แผลในใจ…มีจริง

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
7200
แผลในใจ

เวลาเราได้ยินคนกรีดร้องอย่างเจ็บปวด แล้วพบว่าร่างของเขามีบาดแผลใหญ่เลือดไหลโชก เราคงพอจะเข้าใจความทรมานที่เขามีได้ไม่ยากนัก แต่หากสิ่งที่ใครคนนั้นกำลังทรมานอยู่ เป็นแผลภายในจิตใจที่มองตาเปล่าไม่เห็น เราคงไม่สามารถเข้าใจเสียงกรีดร้อง อารมณ์ที่สุดจะทน และพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวดของเขาได้ ว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น แผลทางกายที่เห็นบนผิวหนังอาจสมานเองได้ภายสองเดือน แต่แผลในใจ…อาจเกิดในเวลาแค่เสี้ยวพริบตา จากคำพูดประโยคเดียว แต่ทิ้งรอยบาดลึกไปตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง หลายท่านอาจจะเห็นด้วยกับ
ประโยคนี้ ในขณะที่หลายท่านอาจรู้สึกว่าผมเขียนเกินจริงไปมาก แต่สิ่งที่เคยรับรู้มามันให้การเรียนรู้กับผมเช่นนั้น

ระยะแรกๆ หลังเกิดเหตุ ความทรมานจากแผลใจมักรุนแรง แต่พอนานไปความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ก็เริ่มเลืองลาง นับว่าเป็นกลไกที่ธรรมชาติยังคงปรานีไม่ให้เราต้องทรมานกับความทรงจำแย่ๆ ข้อเสียคือ…ความทรงจำในเชิงอารมณ์มักไม่ได้จางลงตามความทรงจำต่อเหตุการณ์ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเรื่องราวที่คล้ายกัน ปฏิกิริยาเชิงอารมณ์อาจจะตอบสนองรุนแรงเกินสมควร หรืออาจเกิดความรู้สึกแปลกๆ ในร่างกายที่อธิบายไม่ได้ด้วยสาเหตุจากโรคทางกายใดๆ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์อีกแบบหนึ่งในทางตรงกันข้าม คือจำเรื่องราวที่เจ็บปวดได้หมด แต่ปฏิกิริยาทางอารมณ์กลับถูกแยกและกดจนไม่รู้สึกอะไร พูดง่ายๆ ว่า มันรู้สึกแรงจนต้องทำให้ไม่เหลือความรู้สึกไปเลย จะได้ยังมีชีวิตอยู่ต่อได้ ผมขอยกตัวอย่างเป็นเรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้…

วันก่อนผมได้สนทนากับคนไข้ผู้หญิงที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทรายหนึ่งเรื่องไม่มีความสุข สมมติว่าเธอชื่อน้องลูกหมีแล้วกันนะครับ น้องลูกหมีมาหาผมครั้งแรกด้วยท่าทางลังเล เมื่อผมถามว่าอยากให้หมอช่วยยังไงบ้าง เธอก็บอกว่าไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน ผมยิ้มให้แล้วบอกกับเธอว่านึกอะไรออกก็ค่อยๆ พูดมาก็ได้ ผมเชื่อว่าเธอคงมีอะไรในใจที่กำลังอยากได้ความช่วยเหลือ เพราะคนเราแม้ว่าคนอื่นบอกให้มา แต่ถ้าไม่อยากมาจริงๆ ย่อมเลี่ยงได้ กรณีนี้
มาถึงที่ด้วยตัวเองแสดงว่าต้องมีส่วนหนึ่งในใจสนับสนุนการมาเป็นแน่

น้องลูกหมีบอกว่าสงสัยตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อผมถามอาการต่างๆ ปรากฏว่าเธอไม่ได้มีอาการอะไรที่เข้าเกณฑ์เลย ผมจึงถามเธอว่าเพราะอะไรถึงคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เธอบอกว่า “ก็ไม่รู้สึกว่าทำไมต้องมีชีวิตอยู่ เลยคิดว่าควรจะตายไปดีกว่า”

