เป็นตะคริว แก้ได้ไหม?

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2380

ตะคริว (muscle cramp หรือ spasm) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อในร่างกายหดเกร็งอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้บริเวณของกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ เกิดความเจ็บปวด โดยส่วนมากตะคริวเป็นภาวะที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ไม่ส่งผลถึงชีวิตหรืออวัยวะ แต่ก็สร้างความทรมานให้กับผู้ที่มีอาการได้ไม่น้อย

ทำไมถึงเป็นตะคริว?

ตะคริวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักจะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และสามารถหายได้เอง แต่ตะคริวก็อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ได้เช่นกัน

  • กล้ามเนื้อขาดเลือด จากการที่เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงบริเวณนั้นตีบหรือตัน ทำให้เกิดอาการปวดตามมา เริ่มแรกอาจเป็นมากเวลาที่ออกกำลังกายหรือใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นมาก ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนและพลังงานสูงขึ้น และผลิตของเสียมากขึ้น แต่เลือดไม่สามารถเข้ามาเลี้ยงและระบายของเสียได้ทัน ในกรณีนี้หากหยุดพัก อาการตะคริวจะดีขึ้นได้เอง
  • ขาดเกลือแร่บางชนิด เช่น โซเดียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ร่างกายจะสูญเสียแร่ธาตุเหล่านี้ออกมามากทางเหงื่อ เวลาที่ออกกำลังกาย เสียเหงื่อมาก ๆ ร่างกายขาดแร่ธาตุ จึงเกิดตะคริวขึ้นได้
  • ขาดน้ำ เนื่องจากน้ำมีบทบาทสำคัญทั้งในการเผาผลาญสร้างพลังงานในกล้ามเนื้อและการไหลเวียนโลหิต การขาดน้ำจึงทำให้มีโอกาสเกิดตะคริวได้มากขึ้น
  • ภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณเอว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคล้ายปวดตะคริว หรืออาจมีอาการเจ็บร้าวคล้ายโดนไฟฟ้าช็อตร่วมด้วยเวลาที่เดินนาน ๆ หรือมีการแอ่นหลัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้พัก หรือเดินในท่าก้มหลังจะทำให้อาการดีขึ้น เดินได้นานขึ้น

ป้องกันได้ไหม?

วิธีแก้ไขในกรณีที่เป็นตะคริวก็คือ พักการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นชั่วคราว และยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งออก แต่ถ้ายังไม่มีอาการ สามารถป้องกันได้โดย…

  • warm up และ cool down ก่อนและหลังออกกำลังกายอย่างเหมาะสม วิธีนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้น ๆ และป้องกันการเกิดตะคริว ทั้งยังช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ด้วย
  • รักษาความชุ่มชื้นของร่างกายอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกายในที่ที่อากาศร้อนและมีการเสียเหงื่อปริมาณมาก โดยควรดื่มน้ำครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
  • รับประทานเกลือแร่ต่าง ๆ อย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับการดื่มน้ำ การที่ร่างกายเสียเหงื่อจะทำให้เกิดการสูญเสียเกลือแร่หลายชนิดออกไปกับเหงื่อด้วย จึงควรจะได้รับเกลือแร่ทดแทนอย่างเหมาะสม

โดยปกติแล้วตะคริวเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ก่อความเสียหายให้แก่ร่างกายหรือชีวิต แต่ในบางกรณีก็ควรจะได้รับการดูแลจากแพทย์ เพื่อทำการสืบหาสาเหตุของตะคริว ได้แก่ เป็นตะคริวบ่อยมากแม้จะพยายามป้องกันแล้ว หรือเป็นตะคริวทั้งที่ไม่มีการออกแรงหรือใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่ามีความผิดปกติกับเส้นเลือดหรือเส้นประสาท จึงควรได้รับการสืบค้นเพื่อหาข้อวินิจฉัยต่อไป

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017