อาหารดีท็อกซ์ลำไส้

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
2733
ดีท็อกซ์

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ดีท็อกซ์” (Detox) กันจนคุ้นหู ทั้งดีท็อกซ์ลำไส้ ดีท็อกซ์ตับ สารพัดจะดีท็อกซ์ จริง ๆ แล้วดีท็อกซ์มาจากคำว่า “Detoxification” ซึ่งหมายถึง การลดหรือการนำของเสียและสารพิษที่แปลกปลอมหรือตกค้างอยู่ในร่างกายออกไป ปกติร่างกายของเรามีความสามารถในการล้างพิษเองอยู่แล้ว โดยสารพิษต่าง ๆ จะถูกขับออกในรูปอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ หรือแม้แต่ทางลมหายใจ แต่ในยุคที่มีการปนเปื้อนสารเคมีในสภาพแวดล้อมและอาหารสูงเช่นนี้ จึงมีกระแสนิยมเรื่องการล้างพิษเกิดขึ้นจำนวนมาก

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยรับรู้วิธีการดีท็อกซ์ในรูปแบบต่าง ๆ มาบ้างแล้ว เช่น การสวนล้างลำไส้โดยใช้สารบางอย่าง เช่น กาแฟ น้ำอุ่น น้ำเกลือ น้ำมะนาวเจือจางใส่อุปกรณ์สายสวนที่สอดผ่านทวารหนักเข้าไปฉีดล้างลำไส้ให้สะอาด ซึ่งวิธีนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายขับถ่ายออกมามาก และเชื่อว่าจะมีการนำพาของเสียต่าง ๆ ออกมาพร้อมกับอุจจาระด้วย แต่เนื่องจากต้องฉีดน้ำย้อนศรเข้าไปในทางเดินอาหารซึ่งผิดหลักธรรมชาติ จึงเป็นการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้มนุษย์ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดแผลในรูทวารได้

อีกวิธีที่พบบ่อยคือการพักลำไส้ด้วยการอดอาหาร แล้วดื่มน้ำผักน้ำผลไม้กระตุ้นการขับถ่ายพร้อมขับของเสียแทน
บางสูตรมีการกินน้ำมันละหุ่งซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย วิธีนี้จึงอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดน้ำ เป็นลม หรือท้องอืดจากการได้รับน้ำตาลฟรุกโตสในผลไม้มากเกินไป

กลไกการดีท็อกซ์ตามธรรมชาติของร่างกายจะเกิดขึ้นด่านแรกที่ตับ โดยอาศัยเอนไซม์เป็นตัวลดสารพิษลง ส่วนใหญ่ขบวนการนี้จะเกี่ยวข้องกับการขจัดสารพิษที่มาจากยา สมุนไพร สารเคมีต่าง ๆ หลังจากขจัดสารพิษนี้เสร็จแล้วจะมีขยะเกิดขึ้นเรียกว่า “สารอนุมูลอิสระ” ซึ่งจะถูกกำจัดทิ้งในด่านต่อไป

Marjorie Nolan Cohn นักกำหนดอาหารและโฆษกประจำ Academy of Nutrition and Dietetics ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่า “การดีท็อกซ์ที่ดีที่สุดคือแผนการกินอาหารเพื่อสุขภาพและการดื่มน้ำสะอาดที่ช่วยกระตุ้นให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ” ดังนั้นหากเราต้องการดีท็อกซ์ลำไส้ให้สะอาดเราจะต้องสร้างนิสัยการขับถ่ายให้ปกติทุกวัน และเสริมสารอาหารที่ช่วยลดสารอนุมูลอิสระเพื่อลดขยะที่เกิดจากการดีท็อกซ์ของร่างกายในด่านที่ 2

ลำไส้มนุษย์มีลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 9 เมตร ผนังของลำไส้มีลักษณะเป็นขนเล็ก ๆ ที่ใช้ในการสัมผัสและดูดซึมสารอาหาร หากคำนวณว่าพื้นที่สำหรับดูดซึมสารอาหารในลำไส้มีขนาดกว้างใหญ่เท่าไหร่ หลายคนอาจจะตกใจว่าลำไส้ของเรามีพื้นที่มากถึง 2 สนามเทนนิส ลำไส้ของเราจึงมีโอกาสเป็นแหล่งสะสมสารพิษ ส่งผลต่อระบบย่อยและการดูดซึมสารอาหาร รวมถึงอวัยวะทุกระบบ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งได้ทำการศึกษาและถ่ายภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าอาหารมีผลต่อลำไส้และสุขภาพของเราอย่างไร โดยภาพของลำไส้ที่สะอาดจะมีลักษณะไม่มีเศษอาหาร เห็นเส้นเลือดฝอยชัดเจน ผิวลำไส้เรียบลื่น ลักษณะลำไส้เช่นนี้พบได้ในผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติหรือผู้ที่กินเจ ส่วนอีกภาพเป็นลำไส้ของผู้ที่ชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารไขมันสูง ผู้ที่ไม่ชอบกินผักและผลไม้ ลำไส้ของคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะเป็นคราบไขมันข้นหนืดสีเหลืองเคลือบอยู่ตามผนังลำไส้จนแทบมอง
ไม่เห็นเส้นเลือดฝอย ระบบการย่อยและการดูดซึมสารอาหารจึงย่ำแย่ ส่งผลให้มีสารพัดโรค และเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย

โปรแกรมดีท็อกซ์ลำไส้ด้วยอาหาร

ขั้นที่ 1 สำรวจ

สำรวจว่าลำไส้ย่ำแย่ควรดีท็อกซ์เป็นการด่วนหรือไม่ โดยหากมีอาการท้องผูก หรือไม่ถ่ายอุจจาระติดต่อกันนานกว่า
3 วัน มีอาการแน่นท้อง อุจจาระแข็ง เวลาขับถ่ายต้องเบ่งมาก ให้เริ่มดีท็อกซ์ได้ทันที

ขั้นที่ 2 สกัดกั้นสารพิษ

การสกัดสารพิษต่าง ๆ ให้เข้าสู่ร่างกายน้อยที่สุดช่วยลดภาระการขจัดสารพิษของร่างกายในด่านที่ 1 ได้เป็นอย่างดี เช่น การเลือกกินผักผลไม้พื้นบ้านตามฤดูกาล การล้างผักผลไม้ให้ถูกวิธีจะช่วยลดสารพิษจากการเกษตรลงได้
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งพบได้ในอาหารทอดน้ำมันซ้ำ อาหารปิ้งย่างจนไหม้ อาหารแปรรูป แล้วเลือกกินอาหารสดใหม่จากธรรมชาติแทน

ขั้นที่ 3 กระตุ้นการขับถ่าย

ขั้นตอนนี้ถือเป็นการลดภาระการขับของเสียในด่านแรกของร่างกาย โดยเริ่มจากการดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 2 ลิตรหรือประมาณ 10 แก้วต่อวัน กินอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ เพราะมีคุณสมบัติช่วยดักจับและเจือจางสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกาย ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ กระตุ้นการขับถ่าย และขับสารพิษได้เร็วขึ้น ด้วยการกินผักผลไม้ 5 – 9 ส่วนต่อวัน ประกอบด้วยผลไม้ 2 – 4 จานรองถ้วยกาแฟ และผักอย่างน้อย 1 – 2 ถ้วยแบ่งต่อมื้อ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ลูกเดือย ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโพด ถั่วเปลือกแข็ง 6 – 11 ทัพพีต่อวัน ที่สำคัญต้องหมั่นเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวไล่อุจจาระออกมา

ขั้นที่ 4 เสริมสารต้านอนุมูลอิสระ

เนื่องจากกลไกการดีท็อกซ์ของร่างกายในด่านที่ 1 ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระสูง ในด่านที่ 2 จึงต้องอาศัยสารต้านอนุมูลอิสระเข้ามาช่วย จากงานวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระหลายกลุ่มที่มีฤทธิ์ในการเสริมประสิทธิภาพการดีท็อกซ์ในขั้นตอนนี้ ได้แก่ โคเอนไซม์ คิวเทน สารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มสารอาหาร ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม ทองแดง สังกะสี แมงกานีส สารพฤกษเคมี กลุ่มผักผลไม้สีแดง ส้ม ม่วงที่ให้สารแคโรทีน ไลโคปีน เบต้าแคโรทีน
ลูทีน ซีแซนทิน แอสตาแซนธิน กลุ่มผักผลไม้สีแดง น้ำเงิน อย่างสารแอนโทไซยานิน กลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ในทับทิม ชาเขียว ขมิ้นชัน หรือผักตระกูล
cruciferous เช่น ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี คะน้า กะหล่ำปม บรอกโคลี
หัวหอม กระเทียม อาร์ติโชค นอกจากนี้ยังต้องกินโปรตีนคุณภาพดีอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้าง
สารกลูตาไธโอนและเอ็นไซม์ในการลดสารพิษได้อย่างเพียงพอ

ขั้นที่ 5 เติมจุลินทรีย์ตัวดีให้ลำไส้

จุลินทรีย์เป็นโพรไบโอติกที่มีคุณภาพสูง พบได้ในโยเกิร์ต นมเปรี้ยวต่าง ๆ ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ โดยลดจำนวนเชื้อตัวไม่ดี เสริมตัวดี ช่วยขจัดสารพิษจากจุลินทรีย์ แถมยังมีสรรพคุณในการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และเพิ่มความชื้นให้อุจจาระทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้นอีกด้วย

หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามโปรแกรมต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ก็จะช่วยให้ลำไส้สะอาด สามารถย่อยและ
ดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาการท้องผูกต่าง ๆ ก็จะหายไป ที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงของการเกิด
โรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018