ผมสังเกตสีหน้าของเธอช่างเรียบเฉยเมื่อพูดประโยคนี้ จึงถามไปด้วยความสงสัยว่าเวลาคิดเรื่องที่ว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไมนั้นเธอรู้สึกยังไงบ้าง น้องลูกหมีบอกว่าเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร คิดว่าพยายามลองใช้ชีวิต พยายามจะมีความสุขแล้ว มันก็ไม่ค่อยจะมีสักเท่าไหร่ จริงๆ ก็อยู่ได้ แต่แค่ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมแล้ว เลยสรุปกับตัวเองว่าจบชีวิตดีกว่า แต่ไม่กล้าฆ่าตัวตาย กลัวเจ็บ บังเอิญบอกเรื่องนี้กับเพื่อนคนหนึ่ง เขาแนะนำว่าควรมาพบจิตแพทย์ ก็เลยมา

ผมถามน้องลูกหมีไปตามตรงว่าเพราะเหตุใดเธอจึงดูไร้อารมณ์เหลือเกินเมื่อพูดว่าตัวเองควรตาย ไม่เศร้า ไม่โกรธ ไม่อาลัยอาวรณ์ เธอนิ่งไปเล็กน้อยแล้วบอกผมว่าเพิ่งสังเกตตัวเองเหมือนกัน และก็เป็นจริงอย่างที่หมอพูด ผมถามเธอว่ามีคนที่เธอชอบมากๆ สักคนหนึ่งไหม เธอพูดชื่อดาราเกาหลีขึ้นมาหนึ่งชื่อ (ซึ่งผมจำไม่ได้) ผมถามเธอกลับว่าถ้าดาราชายคนนั้นบอกว่าไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไมแล้วฆ่าตัวตายจากไป เธอจะเสียใจไหม เธอบอกว่าเสียใจ ผมจึงค่อยอธิบายว่า “อืม…เสียใจเนอะ แล้วทีนี้ถ้าเวลาที่ตัวคุณเองอยากจะตาย คุณจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับตัวเองบ้างเลยสักนิดหรือ ตัวของคุณเองแท้ๆ เลยนะ”

ลูกหมีมีสีหน้าดูงงๆ เธอมองกลับมาที่ผมแล้วถามในสิ่งที่ชวนให้ฉงนกว่าเดิมว่า “แล้วหนูควรจะรู้สึกยังไง?” ผมเลยพอจะเข้าใจได้ว่าเรื่องการไร้คุณค่าไม่ควรมีชีวิตอยู่ของเธอนี้ไม่ใช่แค่ความเศร้ามากจนอยากตายธรรมดา น่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างที่ทำให้เธอไม่สามารถมีความรู้สึกกับเรื่องนี้ได้ ในกรณีนี้ผมจึงสงสัยถึงภาวะที่เกริ่นนำให้ฟังไปในช่วงต้นของเรื่องนี้ว่า เธอคงเคยประสบอุบัติเหตุทางใจ (psychological trauma) ทำให้เกิดบาดแผลเรื้อรังทางจิตใจในประเด็นดังกล่าว

น้องลูกหมีเล่าว่าเธอไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรมาตั้งแต่เด็กแล้ว ช่วงเด็กๆ ก็เข้าใจเหมือนเด็กไทยทั่วไปว่าการเรียนคือเรื่องสำคัญที่สุด ก็เรียนหนังสือไปเรื่อยๆ ผลการเรียนจัดว่าดี แต่ไม่ได้ชอบวิชาใดเป็นพิเศษ และไม่รู้สึกถึงความใฝ่ฝันใดๆ ในชีวิต จึงไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไร แม่ก็สั่งให้เรียนสาขาที่เธอเรียนในปัจจุบัน เพราะคิดว่าคงจะรายได้สูง เมื่อจบ ป.ตรี แม่ก็บอกว่าต้องเป็นดอกเตอร์ให้ได้ ที่บ้านจะส่งเสียเอง เธอก็ “เรียนตามสั่ง” มาเรื่อย ๆ แม่อยากให้เรียนก็เรียนไป

