โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้

0
6927

โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ โดยในครั้งนี้จะกล่าวถึง “โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้”

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านที่พบได้บ่อยคือ ฝุ่นในบ้าน ตัวไรในฝุ่น เชื้อราในอากาศ แมลงสาบ ยุง แมลงวัน มด มีอาการสำคัญคือ คัน จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก

อุบัติการณ์โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

พบได้ประมาณร้อยละ 10 – 25 ของจำนวนประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในตัวเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ในเด็กจะพบโรคนี้ในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิง แต่ในผู้ใหญ่จะพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย โดยโรคนี้มักจะเริ่มแสดงอาการในวัยเรียนหรือวัยรุ่น

สาเหตุที่ทำให้อุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคภูมิแพ้ถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ มลพิษในอากาศ ทำให้มีสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น มลพิษในอาคารและบ้าน การอยู่ในที่ร่มทำให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอาคารมากขึ้น อาการจึงเป็นนานขึ้น มีสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่มากขึ้นและมีหลากหลายชนิด ทำให้อาการเป็นบ่อยขึ้น วิถีชีวิตที่เคร่งเครียด สามารถกระตุ้นระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเพิ่มขึ้น

อาการ

อาการต่าง ๆ ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่ คันจมูก, จามติด ๆ กันหลายครั้ง, น้ำมูกใส, คัดจมูก, คันที่ตา คอ หู หรือที่เพดานปาก อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ, เสียงเปลี่ยน, จมูกไม่ได้กลิ่น, น้ำมูกไหลลงคอ, หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู, คล้ายกับมีก้อนหรือมีอะไรติดในคอ หรือเจ็บคอเรื้อรัง เป็นต้น

นอกจากนั้นผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจมาพบแพทย์หรือเภสัชกรด้วยอาการอื่น ๆ ที่อาจไม่ใช่อาการที่เป็นแบบฉบับ (typical symptoms) ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่ รู้สึกหอบเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หายใจไม่สุด หรือหายใจไม่ทั่วท้อง, ปวดศีรษะเรื้อรัง, ไอเรื้อรัง, มีกลิ่นปากแรง คอแห้ง, ท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย, เพลียง่าย หรือหลับง่ายในเวลากลางวัน, เยื่อบุริมฝีปากหรือมุมปากอักเสบเรื้อรัง, มีการอักเสบของผิวหนังรอบดวงตาจากการขยี้ตาบ่อย ๆ หรืออาจมีรอยคล้ำรอบดวงตาได้, มีอาการผิดปกติทางหูและระบบประสาทการทรงตัว

4 ขั้นตอนการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

  1. หลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ กำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบ ๆ ให้ปราศจากฝุ่น, ฟูก โต๊ะ เตียง หมอน พรม ไม่ควรใช้แบบเก็บกักฝุ่น, ของเล่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า ไม่เลือกแบบมีขน, ในรายที่แพ้ขนสัตว์ หลีกเลี่ยงสัตว์ที่ทำให้เกิดการแพ้, กำจัดแมลงสาบ แมลงวัน ยุง และแหล่งที่อยู่ของสัตว์ไม่พึงประสงค์, ซักทำความสะอาดเครื่องนอน ปลอก หมอน มุ้ง ผ้าห่ม อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส และนานอย่างน้อยสัก 30 นาที, หลีกเลี่ยงละอองเกสร หญ้า ดอกไม้ วัชพืช, ทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกิดเชื้อราในอากาศที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้, หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง หรือปัจจัยที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ให้มากขึ้น เช่น การอดนอน การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การสัมผัสกับฝุ่น ควัน อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป ฯลฯ ถ้าผู้ป่วยไวต่ออะไรก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  2. ใช้ยาบรรเทาอาการ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มีหลายชนิด ได้แก่ ยาต้านฮิสทามีน, ยาหดหลอดเลือด, ยาสเตียรอยด์ (corticosteroids) ทั้งชนิดกินและชนิดพ่นจมูก, ยาต้านโคลิเนอร์จิก เช่น ipratropium bromide, ยาต้านลิวโคไตรอีน (anti-leukotrienes)

แนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554) ได้ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาด้วยยาไว้ว่า

  • ยาต้านฮิสทามีน ควรใช้ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากได้ผลดี มีความปลอดภัย ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยพิจารณาระหว่างผลที่ได้กับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และสามารถใช้ยาต้านฮิสทามีนได้ในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ทุกชนิดและทุกความรุนแรง
  • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีความปลอดภัยสูงในขนาดยาที่ใช้ในการรักษา ควรเลือกใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นชนิดคงที่และอาการปานกลางถึงรุนแรง หรือมีอาการคัดจมูกมาก  ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้ข้อบ่งชี้ และหยุดยาเมื่อหมดความจำเป็น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าการใช้ยาต้านฮิสทามีนร่วมกับ antileukotrienes

แนวทางการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่จัดทำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2015 ก็แนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 หรือชนิดที่ทำให้ไม่ง่วงในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่อาการหลักของผู้ป่วยคือ จามและคัน และแนะนำให้แพทย์ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกรักษา เมื่ออาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

  1. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดีอาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
  2. การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา

การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ควรคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ชนิดและความรุนแรงของโรค ตัวผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เอง และแพทย์ โดยสรุป โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้นสามารถรักษาให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้  สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย

Resource: HealthToday Magazine, No.192 April 2017