โปรตีน สารอาหารสำคัญเพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ

สมิทธิ โชติศรีลือชา นักกำหนดอาหาร

0
2082

ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นและการดูแลรักษาทางสาธารณสุขที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพให้ดำรงเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีแข็งแรงสมบูรณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่ง แต่พบว่าสิ่งที่บั่นทอนความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมักจะเป็นโรคประจำตัวและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนพักรักษาในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด การอักเสบของอวัยวะ การเกิดแผลกดทับเรื้อรัง รวมไปถึงการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อของร่างกาย ทำให้เพิ่มระยะเวลาในการนอนรักษาพักฟื้นใน
โรงพยาบาล และคุณภาพชีวิตหลังจากออกจากโรงพยาบาลลดลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สามารถป้องกันได้หากเราดูแลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่ดี ได้รับสารอาหารและโปรตีนอย่างเพียงพอ

สุขภาพดี สำคัญที่โภชนาการ

โปรตีนการมีโภชนาการที่ดีและได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญมากต่อสุขภาพผู้สูงอายุ แต่ในหลายการศึกษา
พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 20 – 30 มีแนวโน้มได้รับสารอาหารพลังงานไม่เพียงพอ และภาวะขาดสารอาหารนี้จะพบได้มากขึ้นในขณะที่นอนรักษาพักฟื้นในโรงพยาบาล อีกทั้งยังพบว่า
ผู้สูงอายุส่วนมากสามารถรับประทานโปรตีนได้เพียงร้อยละ
50 – 70  ของความต้องการของร่างกายอีกด้วย ทั้งนี้การ
ได้รับพลังงานและโปรตีนที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ผู้สูงอายุมี
น้ำหนักและมวลกล้ามเนื้อลดลง รวมไปถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง เพิ่มภาวะกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) และภาวะเปราะบาง (Frailty) ซึ่งเพิ่มโอกาสในการหกล้มทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกขาหัก ระบบภูมิคุ้มกันทำงานแย่ลง เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และเพิ่มระยะเวลาพักฟื้น
อีกด้วย โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนมักเกิดจาก ปัญหาในการเคี้ยวกลืนอาหาร
ข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหารที่เหมาะสม และการถูกจำกัดอาหารบางประเภท ทำให้ความพึงพอใจและความอยากอาหารของผู้สูงอายุลดลง อีกทั้งพบว่าความสามารถในการย่อยและดูดซึมโปรตีนของผู้สูงอายุก็ลดลง ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะได้รับโปรตีนไม่ครบถ้วนตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสุขภาพของผู้สูงอายุจะดีได้โดยมีโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ

โปรตีน เป็นสารอาหารหลักที่ผู้สูงอายุควรได้รับอย่างเพียงพอในแต่ละวัน เนื่องจากเป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญมากต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย ใช้ในการสร้างฮอร์โมน เอนไซม์ เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้ในการสร้างโปรตีนขนส่งในเลือด เช่น แอลบูมิน (Albumin) ช่วยในการรักษามวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูแผล ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

โปรตีน

ทั้งนี้การจะดูแลให้ร่างกายได้รับโปรตีนคุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสมต้องคำนึงถึงความครบถ้วนของกรดอะมิโน
รวมทั้งความสามารถในการย่อยและการดูดซึมนำไปใช้ของร่างกายอีกด้วย โดยพิจารณาจาก คุณค่าทางชีวภาพของโปรตีน (Biological Value; BV) และ ค่าความสามารถในการย่อยโปรตีน (Protein Digestibility Amino Acid Score; PDCAAS) เพื่อให้ได้กรดอะมิโนที่ร่างกายนำไปใช้งานในปริมาณที่เหมาะสม