“ถ้าอย่างนั้นทำไมตอนนี้ถึงคิดว่าสมควรตายเสียแล้วละครับ ไม่เรียนต่อให้จบดอกเตอร์อย่างที่คุณแม่หวังไว้” ผมถามเหมือนคนทั่วไปหลายคนที่เวลาเจอคนไม่อยากมีชีวิตอยู่จะพยายามพูดประมาณว่าให้นึกถึงพ่อแม่เข้าไว้ ซึ่งมันจะไม่ค่อยช่วย แถมทำให้รู้สึกแย่ลงด้วยถ้าเหตุของความอยากตายนั้นเกิดจากพ่อแม่เสียเอง

น้องลูกหมีทำสีหน้าบางอย่างแปลกๆ เหมือนขมขื่นเวลาถูกถามแบบนี้ แล้วบอกผมว่าตั้งแต่เรียนปริญญาโทมา เธอคิดว่าเธอทำได้แย่ลงมาก เพราะเธอไม่มีความอยากที่มาจากตัวเอง หัวข้อวิทยานิพนธ์ก็ไม่รู้จะทำเรื่องอะไร เพราะไม่ได้อยากรู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งเธอสรุปกับตัวเองว่าเธอคงไม่สามารถทำตามความคาดหวังของแม่ได้ ดังนั้นเธอก็ไม่สมควรมีชีวิตอยู่

“แสดงว่าคุณค่าของคุณคือการทำได้ตามที่คุณแม่คาดหวังจะให้เป็นเท่านั้นเหรอครับ” น้องลูกหมีพยักหน้า และคิดอะไรอย่างอื่นไม่ออกเมื่อผมถามถึงคุณค่าชีวิตของเธอในส่วนที่ไม่ได้ขึ้นกับแม่ น้องลูกหมีคงเป็นเด็กที่ว่าง่ายและทำตามที่แม่สั่งให้ทำเสมอ แน่นอนว่าเธออาจจะเคยคิดอะไรที่ต่างไปจากแม่ของเธอ แต่เพื่อลดความขัดแย้ง ผมเดาว่าที่ผ่านมาเธอคงต้องเลิกฟังความคิดและความต้องการของตัวเองราวกับมันไม่มีอยู่ เพื่อจะได้ตอบสนองแม่ได้เต็มที่

ผมค่อยๆ พูดคุยสร้างความคุ้นเคยกับคนไข้รายนี้มากขึ้น ผมถามน้องลูกหมีว่าแม่เป็นคนอย่างไร เธอเล่าถึงผู้หญิงแกร่งคนหนึ่งที่เลี้ยงลูกสาว 2 คนเพียงลำพัง น้องสาวเกิดห่างจากเธอ 5 ปี จากนั้นบ้านก็เริ่มแตก พ่อเธอมีผู้หญิงอื่น เมื่อกลับมาบ้านก็ทะเลาะกับแม่ให้เห็นอยู่บ่อยๆ เธอจะตกเป็นที่ระบายอารมณ์ของทั้งพ่อและแม่เป็นประจำ น้องลูกหมีบอกว่าการโตมาในครอบครัวแบบนี้ก็ลำบากอยู่ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ค่อยอยากให้พ่อหรือแม่กลับบ้าน อยากเล่นเงียบๆ แค่ได้ยินเสียงเปิดประตูก็เครียดแล้ว

“แล้วกับน้องสาวล่ะ สนิทกันไหม”

“เมื่อก่อนก็…ไม่ค่อยสนิท” ในครั้งต่อๆ มาด้วยบรรยากาศของการบำบัด เธอเล่าว่าจู่ๆ ก็นึกถึงภาพตัวเองตอนเป็นเด็กน้อยอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เรื่องราวมันคลับคล้ายคลับคลาว่ามีใครสักคนบอกเธอว่าเธอมีน้องแล้ว และเธอจะตกกระป๋อง เป็นหมาหัวเน่า เธอจำไม่ได้ว่าใครพูด ภาพต่อมาที่เธอจำได้ก็คือ เธออยู่ในห้องที่โรงพยาบาล แม่อุ้มทารกเพิ่งคลอดที่เป็นน้องของเธออยู่ และเธอในตอนนั้นส่งเสียงกรีดร้องรุนแรง แม่เธอโมโหก็ส่งเสียงตวาดและขว้างหมอนใส่เด็กน้อยที่กำลังกรีดร้องอยู่ตรงนั้น เธอจำอะไรต่อจากนั้นไม่ได้ คงมีใครสักคนมาทำให้เหตุการณ์สงบ แต่เธอจำคำว่าตกกระป๋องและหมาหัวเน่าได้ดีแม้จะจำไม่ได้ว่าใครพูด และจำได้ว่าแม่ตวาดกลับ แม่ขว้างหมอนใส่

