อาหารบำบัด เหน็บชา

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
2580
ข้าวไม่ขัดสี

ภาษา Sinhalese ของชนเผ่าในประเทศศรีลังกา หมายถึง “I can’t, I can’t” หรือ“ฉัน…ไม่ได้” ที่ชนเผ่าใช้คำนี้อาจเพราะโรคเหน็บชาทำให้มีอาการทางประสาทปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง รู้สึกซู่ซ่าตามมือและเท้าจนอาจเคลื่อนไหวไม่สะดวก จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือ “ช่วยด้วย…ฉันขยับขาไม่ได้”

ภายหลังมีความพยายามหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น ก็พบว่าคนที่กินข้าวขัดสีตลอดจะทำให้มีอาการ Beriberi ซึ่งภายหลังทราบว่า กระบวนการขัดสีข้าวทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินบี 1 ดังนั้นเมื่อกินแต่ข้าวขัดสี และกินอาหารไม่หลากหลายจึงมีอาการเหน็บชาได้

วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ หากร่างกายได้รับเกินจะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะได้เอง ทำหน้าที่ช่วยเร่งการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันเป็นพลังงาน ทำให้เรามีเรี่ยวแรงทำงานได้อย่างปกติ

ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 1 จึงส่งผลกระทบต่ออวัยวะและระบบต่างๆ

โดยเฉพาะ 3 ระบบหลัก ได้แก่

  • ระบบประสาทและสมอง เพราะเป็นระบบที่มีการใช้พลังงานมากเมื่อเทียบกับเซลล์อื่นๆ
  • รองลงมาคือผิวหนัง
  • และระบบทางเดินอาหาร

นอกจากนี้วิตามินบี 1 ยังมีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะการนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท เคยมีการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างกินอาหารที่ขาดวิตามินบี 1 พบว่าหลังเริ่มทดลอง 4 วัน กลุ่มตัวอย่างมีอาการเบื่ออาหาร ต่อมาเริ่มมีปัญหาทางอารมณ์ กลุ่มตัวอย่างมักอารมณ์ไม่ดี ทะเลาะกันง่าย ไม่ค่อยให้ความร่วมมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 จึงไม่เพียงมีอาการเหน็บชาเท่านั้น แต่บางรายอาจมีอาการทางอารมณ์ด้วย

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองขาดวิตามินหรือเป็นโรคเหน็บชาเนื่องจากอาการแสดงโดยทั่วไปก็แค่ปวดหัว เบื่ออาหารคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปลายประสาทอักเสบไม่มีแรง ขี้หงุดหงิด เจ็บกล้ามเนื้อหรือชาตามมือเท้า ซึ่งอาจไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอะไรมากนัก แต่หากปล่อยไว้ก็อาจมีผลต่อสุขภาพจิตหรือรุนแรงถึงขั้นโคม่า หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตได้

ใครบ้าง เสี่ยงเหน็บชา?

นอกจากการกินอาหารที่มีวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอแล้ว การที่ร่างกายมีการใช้วิตามินบี 1 เพิ่มขึ้น หรือได้รับสารทำลายวิตามินบี 1 มาก ๆ ก็ทำให้เสี่ยงต่ออาการเหน็บชาได้ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กวัยเจริญเติบโตคนที่ทำงานใช้แรงเยอะๆ นักกีฬา ผู้ป่วยเรื้อรัง มีไข้สูงเป็นโรคติดเชื้อ หรือแม้แต่ผู้ที่กินอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลมากๆ คนกลุ่มนี้คือกลุ่มเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบี 1 จนเกิดอาการเหน็บชาได้ เพราะร่างกายต้องการใช้วิตามินเพิ่มขึ้นจากปกติ หากกินไม่พอก็จะมีอาการขาดวิตามินบี 1 ทันทีนอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 1 นั่นคือผู้ที่กิน

อาหารที่มีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมหรือทำลายวิตามินบี 1 ได้แก่

  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการดูดซึม และเพิ่มการขับทิ้งวิตามินบี 1 เสมือนคนกินยาขับปัสสาวะ ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง หรือชา กาแฟ ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมและสะสมวิตามินบี 1 ได้ไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น ตับแข็ง ทั้งนี้เพราะตับไม่สามารถนำวิตามินบี 1 ไปใช้ประโยชน์ได้
  • ผู้ที่ได้รับเอนไซม์ไธอะมิเนส (Thaiaminase) สารทำลายวิตามินบี 1 ซึ่งพบได้ในปลาน้ำจืดดิบ หอยลายหอยแมลงภู่ หอยกาบ ปลาร้า กุ้ง แหนม แบบดิบ ๆ
  • ผู้กินใบเมี่ยง ใบชา หมาก มันสำปะหลังเป็นประจำเพราะอาหารเหล่านี้มีสารทำลายวิตามินบี 1

กินบำบัดเหน็บชาอย่างไร?

แนวทางในการรักษาผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 นั้นนอกจากการกินวิตามินในรูปของยาเม็ดเสริมตามระดับความรุนแรงของการขาดวิตามินแล้ว การกินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืช ถั่ว ซีเรียล เนื้อสัตว์ต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้ได้วิตามินบี 1 วันละ 20 – 30 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ก็เป็นอีกทางที่จะช่วยให้หายจากอาการเหน็บชาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามแม้จะได้วิตามินบี 1 เสริมมากเท่าไหร่ก็ตามแต่หากผู้ป่วยยังคงดื่มแอลกอฮอล์ และกินอาหารที่ทำลายวิตามินบี 1 เข้าไปมาก ๆ อาการเหน็บชาก็คงจะไม่หาย และยังคงกวนใจต่ออยู่ดี

เทคนิคกินกันเหน็บชา

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ตข้าวเหนียวดำ เส้นหมี่ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลถั่วธัญพืชต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสาร Thaiaminase เช่น ปลาน้ำจืดหอย กุ้ง เนื้อสัตว์แบบดิบๆ หากต้องการกิน แนะนำให้นำอาหารไปผ่านความร้อนจนอาหารสุก ก็จะช่วยทำลาย Thaiaminase ให้หมดฤทธิ์ได้
  • หลีกเลี่ยงการกินใบเมี่ยง ใบชา หมาก มันสำปะหลังเนื่องจากมีสารที่ทำลายวิตามินบี 1 ที่มีความคงตัวสูงไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ชากาแฟ

4 เคล็ดลับที่ผู้เขียนนำมาฝากวันนี้ หากทำได้เชื่อว่าผู้อ่านจะไม่ต้องร้อง “I can’t, I can’t” เลยค่ะ

Resource: HealthToday Magazine, Issue no. 187, NOVEMBER 2016