ปัญหาการกินเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วงอายุ 1-3 ปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการอมข้าว เคี้ยวข้าวช้า เบื่ออาหาร กินน้อย กินยาก ไม่กินผักหรือผลไม้ หรือเลือกกินอาหารเฉพาะบางอย่าง ผู้ปกครองจึงมักมีความกังวลว่าบุตรหลานจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม
สาเหตุที่พบปัญหาการกินในเด็กช่วงปฐมวัยได้บ่อย เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อที่ดีขึ้นมาก ประกอบกับมีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงอยากทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น และทำให้มีความสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นเด็กจึงมักจะห่วงการเล่นมากกว่าการกิน ผู้ปกครองควรมีความเข้าใจด้วยว่า ในเด็กช่วงวัยนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง และมีความแตกต่างของพื้นฐานอารมณ์ เด็กแต่ละคนก็จะมีรูปแบบการกินอาหารที่แตกต่างกันออกไป
แนวทางการเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมนิสัยและพฤติกรรมการกินที่ดี
- เด็กควรได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่จะมีความหลากหลายของรสชาติตามชนิดของอาหารที่แม่กิน เด็กที่กินนมแม่จึงคุ้นเคยกับรสชาติของอาหารที่หลากหลาย และเมื่อเริ่มอาหารตามวัยก็จะสามารถรับอาหารได้
ง่ายขึ้น - ควรเริ่มให้เด็กกินอาหารตามวัยในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ อายุประมาณ 4-6 เดือน เพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ
เกี่ยวกับการเคี้ยวและกลืนอาหาร และนำไปสู่การกินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้ - เด็กที่เริ่มกินผักผลไม้ตั้งแต่อายุ 6-9 เดือน จะมีนิสัยการกินผักผลไม้ได้ดีกว่าเด็กที่เริ่มกินช้า
- ในเด็กที่ปฏิเสธการกินอาหารบางชนิด ผู้ปกครองควรจัดอาหารชนิดนั้น ๆ ให้เด็กอีกอย่างน้อย 10 ครั้ง เพื่อฝึกให้เด็กได้เกิดความคุ้นเคยและสามารถยอมรับอาหารนั้นได้ดีขึ้น
คำแนะนำ สำหรับผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาเด็กกินยาก
- จัดเตรียมมื้ออาหารให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ เช้า – กลางวัน – เย็น
- ไม่กินอาหารหรือขนมอื่นใดในช่วงใกล้มื้ออาหารหลัก
- บรรยากาศของการกินที่ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป
- ควรกินอาหารที่โต๊ะอาหาร พร้อมกับสมาชิกในครอบครัว
- ลดสิ่งเร้า หรือดึงดูดใจระหว่างมื้ออาหาร เช่น การนั่งกินหน้าโทรทัศน์ ดูโทรศัพท์มือถือ กินไปเล่นไป
- กำหนดปริมาณอาหารสำหรับเด็กให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป หากกินหมดแล้ว อาจให้ตักเพิ่มได้ตามสมควร
- ใช้เวลาในการรับประทานอาหารนานมื้อละไม่เกิน 30 นาที
- ควรให้คำชมเชย เมื่อลูกมีระเบียบวินัยในการกินที่ดี หรือกินอาหารได้ดีขึ้น
อาหารที่แนะนำ สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
- ควรทำอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผักใบเขียว ผลไม้ และไขมัน
- ทำอาหารให้มีพลังงานสูง ด้วยวิธีการทอด ผัด หรือใช้น้ำมันพืชเติมในอาหาร
- ชิ้นอาหารควรมีขนาดพอดีในแต่ละคำ และมีการจัดจานอาหารให้สวยงามน่ากิน
- ปรับเปลี่ยนชนิดและเมนูอาหารให้หลากหลาย เช่น อาหารจานเดียว อาหารประเภทเส้น ขนมปัง
- เลือกกินอาหารว่างที่มีคุณภาพ วันละ 1-2 ครั้ง ได้แก่ ซาลาเปา ขนมจีบ แซนวิชทูน่า
- แนะนำนมที่มีพลังงานสูง วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มพลังงาน ทำให้มีภาวะโภชนาการดีขึ้น
- แม้จะได้รับอาหารตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว เด็กยังคงมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ มีภาวะทุพโภชนาการ และ/หรือมีปัญหารับประทานอาหารยาก อาจพิจารณา อาหารทางการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเสริมโภชนาการ