คำว่า EF หรือ Executive Function จะได้ยินมากขึ้นเรื่อย ๆ นับจากนี้ มีเขียนถึงในที่ต่าง ๆ มีให้ค้นคว้าเพิ่มเติม รวมทั้งจะมีสินค้าอีกหลายชนิดบอกขายเพื่อพัฒนา EF
EF คือ การควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ฟังง่ายที่สุดแล้ว (อ้างอิงจากคณะกรรมการจัดการความรู้เรื่อง EF สถาบันรักลูก)
เด็ก ๆ มีความคิด วัยรุ่นมีความคิด แต่ความคิดเป็นอะไรที่ออกนอกลู่นอกทางได้ง่าย ดังนั้นการมีความคิดอย่างเดียวไม่พอ ที่จะต้องมีด้วยคือความมุ่งมั่น ความมุ่งมั่นเป็นปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยมากดังที่ทราบกัน
นอกเหนือจากความมุ่งมั่นคือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ซึ่งขาดหายไปจากระบบการศึกษาของบ้านเราอีกเช่นกัน การท่องจำและทำข้อสอบปรนัยไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้าน การคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านเกิดได้จากการที่เด็กต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่าง สถานการณ์เหล่านั้น ได้แก่
- สถานการณ์ที่ต้องวางแผน
- สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ
- สถานการณ์ที่ต้องแก้ไขปัญหา
- สถานการณ์ที่ต้องใช้วิธีการใหม่ ๆ
- สถานการณ์ที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง
- สถานการณ์ที่ต้องใช้ความมานะ อดทน มุ่งมั่น
(อ้างอิงจากคณะกรรมการจัดการความรู้เรื่อง EF สถาบันรักลูก)
จะเห็นว่าสถานการณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ไม่เกิดจากการเรียนหนังสือ ท่องจำ หรือทำข้อสอบปรนัยอีกเช่นกัน รวมทั้งไม่เกิดจากการเผชิญสถานการณ์ที่ง่ายเกินไป ไม่เป็นจริง และไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของนักเรียนอีกด้วย
พูดง่าย ๆ ว่าข้อสอบประเภทสมมติสถานการณ์ให้นักเรียนแก้ปัญหาก็ไม่ส่งเสริม EF เท่าใดนัก เพราะจะอย่างไรก็เป็นสถานการณ์สมมติ ไม่จริง รวมทั้งหลายครั้งที่ไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง หากจะสรุปสถานการณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ให้สั้น อาจจะกล่าวได้ว่า EF สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อปล่อยให้นักเรียนเผชิญสถานการณ์ที่มี Cognitive Challenge หรือ CC คือสถานการณ์ที่ท้าทายให้เกิดการคิดวิเคราะห์ การคิดวิเคราะห์จึงเป็นเรื่องที่หนึ่งที่เด็ก ๆ ต้องฝึก
คำถัดมาคือการกระทำ การกระทำหรือ action จริง ๆ เท่านั้น ที่จะทำให้เกิดการส่งผ่านประจุไฟฟ้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองและระบบประสาทส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงจะเกิดการเรียนรู้ เช่นกัน การท่องหนังสือและการทำข้อสอบไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เพราะไม่ได้กระทำจริง คือไม่มี action เริ่มตั้งแต่การฝึกตัดสินใจ จากนั้นจึงลงมือทำ เมื่อพบสถานการณ์ที่มี Cognitive Challenge เด็ก ๆ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจและกล้าที่จะลงมือทำ เช่นนี้จึงจะเกิดการเรียนรู้และเกิด EF
คำถัดมาคืออารมณ์ ดังที่ทราบกันว่าอารมณ์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้คนเราไขว้เขว ออกนอกทาง ไปไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้นการควบคุมหรือจัดการอารมณ์ให้ดีจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของ EF ปัญหาเรื่องอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุดคือเด็ก ๆ คาดหวังความสุขเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะอดทนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายระยะยาวแล้วได้รับความปิติในตอนท้าย ความสามารถในการควบคุมตนเองไม่ให้รีบร้อนเอาความสุขเฉพาะหน้าจึงเป็นทักษะสำคัญ เด็ก ๆ ควรได้รับการฝึกให้มีความสามารถประวิงเวลาที่จะมีความสุขเอาไว้ก่อนจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ เราเรียกว่า Delayed Gratification
EF คือการควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องการการฝึกฝน ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือ Climbimg Net ตาข่ายสำหรับปีนป่ายที่เราเห็นในสนามเด็กเล่นบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศที่ใส่ใจ ตาข่ายนี้ออกแบบมาให้เหมาะสมกับอายุ เด็ก ๆ ที่ปีนตาข่ายจะไปให้ถึงยอดได้ เขาต้องรู้จักกำหนดเป้าหมาย มีความมุ่งมั่น คิดวิเคราะห์ว่าจะเอามือจับที่เส้นเชือกเส้นไหน แล้วจะก้าวขาตามขึ้นไปที่เส้นเชือกเส้นไหน ยิ่งสูงขึ้นยิ่งมีความเสี่ยง นี่คือสถานการณ์ที่ท้าทาย ทุกการคิดวิเคราะห์ตามด้วยการกระทำคือปีนจริง ๆ ประจุไฟฟ้าวิ่งพล่านไปทั่วสมอง ระบบประสาทส่วนกลางและมือเท้าจริง ๆ ระหว่างปีนสูงขึ้นไปจะมีความกลัว เด็ก ๆ ต้องฝึกความสามารถในการควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
EF จึงเป็นความสามารถรวบยอดที่เด็กและวัยรุ่นใช้เพื่อพัฒนาตนเองไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า
Resource : HealthToday Magazine, No.187 November 2016