อาการคลื่นไส้อาเจียนไม่ถือว่าเป็นโรค แต่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความถี่ของอาการและระยะเวลาที่มีอาการเป็นหลัก แล้วเราเราจะมีวิธีการรับมืออย่างไรเมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
หากอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ แค่ไม่กี่วัน หรือเป็นทุกวันแต่วันละครั้ง ช่วงเวลาอื่น ๆ ก็ไม่มีอาการแสดงใด ๆ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลนัก แต่หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนบ่อยมาก คือเป็นวันละหลายครั้ง กรณีนี้อาจเสี่ยงต่อการขาดสารน้ำ พลังงาน และขาดสารอาหารได้ ยิ่งหากเป็นเด็ก หรืออยู่ในช่วงการรักษาโรค หรือฟื้นฟูร่างกายอย่างกรณีผู้ป่วยมะเร็งด้วยแล้ว อาการคลื่นไส้อาเจียนนี้อาจเป็นอันตราย และส่งผลกระทบต่อแผนการรักษาของแพทย์ได้เลยทีเดียว
รับมืออาการคลื่นไส้อาเจียน
อันดับแรกคงต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อยากคลื่นไส้หรืออาเจียนเพิ่มขึ้น เช่น อาหารที่มีกลิ่นแรง สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดโปร่ง ดูอึดอัด หรือแม้แต่การแต่งกายที่รัดจนเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้คุณรู้สึกแน่น และคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายขึ้น
ในขณะที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ร่างกายจะมีการสูญเสียน้ำและธาตุอาหารออกไป ร่วมกับอาการที่เป็นซ้ำเติมให้เราไม่อยากรับประทานอาหารเข้าไปอีก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ หากเป็นระยะยาวอาจต้องระวังเรื่องภาวะทุพโภชนาการด้วย Academy of Nutrition and Dietetics แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้แนะนำเทคนิคเพื่อป้องกันการขาดน้ำในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยให้รับประทานน้ำแข็ง 1 ช้อนชาทุก ๆ 10 นาที หรือ 1 ช้อนโต๊ะทุก ๆ 20 นาทีหลังจากที่หยุดอาเจียน หรืออาจเลือกดื่มเป็นของเหลวใส เช่น น้ำผลไม้ น้ำหวาน หรือวุ้นเยลลี่ก็ได้ และหลังอาการอาเจียนหยุดไปได้ราว ๆ 8 ชั่วโมง จึงค่อยเริ่มรับประทานอาหารปกติ แต่ยังคงอาศัยเทคนิคการปฏิบัติที่ป้องกันการกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนอยู่ ดังนี้
- มองหาอาหารที่เคี้ยวและย่อยง่าย ไม่มัน ไม่เลี่ยน รสไม่จัดทั้งหวานจัด เผ็ดจัด มันจัด หรือมีกลิ่นแรง เพราะจะยิ่งชวนให้อาเจียนมากขึ้น
- หากอาเจียนมากอาจเลือกอาหารที่มีรสเค็มและเปรี้ยวจะช่วยให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น และชดเชยเกลือโซเดียมที่สูญเสียไปขณะอาเจียนได้
- หากอาการคลื่นไส้เป็นมากทำให้ไม่อยากอาหาร อาหารที่สามารถรับประทานแบบเย็นได้นับเป็นอีกตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม เช่น ข้าวแช่ บะหมี่เย็น แซนวิชแช่เย็น นมแช่เย็น โยเกิร์ต หรือผลไม้เย็น ๆ
- รับประทานทีละน้อย แต่บ่อย ๆ หรือเลือกรับประทานอาหารว่าง 5 – 6 มื้อต่อวันแทนอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ เพราะหากคุณรับประทานจนอิ่มแน่นเกินไปอาจทำให้อาเจียนออกมาภายหลังได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานแบบข้าวคำน้ำคำ หรือดื่มน้ำหลังอาหารทันที แต่ให้ดื่มก่อนหรือหลังอาหารอย่างน้อย 30 นาทีแทน
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารเส้นใยสูง และอาหารที่อาจทำให้เกิดแก๊สเยอะ เช่น ถั่วต่าง ๆ ขนุน ทุเรียน เป็นต้น
- จิบน้ำเรื่อย ๆ ตลอดวัน เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ โดยสามารถเลือกดื่มเป็นน้ำผสมโซดา น้ำเปล่า หรือน้ำหวานก็ได้ เครื่องดื่มเย็นจะช่วยให้ทั้งอาการคลื่นไส้และอาเจียนทุเลาลงได้ดีกว่าเครื่องดื่มร้อน คุณอาจลองทำน้ำแข็งจากน้ำผลไม้ หรือน้ำหวานสำหรับอมเล่นระหว่างวันก็จะช่วยให้ได้รับพลังงานได้เป็นอย่างดี
- หลังรับประทานอาหารเสร็จควรพักสักครู่ แต่ไม่ควรนอนราบเพราะจะทำให้คลื่นไส้มากขึ้นได้
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดจนเกินไป
- จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการรับประทาน เช่น วางอาหารบนโต๊ะหน้าทีวีหรือในตำแหน่งที่สามารถหยิบจับได้สะดวก จัดห้องให้ปลอดโปร่งผ่อนคลาย
- ระหว่างรับประทานอาจเปิดรายการทีวีหรือเพลงที่ชื่นชอบ จะช่วยให้อาการคลื่นไส้และอาเจียนลดลงได้
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงเช้า อาจหาแครกเกอร์หรือขนมปังปิ้งรับประทานสักแผ่นก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
- ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจทำให้คุณมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนมากขึ้นได้
นี่คือข้อแนะนำเบื้องต้น หากคุณลองวิธีเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล หรือมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ถึงอาการขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อย ริมฝีปากแห้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย สับสน กระสับกระส่าย ตาลึกโหล มีไข้ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ หรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย หรืออาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมเป็นการด่วน
Resource: HealthToday Magazine, No.193 May 2017