทำให้แฟนเก่าแปลกใจเลยก็ได้ ว่าแล้ววันนี้ผู้เขียนจึงอยากหยิบยกประเด็นเทคนิคการเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านให้สวย หล่อ สุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอกแบบไม่แคร์แฟนเก่ามาฝากค่ะ

เทคนิคการกินสำหรับคนอกหักแบบไม่แคร์แฟนเก่า

โดยธรรมชาติแล้วคนอกหักจะต้องผ่านขั้นตอนทางจิตวิทยา 5 ขั้น โดยเริ่มจากขั้นปฏิเสธ ขั้นโกรธ จากนั้นเริ่มขั้นต่อรอง เช่น ง้อขอคืนดีคนรัก เมื่อคนรักไม่สนก็เข้าสู่ขั้นเศร้าเสียใจ ช่วงนี้แนะนำให้หาใครสักคนที่สามารถพูดคุยได้ แล้วลองระบายความในใจ หรือจะโพสต์ระบายสื่อโซเชียลแบบไม่กระทบบุคคลอื่นก็ช่วยได้ไม่น้อย จนถึงจุดหนึ่งคนอกหักจะเริ่มมีสติ และตระหนักว่าฉันก็อยู่คนเดียวได้ ช่วงเวลานี้แหละที่ควรมองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ส่งผลดีกับตนเองทำ เช่น ออกกำลังกายเข้าฟิตเนส หรือหาร้านอาหารอร่อย ๆ แล้วเลือกเมนูเพื่อสุขภาพตนเอง

Barbara Gordon นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนสหรัฐอเมริกาและแคนนาดา ได้เขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานี้เอง โดยได้แนะนำ 7 เทคนิคการรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งผู้เขียนได้ดัดแปลงเนื้อหาดังนี้

  1. วางแผนการกิน เลือกกินมื้ออื่นเบาๆ

โดยทั่วไปเรามักจะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเราจะออกไปกินนอกบ้านวันไหน มื้อไหน ดังนั้นหากเราจะต้องไปกินมื้อเย็นกับเพื่อน แนะนำให้ลองเลือกเมนูเบา ๆ ในมื้อเช้าและมื้อกลางวัน เช่น มื้อเช้ากินข้าวต้มหรือโจ๊ก กลางวันกินก๋วยเตี๋ยวน้ำหรือราดหน้าหมู เป็นต้น คุณก็จะมีโควตาพลังงานเหลือมารับประทานมื้อเย็นได้อย่างไม่ต้องกังวลมาก ที่สำคัญไม่ควรงดอาหารบางมื้อเพื่อจะเก็บท้องไว้กินมื้อหนัก เพราะความหิวจะทำให้เรากินเยอะยิ่งกว่าเดิมมาก

อีกเทคนิคน่ารักที่อยากแชร์ คือ ลองหาที่จอดรถไกล ๆ แล้วเดินเล่นก่อนเข้าร้านอาหารสัก 10 – 15 นาที และเดินย่อยหลังกินเสร็จอีกสัก 10 – 15 นาที จะเสมือนว่าคุณได้ออกกำลังกาย 20 – 30 นาที และนี่จะช่วยให้อัตราการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเมื่อต้องไปกินนอกบ้าน ให้กินเบา ๆ ในมื้ออื่น และเดินย่อยก่อนและหลังอาหารเพิ่มขึ้น

  1. อย่าปล่อยให้ท้องร้องนานแล้วค่อยไปกิน

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการปล่อยให้หิวจะทำให้คุณกินอาหารมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากหิวควรหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ รองท้องไปก่อน เช่น ซุป ผลไม้ 4 – 5 ชิ้น หรือเลือกของว่างที่มีโปรตีน เช่น ถั่วคั่ว 1 ห่อเล็ก โยเกิร์ตหวานน้อย 1 ถ้วย จะช่วยให้สั่งอาหารมื้อถัดไปอย่างมีสติมากขึ้น

