อาหาร คือ สิ่งที่มนุษย์กินเข้าไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายดำเนินไปอย่างปกติ ทำให้เกิดพลังงาน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อาหารจึงจำเป็นต่อร่างกาย การกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งน้อยเกินไป หรือมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโทษได้เหมือนกัน
คนไทย…อ้วน!!!
จากสถิติพบว่า ปัจจุบันคนไทยที่น้ำหนักเกินมีจำนวนมากถึงร้อยละ 35 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า คนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศ เป็นรองเพียงประเทศมาเลยเซียเท่านั้น นับว่าเป็นสถาการณ์ด้านสุขภาพที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากความอ้วนเป็นจุดเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โภชนาการเกิน จุดเริ่มต้นโรคเรื้อรัง
โภชนาการเกิน คือ การที่เรากินทุกอย่างมากเกินไปหน่อย เกินอย่างละเล็กอย่างละน้อย นานวันเข้าก็กลายเป็น “อ้วน” ในที่สุด บางคนอาจจะกำลังสงสัยว่า “ความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้อย่างไร” ขออธิบายโดยการยกตัวอย่างเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สมมติว่าเดิมทีเราเคยหนัก 50 กิโลกรัม แต่มาช่วงหลัง ๆ เราเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีความสุขกับการกินมากขึ้น กินนู่นกินนี่เกือบตลอดทั้งวันทั้งของคาวและของหวาน เรียกว่า กินจนเกินพอดีไปมาก จนน้ำหนักพุ่งทะยานขึ้นมาแตะที่ 80 กิโลกรัม เราเริ่มรู้สึกอึดอัดจากเสื้อผ้าที่คับแน่น เดินเหินก็ไม่คล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน นั่นเป็นเพียงปัญหาที่เห็นได้จากภายนอกเท่านั้น แต่ปัญหาสำคัญที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปัญหาของระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
ความอ้วนเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้ ไม่ว่าจะเกิดจากการกินมาก หรือการใช้พลังงานน้อย หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน เป็นผลให้เกิดการสะสมพลังงานที่เหลือใช้ในรูปของไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เมื่อเรากินอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์โบไฮเดรต) มากขึ้น จะทำให้ตับอ่อนจำเป็นต้องสร้างฮอร์โมนอินซูลินในปริมาณที่มากขึ้น ตับอ่อนต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลเสียทำให้ตับอ่อนเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วและก่อนเวลาอันควร ยังผลให้เกิดภาวะเบาหวานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี “อ้วนลงพุง” ซึ่งจะมีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องมาก ไขมันที่สะสมนี้สามารถแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ ทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดี มีผลให้มีน้ำตาลคั่งอยู่ในเลือดมาก เกิดภาวะเบาหวานในที่สุด
ลดน้ำหนักง่ายนิดเดียว
วิธีลดน้ำหนักสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่รู้จักตัวเลข 2 ตัวนี้เท่านั้น คือ พลังงานที่กินเข้าไป และ พลังงานที่ใช้ออกมา ถ้าเรากินน้อย ๆ ใช้พลังงานเยอะ ๆ ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ น้ำหนักตัวที่เกินมาก็จะหมดไปได้ในที่สุด ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรากินเยอะแถมยังไม่ออกกำลังกาย พลังงานส่วนเกินก็จะถูกเก็บสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้อ้วนขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับจำนวนพลังงานที่ร่างกายเราต้องการในแต่ละวันสามารถคำนวณคร่าว ๆ ได้โดยใช้สูตร
- น้ำหนักตัว x 25 ในกรณีที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวออกแรงน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย นั่ง ๆ นอน ๆ
- น้ำหนักตัว x 30 ในกรณีที่มีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวออกแรงมาก
พลังงาน 7,000 กิโลแคลอรี = 1 กิโลกรัม
สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนพึงระลึกไว้เสมอว่า พันธุกรรมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้เราอ้วน แต่ปัจจัยหลักคือ “ตัวเราเอง” หากเราสามารถกินได้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่มีโภชนาการเกิน หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (ปัจจุบันมีงานวิจัยใหม่ ๆ ออกมาแล้วว่า คนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และคนที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนสูงขึ้น) ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้ เพราะฉะนั้นโปรดจำไว้ว่า…
“ความอ้วนไม่ใช่เคราะห์กรรม
แต่เป็นการกระทำโดยประมาทของเราเอง”
Resource: HealthToday Magazine, No.165 July 2017