เล่นสร้างโลก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1489

ข้อเขียนต่อไปนี้เก็บความ แปลบางส่วน และเขียนเพิ่มเติมจากบทความ Why Kids Need Real Play “ทำไมเด็กๆ จำเป็นต้องเล่นจริงๆ” เขียนโดยคุณแม่ท่านหนึ่ง SARA@HAPPINESS IS HERE บนเว็บ happinessishereblog.com เผยแพร่เมื่อ 8เมษายน 2016

ข้อเขียนนี้ขึ้นต้นด้วยเรื่องเล่าลูกสาวของเธอเล่นโคลน พร้อมภาพประกอบมือ เท้า และใบหน้าของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เปรอะเปื้อนโคลนเลอะเทอะ   เธอเขียนว่า Dirt is good “ความสกปรกเป็นเรื่องที่ดี”

เธอรายงานต่อไปว่าเด็กในยุคปัจจุบันเล่นวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เทียบกับคนรุ่นก่อนที่เล่นวันละ 3 ชั่วโมง ระยะเวลาที่เด็กได้เล่นจริงๆ ลดลงไปถึงหนึ่งในสาม ส่วนใหญ่หันไปเล่นในโซเชียลมีเดีย

คำสำคัญของบทความนี้คือ free play, real play, unstructured play แปลตามตัวว่า การเล่นอย่างเสรี การเล่นจริงๆ และการเล่นที่ไร้โครงสร้าง  แปลว่าอะไรช่างเถอะ  ลองนึกภาพเด็กเล่นในสนามจริงๆ  อย่างอิสระ อย่างเสรี  คิดเอาเอง เล่นกันเอง สร้างสรรค์เอง หากเป็นกลุ่มเด็กเล่นกันก็คุยกันเอง วางกติกากันเอง และโต้เถียงกันเอง

ภาพการเล่นจริง ๆ ของเด็กไม่เหมือนภาพเด็กมองจอแล้วเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นการเล่นคนเดียวหรือออนไลน์ ภาพเด็กทุ่มเถียงกัน ตะโกนใส่กัน ไปจนถึงตีกัน ไม่เหมือนภาพเด็กก้มหน้าคุยกับเพื่อนในโซเชียล …แล้วจะได้อะไร?

ต่อไปนี้คือคำตอบที่คุณแม่ซาราท่านนี้กรุณาเขียนเป็นรายการมาให้เรียบร้อย

  • พัฒนาความมั่นใจและความเป็นอิสระ
  • พัฒนากล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อน และพัฒนาการประสานระหว่างสายตาและมือ
  • พัฒนาทักษะการวางแผนและการแก้ปัญหา
  • เพิ่มสมาธิ ความสามารถในการใจจดใจจ่อกับงานตรงหน้า
  • ได้ทดลองและพัฒนาวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์
  • ได้เรียนรู้เหตุและผลลัพธ์
  • ได้สร้างสรรค์งานศิลปะเละเทะตามใจตัว แสดงออกถึงตัวตน พัฒนาความละเอียดในการสัมผัส สร้างคำศัพท์ และคิดสร้างสรรค์
  • มีโอกาสเรียนรู้และซาบซึ้งกับธรรมชาติรอบตัว
  • สุขภาพแข็งแรงและฟิตพร้อม
  • และถ้าคุณเคยเห็นเด็กเล่นอย่างอิสระจริงๆ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่เห็น “ความสุข”

ทั้งหมดนี้ไม่สามารถเกิดได้ในห้องเรียน

คุณแม่ซาราแนะนำต่อไปว่าหากคุณเห็นความสำคัญของการเล่นจริงๆ  คุณสามารถเตรียมตัวได้  หลักข้อแรกๆ ที่ควรทำคือ

1.กำหนดขอบเขต  เขตที่เล่นได้ เละเท่าไรแม่ก็ไม่ว่า กับเขตที่ห้ามเล่น

2.เตรียมอุปกรณ์การเล่นที่เลอะเทอะเท่าไรก็ล้างออกได้ให้พร้อม และเตรียมอุปกรณ์ชะล้างให้พร้อม

การเตรียมความพร้อม 2 ประการนี้จะช่วยให้คุณแม่ลดภาระไปมาก แน่นอนว่าหลักข้อที่ 3 คือ เล่นเสร็จต้องช่วยกันชะล้างและเก็บของ จากนั้นไปอาบน้ำ

เป็นข้อเขียนที่ดี ผู้เขียนจะเขียนเอาเองก็คงจะได้ แต่อยากแปลให้ฟังมากกว่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนทั้งโลกกังวลเรื่องการเล่นของเด็กสมัยใหม่ …เรายังไม่รู้ว่าจิตใจของพวกเขาจะเป็นอย่างไรหากปล่อยไปแบบนี้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.183 July 2016