ไขปัญหาความอ้วน

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ผศ. ดร. นพ. พัฒนา เต็งอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคไตและเวชศาสตร์ชะลอวัย

0
1729

เมื่อเอ่ยถึง “ความอ้วน” ประเด็นที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงคงหนีไม่พ้นเรื่องการลดน้ำหนัก มีคำแนะนำจำนวนไม่น้อยที่ถูกบอกต่อกันมา หลายอย่างยังคงเป็นที่สงสัยว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน HealthToday จึงขอหยิบยกคำแนะนำที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ มาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

อาหารคลีน (Clean food) ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดน้ำหนัก

อาหารคลีนคืออาหารที่ผ่านการแปรรูปและปรุงแต่งน้อยที่สุดเพื่อให้อาหารคงความเป็นธรรมชาติและสารอาหารไว้ได้มากที่สุด การรับประทานอาหารคลีนจึงดีต่อสุขภาพหากผู้ประกอบอาหารทำโดยยึดหลักการนี้เป็นสำคัญ แนะนำให้ทำเองที่บ้านจะดีที่สุดเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เรารับประทานเข้าไป มาถึงประเด็นที่ว่าอาหารคลีนช่วยลดน้ำหนัก อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรารับประทานอาหารคลีนวันละกี่มื้อ หากรับประทานวันละ 1 มื้อ แล้วมื้อที่เหลือเป็นอาหารประเภทที่อุดมด้วยแป้งและน้ำตาล การรับประทานอาหารคลีนก็คงไม่ได้ผลในการลดน้ำหนัก ควรรับประทาน อาหารคลีน 2-3 มื้อต่อวันอย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะเห็นผล

นอนวันละ 8 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพการลดน้ำหนัก

การนอนวันละ 8 ชั่วโมงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลดน้ำหนักได้จริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีพฤติกรรมการนอนอย่างไร เช่น ถ้ากินจุบจิบก่อนนอน หรือตื่นปุ๊บกินปั๊บ อย่างนี้คงหนีความอ้วนไปไม่พ้น เพราะฉะนั้นก่อนนอนจะต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย รวมทั้งควรจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนในเหมาะกับการนอนหลับพักผ่อน เช่น เงียบสงบ เย็นสบาย มืด อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไป เป็นต้น เพื่อช่วยให้หลับสนิท เพิ่มคุณภาพการนอน นอกจากนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำหลังตื่นนอนคือการดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำแร่อย่างน้อยหนึ่งถึงครึ่งแก้ว เพียงเท่านี้ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักก็จะดีขึ้น

การคุมน้ำหนักต้องทำต่อเนื่องเพื่อป้องกันโยโย่เอฟเฟกต์ (YOYO Effect)

โยโย่เอฟเฟกต์ คือภาวะที่น้ำหนักตัวกลับเพิ่มขึ้นหลังจากสามารถลดน้ำหนักลงได้แล้ว ในความเป็นจริงคนที่เคยประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักมักมีประสบการณ์โยโย่เอฟเฟกต์ด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย ดังนั้นความเชื่อที่ว่าการลดน้ำหนักที่ดีต้องไม่มีโยโย่เอฟเฟกต์จึงไม่มีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม คนที่ควบคุมน้ำหนักได้ดีจะไม่ปล่อยให้น้ำหนักเพิ่มกลับขึ้นมามากเกินไป การมีโยโย่เอฟเฟกต์จึงเป็นการเตือนตัวเองให้กลับมาดูแลเรื่องน้ำหนักตัวก่อนที่ความอ้วนจะกลับมาเยือนอีกครั้ง

สำหรับคนที่เริ่มใส่ใจเรื่องความอ้วน และสงสัยว่าอ้วนถึงขั้นไหนจึงน่ากังวล คำตอบคือ หากเราไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่า ยูริกเริ่มสูง ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดเริ่มสูง  ความดันโลหิตเริ่มสูง มีไขมันเกาะตับ หรือเจาะน้ำตาลปลายนิ้วตอนเช้าด้วยตนเองที่บ้านหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง แล้วพบว่าระดับน้ำตาลมากกว่า 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เหล่านี้คือสัญญาณบ่งชี้ว่าความอ้วนกำลังจะทำให้เราป่วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องจริงจังกับการลดน้ำหนัก โดยอาจจะเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม