โรคไส้เลื่อน เป็นการเคลื่อนที่ไปอยู่ผิดที่ผิดตำแหน่งของลำไส้บางส่วน คุณลองนึกถึงยางรถยนต์สมัยก่อนที่มียางนอกและยางใน หากยางนอกมีรู ยางในซึ่งสูบลมไว้แน่นก็จะโป่งยื่นออกมาตามรูนั้น ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน มีโพรงหรือช่องมากมายเป็นที่อยู่ของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ในช่องท้องจะมี ตับ ม้าม และลำไส้ เป็นต้น โพรงหรือช่องเหล่านี้ถูกคลุมไว้โดยเยื่อบุช่องท้องซึ่งเป็นเยื่อบุบาง ๆ และภายนอกโพรงหรือช่องถูกล้อมรอบด้วยโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โครงสร้างภายนอกนี้จะมีรูเปิดเพื่อให้อวัยวะบางอย่างผ่านเข้าออกได้ เช่น รูเปิดสำหรับเส้นเลือดผ่านเข้าออก เป็นต้น
ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้อย่างไร
ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้เนื่องจากโครงสร้างภายนอกคือกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ไม่แข็งแรง เกิดเปิดออกเป็นช่อง หรือผนังบุในช่องท้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ผนังบางส่วนบางลงจึงเกิดการโป่งออกเพราะแรงดันภายในร่างกาย จากนั้นเยื่อบุภายในก็ยื่นตามผนังที่โป่งออกมา เรียกว่า “ถุงไส้เลื่อน” (Hernia sac) อวัยวะภายในจึงสามารถเคลื่อนที่ออกมาตามถุงไส้เลื่อน
เนื่องจากช่องท้องเป็นช่องภายในร่างกายที่มีขนาดกว้างจึงมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้บ่อยที่สุด ตำแน่งที่เกิดไส้เลื่อนอาจเป็นที่บริเวณขาหนีบ ใต้ขาหนีบ สะดือ หรือบริเวณรอยแผลผ่าตัดเก่า เคยมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนักว่าโรคไส้เลื่อนเป็นกันเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย ไส้เลื่อนอาจเป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้
ของแถมจากไส้เลื่อนถ้าไม่รักษา
เมื่อเกิดไส้เลื่อนขึ้น ส่วนใหญ่เจ้าตัวจะรู้ตัวว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในช่องท้อง แต่อาจไม่แน่ใจว่าเป็นไส้เลื่อนหรือเปล่า บางคนอาจคิดว่าเป็นเนื้องอก เพราะคลำได้ก้อนที่ขาหนีบ หรือนูนออกมาจนเห็นได้ เพราะเกิดก้อนโป่งนูนใต้ผิวหนัง
เมื่อเป็นไส้เลื่อนมักมีอาการรู้สึกปวดเวลาเบ่ง หรือเวลาที่ยกของหนัก แต่เมื่อนอนพักก้อนโป่งนั้นก็สามารถยุบกลับเข้าไปได้เอง หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปไส้เลื่อนมักจะค่อย ๆ โตขึ้นต้องเข้าใจว่าไม่ใช่มีก้อนเนื้อโตขึ้น แต่มีการเลื่อนลงมาของลำไส้มากขึ้น ถ้าไม่รักษาในท้ายที่สุดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้เหมือนกัน สัญญาณที่บอกให้รู้ตัว เช่น แม้จะนอนพักแล้วไส้เลื่อนก็ยังไม่ยุบหายกลับเข้าไป เพราะภายในถุงไส้เลื่อนมีลำไส้ค้างอยู่ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่อยู่ในถุงไส้เลื่อนไม่ได้ จนลำไส้ส่วนนั้นเสียไปและเกิดการเน่าซึ่งเป็นอันตรายมาก และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาฉุกเฉิน
ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติคล้ายที่กล่าวมาแต่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า ควรไปปรึกษาคุณหมอ ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะว่าถ้าเป็นไส้เลื่อนการรักษาเร็วก็จะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ถ้าพบว่าไส้เลื่อนมีขนาดเล็กหรือเป็น ๆ หาย ๆ คุณหมออาจใช้วิธีติดตามสังเกตอาการดูระยะหนึ่ง อาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก่อนที่จะให้การวินิจฉัยได้แน่นอน
ไส้เลื่อนเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักไม่หายไปได้เอง มีแต่จะค่อย ๆ โตขึ้น คือเป็นมากขึ้น และมีภาวะแทรกซ้อนตามมา จึงควรรีบรักษาอย่างดีที่สุด ที่แน่ ๆ คงไม่พ้นการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนให้กลับคืนสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม การรีบรักษาตั้งแต่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะทำให้สามารถเลือกเวลาที่ทำการผ่าตัดได้สะดวก มีความเสี่ยงน้อย แทนที่จะทนหรือปล่อยไว้ เพราะความกลัวเจ็บกลัวถูกผ่าตัด หรือเข้าใจผิดคิดว่าผ่าตัดไส้เลื่อนแล้วจะทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ การ
เพิกเฉยอาจทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ แทนที่จะเจ็บน้อยกลับต้องเจ็บตัวมากแถมอันตรายมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่ดีแน่
ทำไมต้องผ่าตัด ใช้วิธีรักษาอื่นมิได้หรือ?
