โรคอัลไซเมอร์ เป็นอาการสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางด้านความคิด ความจำ และสติปัญญา รวมถึงทำให้ความสามารถในการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายลดลง ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวนมากกว่า 600,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนประมาณ 3-5% ของประชากรทั้งหมด และจะพบมากขึ้นถึง 30% ในกลุ่ม
ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 85 ปี นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 100,000 รายต่อปี
อัลไซเมอร์ คืออะไร ?
อัลไซเมอร์เป็นภาวะโรคที่เซลล์สมองถูกทำลายไปเรื่อย ๆ โดยจะส่งผลต่อการพูด การคิด และการสื่อสารกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักของภาวะความจำเสื่อม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำและความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์นั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น
อัลไซเมอร์ สังเกตได้อย่างไร ?
สามารถสังเกตได้จากลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้
- ความจำสับสน และการเรียนรู้ช้าลง
- มีความสับสนเรื่องสถานที่ วัน และเวลา รวมทั้งบุคคลใกล้ชิด
- การรับรู้สิ่งรอบข้าง ความสนใจ ความตั้งใจ และสมาธิลดลง
- การตัดสินใจไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในการวางแผนและแก้ไขปัญหา
- มีความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น สวมเสื้อผ้าหรือรับประทานอาหารเองไม่ได้
- ความสามารถทางภาษาและการติดต่อสื่อสารลดลง ทั้งการพูดและการเขียน
- สลับตำแหน่งสิ่งของ และไม่สามารถทำตามขั้นตอนที่บอกได้
- การตัดสินใจเรื่องความปลอดภัยแย่หรือลดลง เช่น พื้นลื่นหรือสิ่งกีดขวาง
- ความสามารถทางสังคมลดลง มักจะปลีกตัวออกจากสังคมหรือจากงานที่ทำ
- มีภาวะอารมณ์หรือบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปและไม่เหมาะสม อาจเกิดการน้อยใจ ร้องไห้ ก้าวร้าว
- มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และพฤติกรรมบกพร่อง
- อาจมีอาการของโรคจิตประสาทหลอน และหลงผิดได้
อัลไซเมอร์ วินิจฉัยได้อย่างไร ?
โรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การวินิจฉัยโรคจึงมักจะวิเคราะห์จากผลการสแกนสมอง เช่น CT-scan หรือ MRI เป็นต้น โดยภาพถ่ายสมองเหล่านี้จะแสดงความผิดปกติของเนื้อสมอง หรือ เซลล์สมอง ซึ่งสามารถบ่งชี้ความเสื่อมของสมองซึ่งสัมพันธ์กับอัลไซเมอร์ได้ นอกจากนี้การตรวจประเมินอื่น ๆ ก็สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยได้ เช่น ตรวจภาวะทางอารมณ์ ตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมอง-ไขสันหลัง และตรวจทางยีน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของโรคนี้คือ การสังเกตอาการและอาการแสดงที่ผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เฉพาะทางโดยเร็วที่สุด
อัลไซเมอร์ สามารถป้องกันได้ไหม ?
เนื่องจากสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้การวางแผนในการป้องกันการเกิดโรคเป็นไปได้ยาก แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่อยู่นิ่ง
กับที่ จะพบภาวะสมองเสื่อมหรือความจำถดถอยได้น้อยกว่าคนในช่วงอายุเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ที่มีระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่ในระดับแข็งแรงอาจจะสามารถป้องกันภาวะสมองฝ่อได้ ดังนั้นการออกกำลังกายและพยายามกระตุ้นให้ร่างการเกิดการเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันการเกิดโรคนี้
นักกายภาพบำบัดสามารถช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ได้อย่างไร ?
เนื่องจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะพบข้อบกพร่องในหลายด้าน เช่น การเคลื่อนไหว การสื่อสาร ความจำ และภาวะทางอารมณ์ เป็นต้น ดังนั้นการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่บกพร่องได้ดีขึ้น หรือชะลอให้ถดถอยช้าลง นอกจากนี้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะมีความเสี่ยงในการล้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปัญหาในการเคลื่อนไหวเพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาในการเดินและการทรงตัว และมีปัญหาในการรับรู้ ดังนั้นการรักษาฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดจึงเน้นไปที่ การฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและการทรงตัว เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แนะนำญาติหรือผู้ดูแลในการช่วยเหลือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และอาจจะดูแลเรื่องภาวะปวดตามร่างกายเพิ่มในรายที่มีอาการ
โดยสรุป…นักกายภาพบำบัดจะให้การรักษาเพื่อช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เท่าที่ความสามารถของผู้ป่วยจะทำได้ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนท่าการออกกำลังกายให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลนำไปออกกำลังกายที่บ้านอีกด้วย โดยการรักษาทางกายภาพบำบัด
จะประกอบไปด้วย การฝึกการทรงตัว การออกกำลังกาย การรักษาด้วยมือ และการช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวอย่างละเอียดมากขึ้นในฉบับถัดไป
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018