หกล้ม เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
1689
หกล้ม

ปัญหาสุขภาพเล็ก ๆ แต่ส่งผลกระทบมากมายปัญหาหนึ่งก็คือ “การหกล้มในผู้สูงอายุ” ครับ หมอพบผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองดีมาตลอดหลายต่อท่านกลับต้องมาจากไปก่อนวัยอันควรก็ด้วยปัญหาเรื่องหกล้มนี่เอง มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มหกล้มร้อยละ 28-35 ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ
32-42 เมื่อมีอายุเข้าสู่ 70 ปีเป็นต้นไป สรุปได้ว่าความเสี่ยงของการหกล้มนั้นจะยิ่งมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นครับ

นอกจากนั้นเมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหัก พบว่า 1 ใน 5 จะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนก็ต้องใช้
รถเข็นไปตลอดชีวิต ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง และต้องมีคนดูแลตลอดเวลา การมีปัญหาการเคลื่อนไหวนั้นจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมา ส่วนผู้สูงอายุที่เคยหกล้ม แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่จะเกิดอาการวิตก กลัวการหกล้มซ้ำ ทำให้ไม่กล้าใช้ชีวิตตามปกติ หลายครั้งที่ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้อีกเลย จนทำให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุอย่างเต็มเวลา หรือจ้างผู้ดูแลพิเศษ

จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้สูงอายุที่หกล้มสูงถึงแสนกว่าบาทต่อคนต่อครั้งเลยทีเดียวครับ และหากรวมค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้น เช่น รายได้ที่ครอบครัวต้องเสียไปเมื่อต้องออกจากงานมาดูแล หรือ
รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหากต้องจ้างคนดูแล โดย ประมาณการว่าอาจสูงถึง 1,200,000 บาทต่อคนต่อปี

ทำอย่างไรไม่ให้ “หกล้ม”

เมื่อเราได้ทราบถึงผลกระทบอันมากมายที่ซ่อนอยู่ของการหกล้มกันแล้ว หมอจึงขอนำเทคนิคการป้องกันการหกล้ม
มาฝากท่านผู้อ่านกันดังนี้ครับ

  • สร้างสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่าย ๆ อาทิ การฝึกท่าทางการเดินให้
    ถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เช่น เน้นการฝึกกระดกข้อเท้าขึ้นลง ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเดินเสริมเช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดินสี่ขา เป็นต้น ตลอดจนปรับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น การลุกขึ้นยืนช้า ๆ มีวัตถุรอบตัวใช้จับยึดพยุงตัวได้ติดตั้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในบ้าน ไม่เดินเข้าไปในบริเวณที่มักเปียกน้ำ
  • เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในกลุ่มผู้ป่วยในโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้ม เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจวายหรือเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสมอง ความจำ หรือมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและข้อ ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา หรือกำลังใช้ยาหลากหลายชนิดอันเป็นสาเหตุให้ง่วงซึมได้ เป็นต้น ในกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหา
    เหล่านี้ ผู้ดูแลมีความจำเป็นต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะหกล้มได้
  • ส่งเสริมความปลอดภัยภายในที่พักอาศัย เช่น

– ติดตั้งหลอดไฟในบริเวณที่เสี่ยงต่อการหกล้มและมีความมืด โดยควรมีตุ่มปิดเปิดหรือใช้ตัวรับสัญญาณเปิดไฟอัตโนมัติเวลาเดินผ่าน เพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว

– มีอุปกรณ์เครื่องเรือนเท่าที่จำเป็น แข็งแรง ไม่ล้มง่าย มองเห็นได้ง่าย และไม่ควรย้ายตำแหน่งไปมาบ่อย ๆ

– เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมควรมีความสูงพอเหมาะต่อผู้ใช้งาน ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป

– ทางเดินและบันไดควรมีราวจับตลอด และขั้นบันไดควรมีความสูงเท่า ๆ กัน

– พื้นห้องควรเป็นวัสดุชนิดไม่ลื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องน้ำซึ่งเสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่าย พื้นควรอยู่ในระนาบเดียวกัน หลีกเลี่ยงธรณีประตู และไม่ควรมีสิ่งของวางเกะกะ เช่น สายไฟ เป็นต้น

– หลีกเลี่ยงการมีสัตว์เลี้ยงในบริเวณที่พักอาศัย เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ควรแยกบริเวณให้ชัดเจน

หมอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำแนะนำที่ได้รวบรวมมาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันทุกท่านให้ปลอดภัยจากการหกล้มได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

- ยากันล้ม คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอาย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.)

- คู่มือดูแลสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่ เคล็ดลับทำให้อายุยืน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018