ก็เพราะไส้มันเลื่อนมาอยู่ผิดที่ คงไม่มียาใดที่จะสามารถดันให้ไส้มันกลับขึ้นไปอยู่ที่เดิมได้นอกจาการจัดอวัยวะที่โผล่ยื่นเข้ามาในถุงไส้เลื่อนให้กลับเข้าไปในช่องท้องตามเดิม ต้องผูกและตัดถุงไส้เลื่อนออก และสุดท้ายซ่อมแซม เสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก เช่น ผนังหน้าท้อง ที่เป็นต้นเหตุของไส้เลื่อน วิธีแก้ไขเหล่านี้ต้องอาศัยการผ่าตัดเท่านั้นถึงทำได้
การเป็นไส้เลื่อนไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นเหมือนกันหมด แต่ละคนเป็นได้ต่างลักษณะกัน เช่น
ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal hernia)
ไส้เลื่อนที่ขาหนีบเป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุดถึง 80% ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ Direct และ Indirect
- Indirect inguinal hernia พบได้มากถึง 70% เกิดจากผนังหน้าท้องอ่อนแอมาตั้งแต่เกิด เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการเจริญเติบโตช่วงที่อัณฑะเคลื่อนที่ลงไปยังถุงอัณฑะช่องว่างนี้เรียกว่า inguinal canal ส่วนในผู้หญิงก็มีช่องว่างในตำแหน่งคล้ายกันที่หากผนังหน้าท้องอ่อนแอก็อาจทำให้ไส้เลื่อนลงไปได้
- Direct inguinal hernia พบไม่บ่อยนัก มักเกิดในผู้ชายและอายุมักมากกว่า 40 ปี เกิดเนื่องจากกล้ามเนื้อและพังผืดหย่อนหรืออ่อนแรงลง ไส้เลื่อนชนิดนี้มักมีขนาดไม่ใหญ่เท่าชนิดแรก และไม่ลงไปในถุงอัณฑะเหมือนชนิดแรก การรักษายังคงเป็นการผ่าตัดเช่นกัน
ไส้เลื่อนใต้ขาหนีบหรือไส้เลื่อน Femoral
ไส้เลื่อนชนิดนี้มักพบในผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดคือบริเวณต้นขาด้านใน สูงเกือบถึงขาหนีบ มักเกิดเนื่องจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหรือพังผืดบริเวณนั้น เช่น เป็นผลจากการคลอดบุตร เมื่อเกิดไส้เลื่อนขึ้นจะมีอวัยวะในช่องท้องเคลื่อนเข้าไปในถุงไส้เลื่อน และอาจเกิดการกดทับเส้นเลือดที่ผ่านใต้บริเวณนี้ เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่ายหากไม่ทำการรักษาโดยการผ่าตัด
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไส้เลื่อน
หากเป็นโรคไส้เลื่อน ทั้งที่ยังไม่ได้รักษา หรือที่กำลังจะรับการผ่าตัดก็ตาม เรามีข้อแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เป็นโรคนี้
- หากคุณเป็นคนอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานก็ควรลดน้ำหนักตัวลง
- หยุดหรือลดการสูบบุหรี่เพื่อลดการไอ เพราะการไอจะเกิดแรงดันกระทบกระเทือนภายในช่องท้อง
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เน้นพืชผัก อาหารกากใยสูง ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดอาการท้องผูก จะได้ไม่ต้องเบ่ง เพราะจะยิ่งทำให้เป็นมากขึ้น
- ห้ามยกของหนัก
การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัยมาก แต่ก็มีความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ พบว่า 5 % ของคนที่แม้จะทำการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนไปแล้ว ก็ยังอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังจากรักษาไส้เลื่อนมาก็ช่วยให้ความเจ็บและโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อยลงได้โดย
- ห้ามยกของหนัก แต่ถ้าจำเป็น ควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยให้หลังตรงขณะที่ยกของ เพื่อให้กล้ามเนื้อขาออกแรงส่วนใหญ่แทน และไม่ควรกลั้นหายใจขณะที่ยก ถึงคุณจะนั่งทำงานในออฟฟิศ ก็ต้องระวังอย่าเผลอไปยกหรือดันเฟอร์นิเจอร์หนัก ๆ เข้า
- คุณสามารถทำงานบ้านได้ตามปกติ แต่อย่าหักโหม
- ออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงและไม่กระแทกกระทั้น เช่น การเดิน
- ไม่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนแผลผ่าตัดหรือบริเวณที่มีไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนเป็นความบกพร่องของอวัยวะจำพวกกล้ามเนื้อและเยื่อบุภายในช่องท้อง อย่าลืมว่าเป็นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้มาจากเชื้อโรคก็ตาม แต่ถ้าเป็นแล้วไม่สนุกแน่ จะยกของหนักก็ระวังให้มาก ยกให้ถูกท่า เพราะไม่เพียงอาจทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนไปอยู่ผิดที่เท่านั้น แต่อาจได้โรคปวดหลัง ปวดเอวเพิ่มมากอีกด้วย…แล้วจะหาว่าไม่เตือน
Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018