ผมถามเธอว่าพอนึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้รู้สึกยังไง น้องลูกหมีบอกว่ารู้สึกปวดหัวกับรู้สึกแปล๊บๆ ที่หน้าอก แต่บรรยายอารมณ์ไม่ถูก ผมจึงเลี่ยงถามเป็นความคิดแทน เธอบอกว่าแม่คงกลัวน้องว่าจะตื่น และแม่อาจจะเหนื่อยเพลียจากการคลอดลูก หรือคงเจ็บแผลหลังคลอด เลยอารมณ์ค่อยไม่คงที่ในวันนั้น

ผมตามดูใจตัวเองว่ากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรจากเรื่องที่เธอเล่า ผมสงสารเด็กน้อยที่ถูกใครก็ไม่รู้ใส่คำแย่ๆ เช่น “ตกกระป๋อง” “หมาหัวเน่า” ใส่ในสมองให้เธอจดจำมาอย่างยาวนานทั้งชีวิต แม่เธอก็ดูจะคุมอารมณ์ไม่ได้ดีนัก เธอควรจะยับยั้งชั่งใจ ไม่ขว้างของใส่ลูกที่กำลังรู้สึกแย่จากการมีน้องแบบนี้ ความคิดของลูกหมีก็ช่างน่าสงสาร ขนาดโดนปฏิบัติอย่างรุนแรง แต่วิธีคิดยังเหมือนจะเข้าข้างแม่ วิธีคิดแบบนี้ที่จริงพบได้บ่อยในรายที่แม้จะเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่จะคิดเข้าข้างผู้กระทำ ประมาณว่า ฉันผิดเอง สมควรแล้วที่จะเป็นเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พ่อหรือแม่เป็นฝ่ายกระทำความรุนแรงกับลูกเสียเอง บางทีคำว่า “กตัญญู” แบบที่สอนกันมาในวัฒนธรรมไทยก็ถูกเอามาอ้างผิดๆ กลายเป็นว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่จะทำอะไรแย่ๆ กับลูกก็ได้ ไม่ถือว่าผิดเสียอย่างนั้น แต่ยังมีเรื่องที่แย่กว่านั้น…

น้องลูกหมีเล่าว่าตอนเด็กๆ เธอกับน้องสาวไปขี่จักรยานด้วยกัน น้องขี่รถคว่ำ หัวแตกเป็นแผลเลือดไหลจนต้องไปเย็บที่โรงพยาบาล เธอเห็นน้องเลือดไหลจากหัวลงมาที่หน้าก็ช็อกมาก ทำอะไรไม่ถูก พอแม่มาเห็นเหตุการณ์ แม่ก็ตีเธอไม่ยั้ง หาว่าไม่รู้จักดูแลน้อง และประโยคที่ทิ่มแทงใจเธอที่สุดก็คือ “มันน่าเกิดขึ้นกับแกเสียมากกว่า เพราะฉันรักแกน้อยกว่า” ในตอนนั้นน้องของเธอต้องนอนดูอาการอยู่โรงพยาบาลหนึ่งคืนเรื่องแผลที่หัว คืนนั้นเธอกลับมานอนคิดอย่างที่แม่พูดวนไปวนมา มันน่าจะเป็นฉันที่หัวแตก ถ้าเกิดขึ้นกับฉันแทนที่จะเกิดขึ้นกับน้อง แม่คงจะมีความสุขกว่านี้ เพราะแม่รักน้องมากกว่า