  1. เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยยึดหลักสมดุล

เมื่อต้องสั่งอาหารให้ยึดหลักสมดุล คือ ในมื้ออาหารควรมีผักเป็นหลัก อาจอยู่ในรูปสลัดผัก ผัดผัก แกงจืดผักต่าง ๆ หรือแม้แต่ผักในแกงเผ็ดก็ได้ ผักมีใยอาหารสูงจะช่วยให้อิ่มเร็ว ส่วนเนื้อสัตว์ควรเลือกอาหารทะเล หรือชนิดไม่ติดมัน จะช่วยให้อิ่มนานแถมยังคุมแคลอรีได้ และเลือกเครื่องดื่มที่ไม่มีพลังงาน เช่น น้ำเปล่า น้ำเก๊กฮวยไม่ใส่น้ำตาล ชาเขียวไม่เติมน้ำตาล เป็นต้น

  1. มองหาเมนูที่มีคำว่าปิ้ง ย่าง ต้ม นึ่ง

เพราะโดยทั่วไปเมนูเหล่านี้มักมีการใช้น้ำมันในการปรุงประกอบต่ำ จะช่วยให้พลังงานไม่เกินได้ และหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด โดยเฉพาะชุบเกร็ดขนมปังทอด อาหารประเภทครีม เป็นต้น

  1. อย่าอายที่จะถาม

เมนูบางอย่างเราอาจไม่มั่นใจว่าเพื่อสุขภาพพอหรือยัง ดังนั้นจงอย่าอายที่จะถามวิธีการปรุงประกอบส่วนประกอบหลัก เพราะพนักงานยินดีจะบอกข้อมูลเหล่านี้กับคุณอยู่แล้ว และหากเห็นว่าคุณสามารถทำให้เมนูที่คุณต้องการเฮลธ์ตี้ได้มากกว่านี้ก็อย่าอายที่จะแจ้งพนักงานด้วยนะคะ

  1. ใช้เวลาละเลียดกับการกินให้นานขึ้น

ปกติร่างกายใช้เวลาในการกินจนสมองสั่งให้อิ่มประมาณ 20 นาที ดังนั้นลองใช้เวลาละเลียดไปกับการกินให้นานขึ้น อาจดื่มด่ำกับบรรยากาศของร้าน หรือการพูดคุยกับเพื่อน หรือหนังสือเล่มโปรดไปด้วยขณะกิน ก็ช่วยให้อิ่มก่อนที่จะเผลอกินเยอะไปกว่านี้

  1. หากไม่อิ่ม เพิ่มอาหารสายเฮลธ์ตี้

หลายครั้งที่การกินนอกบ้านทำให้เจริญอาหารมากขึ้น การเพิ่มอาหารสามารถทำได้นะคะ แต่ให้เลือกแบบเฮลธ์ตี้บ้าง เช่น ผลไม้ ขนมหวานที่ทำจากพืชอย่าง กล้วยบวดชี มันอบ แป๊ะก๋วยน้ำเชื่อม ผลไม้ลอยแก้ว เต้าส่วน หรือเต้าฮวยน้ำขิง เป็นต้น เพราะนอกจากพลังงานจะต่ำกว่าเบเกอรีแล้ว ยังอุดมไปด้วยกากใย วิตามิน และเกลือแร่อีกด้วย

การออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพจากร้านอาหารที่บรรยากาศดี จะช่วยให้คนอกหักมุ่งไปในทางที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เมื่อสุขภาพดีขึ้นก็ลองหาโอกาสเพิ่มความมั่นใจภายนอกให้ตนเองดู เช่น ซื้อเสื้อผ้า ตัดผม เพื่อสร้างบุคลิกที่ดีพร้อมลุยงาน และสนุกกับการรักตัวเองและคนรอบข้างให้มาก แล้วความสนุกสดใสในตัวคุณจะเบ่งบานรอวันที่ความรักกลับมาทำให้หัวใจเต้นระรัวอีกครั้ง

 

Resource: HealthToday Magazine, No.214 February 2019