โปรตีนจากไข่ เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยและดูดซึมง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีค่า Biological Value 100% และมีค่า Protein Digestibility Amino Acid Score 1.0 ทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential Amino Acid) ครบถ้วน 9 ชนิด ซึ่งกรดอะมิโนนี้เป็นส่วนประกอบในการสังเคราะห์เป็นโปรตีนและร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ ดังนั้นโปรตีนจากไข่ขาวจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง นอกเหนือจากนม
เนื้อสัตว์ และถั่วเหลือง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ในไข่ขาวดิบมีสารอะวิดิน (Avidin) ซึ่งสามารถจับกับไบโอติน (Biotin) ทำให้ร่างกายดูดซึมไบโอตินไม่ได้ ดังนั้นจึงควรปรุงไข่ให้สุกเพื่อทำลายสารอะวิดิน หรือเลือกแหล่งโปรตีนเสริมจากไข่ขาวที่ปราศจากอะวิดิน

จากการศึกษาข้อมูลภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุที่มานอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่ามักจะมีปัญหาด้านโภชนาการ ได้รับสารอาหารและโปรตีนไม่เพียงพอถึงร้อยละ 15 – 60 ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อมากขึ้น ใช้ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลนานมากขึ้น และคุณภาพชีวิตลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยระยะพักฟื้นมีปัญหาด้านโภชนาการไม่เพียงพอถึงร้อยละ 10 – 20 เช่นกัน

โปรตีนอย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของการเสริมโปรตีนวันละ
25 – 30 กรัมต่อวัน ในผู้สูงอายุที่นอนรักษาในโรงพยาบาล และได้รับการเสริมสารอาหารต่อในช่วงพักฟื้น พบว่าสามารถช่วยลดอัตราการกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำได้ แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริมสารอาหารและโปรตีนอย่างชัดเจน  ดังนั้นสมาคมโภชนาการและการกำหนดอาหาร (Academy of Nutrition and Dietetics) จึงแนะนำว่า
ผู้สูงอายุ (ที่ไม่มีภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง) ควร
ได้รับโปรตีนต่อวัน ประมาณ 1.0 – 1.2  กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ร่วมกับการได้รับอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอ ในกรณีที่มีภาวะโรคแทรกซ้อนหรือมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ร่างกายอาจมีความต้องการโปรตีนมากขึ้นกว่าที่กำหนด ผู้สูงอายุจึงควรได้รับโปรตีน 25 – 30 กรัมต่อมื้ออาหาร เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมและนำโปรตีนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากคำแนะนำดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่ผู้สูงอายุจะบริโภคโปรตีนให้ได้ตามความต้องการที่กำหนดนั้นอาจเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยาก เราจึงมักพบภาวะขาดโปรตีนได้บ่อย ทั้งในผู้สูงอายุที่สุขภาพดีและผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย อย่างไรก็ตามเพื่อสุขภาพที่ดี ภูมิคุ้มกันแข็งแรง พักฟื้นหายเร็วหลังจากป่วย การได้รับโปรตีนที่คุณภาพดีอย่างครบถ้วนเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็น การปรับเปลี่ยนอาหารให้รับประทานได้ง่าย มีโปรตีนสูง หรือเลือกใช้แหล่งโปรตีนเสริมอาหารคุณภาพดี เช่น โปรตีนจากไข่ขาว จึงช่วยให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

ข้อมูลอ้างอิง

  • สุปราณี แจ้งบำรุง และ สิติมา จิตตินันทน์. อาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ. หนังสืออาหารและโภชนาการสำหรับทุกช่วงวัย. สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • Alison Smith, Juliet Gray. Considering the benefits of egg consumption for older people at risk of sarcopenia. Community Nursing. June 2016
  • Milne AC, Potter J, Vivanti A, Avenell A. Protein and energy supplementation in elderly people at risk from malnutrition. Cochrane Database Syst Rev.2009;(2), CD003288.
  • Deutz NE, Bauer JM, Barazzoni R, Biolo G, Boirie Y, Bosy-Westphal A, et al. Protein intake and exercise for optimal muscle function with aging: recommendations from the ESPEN Expert Group. Clin Nutr 2014;33(6): 929e36.
  • Position of the Academy of Nutrition and Dietetics: Food and Nutrition for older Adults: Promoting Health and Wellness. J Acad Nutr Diet. 2012