คืนนั้นน้องลูกหมีนอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าน้องจะตาย เธอเลยคิดขึ้นมาว่าถ้าน้องจะต้องตาย เธอควรต้องเป็นฝ่ายตายมากกว่า ไม่รู้เธอได้ความคิดมาจากหนังการ์ตูนหรือนิทานเรื่องอะไร คืนนั้นเธออธิษฐานขอให้ยมทูตมาเอาชีวิตเธอไปแทนชีวิตน้อง เธอสมควรตายมากกว่า เพราะแม่บอกอย่างนั้น แม้ว่าวันต่อมาน้องก็กลับบ้านได้และดูเหมือนไม่ได้เป็นอะไร แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่าเวลามีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต เธอจะคิดว่าเธอสมควรตายเสมอ และไม่ได้รู้สึกอะไรเลยกับความคิดว่าสมควรตายนับแต่เรื่องนั้น ราวกับมัน “สมควร” จริงๆ ลูกหมีเล่าถึงอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่แม่ทำกับเธอไว้มากมาย อีกเรื่องใหญ่ที่เธอรู้สึกสะเทือนใจอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ เธอเคยถูกแม่ตำหนิรุนแรงเรื่องไปเที่ยวแล้วกลับมาสาย พอแม่อารมณ์กำลังขึ้นถึงจุคพีคก็ถอดรองเท้ามาตบหน้าของเธอ

ผมถามถึงเรื่องที่เป็นความภูมิใจของเธอว่ามีบ้างหรือไม่ ลูกหมีบอกว่าน่าจะมีนะ แต่นึกอะไรในแง่เกี่ยวกับตัวเองไม่ค่อยออก ผมถามว่าตอนเรียนจบปริญญาเป็นอย่างไร แม่โอเคไหม เธอบอกว่าแม่เอาปริญญามาเปิดดูแล้วโยนคืน บอกว่า เออ ไหนๆ จะเรียนแล้ว เรียนให้ได้ปริญญาเอกเลยสิ ฉันส่งแกได้ แต่แกจะมีปัญญาเรียนไหม เมื่อฟังเธอเล่าแล้ว ผมแอบถอนใจ สงสัยว่าทำไมแม่จะต้องสร้างแผลใจให้เธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้หนอ กระทำความรุนแรงจนลูกไม่รู้สึกมีคุณค่าอะไรในชีวิตหลงเหลือ มีหลักการหนึ่งในทางจิตบำบัดครอบครัวบอกว่า พ่อแม่ก็เลี้ยงลูกมาอย่างดีที่สุดเท่าที่ตัวเองรู้แล้ว ที่มันเป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะเขาเลว แต่เพราะเขาไม่รู้จะดีกว่านี้ได้อย่างไร จึงเป็นไปได้ว่าแม่ของลูกหมีเองก็อาจจะถูกเลี้ยงดูมาอย่างโหดร้ายแบบนี้ด้วยเช่นกัน จึงเผลอมาทำต่ออย่างไม่ทัน “ฉุกคิด” ว่า ทำลงไปแล้วจะได้อะไร

ผมคงต้องบำบัดลูกหมีด้วยกระบวนการที่รื้อฟื้นแผลใจมาเยียวยาทีละนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ย่อยสลายพิษบาดแผล และเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ของเธอให้กลับมาเข้าข้างตัวเองและมีความหมายที่กำหนดด้วยตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จัดว่าเป็นคนไข้ที่ยากในระดับหนึ่ง ปัจจุบันในวงการจิตแพทย์มีคนไข้ลักษณะนี้อยู่หลายราย ท่านผู้อ่านเมื่อทราบแล้วผมขอร้องว่า กรุณาช่วยกันปฏิบัติต่อลูกหลานและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเมตตา พูดจากันดีๆ คิดบ้างว่าพูดไปแล้วเด็กจะเก็บไปคิดอย่างไรต่อ อย่าเพิ่มคนไข้ที่มีบาดแผลลึกทางใจ ให้ต้องเป็นงานหนักของจิตแพทย์กันเลยครับ

…..จบ…...

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.178 February 2016