GERD โรคกรดไหลย้อนคืออะไร

อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร

0
1908
กรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน คือ โรคที่เกิดจากการมีกรดหรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารจนทำให้มีอาการรบกวนและ/หรือมีภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติคนเราจะมีอาการแทรกซ้อนของกรดไหลย้อนได้เป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่มักเกิดหลังมื้ออาหารที่มีการเปิดปิดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างมากกว่าช่วงเวลาปกติ หากเกิดในคนที่ไม่เป็นโรค ร่างกายจะสามารถกำจัดสิ่งที่ไหลย้อนขึ้นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่มีอาการที่รบกวนหรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในคนที่เป็นโรคจะมีอาการรบกวน เนื่องจากการเปิดปิดหูรูดมักจะมีจำนวนครั้งมากกว่า หลอดอาหารไม่สามารถบีบตัวเพื่อไล่สิ่งที่ไหลย้อนกลับลงไปได้ ร่วมกับมีปัจจัยอื่นที่เสริมให้มีอาการ เช่น มีอาหารค้างมากในกระเพาะอาหารจากการบีบตัวของกระเพาะอาหารช้าหรือมีความดันในช่องท้องสูง เช่น โรคอ้วนลงพุง การตั้งครรภ์ เป็นต้น

เมื่อไรควรสงสัยว่าตนเองมีโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนสามารถมีอาการแสดงหลัก ๆ ได้ 2 กลุ่มอาการ ได้แก่

  1. อาการที่เกิดในหลอดอาหาร กลุ่มนี้พบได้บ่อย ได้แก่ อาการแสบร้อนหลังยอดอก เรอเปรี้ยวหรือขม ขย้อนอาหาร หรือเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
  2. อาการที่เกิดนอกหลอดอาหาร อาการในกลุ่มนี้เป็นผลมาจากการที่กรดหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นสูงจนถึงกล่องเสียงหรือคอหอยจนทำให้มีอาการนอกหลอดอาหารได้ เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบ ฟันผุ เสมหะมาก จุกที่คอ คออักเสบ เยื่อแก้วหูชั้นในอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

การดูแลตนเองก่อนไปพบแพทย์

หากสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคกรดไหลย้อน สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยแนะนำให้ลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักเกินหรือน้ำหนักขึ้นในช่วงที่มีอาการ กินน้อย ๆ แบ่งเป็นมื้ออาหารย่อย ๆ ไม่ลงไปอยู่ในท่านอนหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป นอนยกเตียงด้านศีรษะสูงตั้งแต่ช่วงเอว หากมีอาการตอนช่วงกลางคืน งดหรือลดอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้มีอาการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  2. การรับประทานยาลดการหลั่งกรด อาจพิจารณาซื้อยาลดการหลั่งกรดมารับประทานเองได้หากอาการไม่มากนักและไม่มีสัญญาณเตือน

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการที่สงสัยกรดไหลย้อนและมีสัญญาณเตือน เช่น กลืนลำบาก น้ำหนักลด ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด หรือกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น

การสืบค้นเพิ่มเติมเมื่อไปพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน การตรวจอื่น ๆ ได้แก่ การใส่สายวัดกรดไหลย้อน 24 ชั่วโมง หรือตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.takedathailandhealth.com/

C-ANPROM/TH/VCT/0014