โรคหลงผิด (Delusional disorder)

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
12659

โรคหลงผิด (delusional disorder) จัดเป็นโรคในกลุ่มโรคจิต (psychotic disorders) โดยมีอาการเด่นคือ การมีความเชื่อที่ไม่เป็นจริงและไม่สามารถแก้ไขได้ จนนำมาซึ่งปัญหาและความเครียดต่อผู้ป่วยเองหรือคนในครอบครัว

โรคหลงผิดเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย โดยพบได้ประมาณร้อยละ 0.025-0.03 ในประชากรเท่านั้น น้อยกว่าโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคในกลุ่มกลุ่มโรคจิตด้วยกันมาก (โรคจิตเภทพบได้ร้อยละ 0.6-1) อย่างไรก็ตามเชื่อว่าความชุกที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ เพียงแต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ไปพบแพทย์ และไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย

อาการของโรคหลงผิด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ (เฉลี่ยที่ 40 ปี) ซึ่งแตกต่างจากโรคจิตเภทที่มักมีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น โดยทั่วไปผู้ป่วยมักดูปกติ ไม่มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดหรือการพูดจาที่สับสน ไม่มีอาการหูแว่ว แต่จะมีอาการหลงผิดที่เด่นชัด

อาการหลงผิดคืออะไร? อาการหลงผิด (delusion) เป็นความผิดปกติของระบบความคิด โดยผู้ป่วยจะมีความเชื่อที่ผิด ๆ โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม แต่ผู้ป่วยจะเชื่ออย่างสนิทใจและไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดปัญหาในชีวิต

ชนิดของอาการหลงผิดที่พบได้บ่อยในโรคหลงผิดได้แก่ อาการหลงผิดว่าคู่ของตนนอกใจ (jealous type) โดยผู้ป่วยจะมีความเชื่ออย่างรุนแรงว่าคู่ของตนนอกใจหรือมีคนอื่น และเชื่ออย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้จะไม่มีหลักฐานสนับสนุน หรือแม้มีหลักฐานแย้งว่าไม่น่าจะเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยชายอายุ 50 ปี อยู่ ๆ มีความเชื่อว่าภรรยาตนเองไปมีชายอื่นทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และลูก ๆ ที่อยู่ด้วยก็ยืนยันว่าแม่ไม่ได้นอกใจ และไม่เห็นมีพฤติกรรมอะไรที่ชวนให้สงสัยเลยด้วยซ้ำ แต่ผู้ป่วยก็เชื่อไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นในผู้ป่วยหลายรายก็มักจับเอาเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ มาเป็นหลักฐานของความเชื่อนั้น เช่น เมื่อผู้ป่วยเห็นรอยเปื้อนที่แขนเสื้อภรรยาก็บอกว่าเป็นคราบอสุจิ ภรรยาออกไปซื้อของข้างนอกก็บอกว่าแอบไปพบชู้ทั้ง ๆ ที่ไปแค่ไม่นาน หรือบุรุษไปรษณีย์มาส่งของก็บอกว่าเป็นชู้ที่แอบมาหา เป็นต้น ซึ่งอาการหลงผิดนี้แน่นอนย่อมนำมาซึ่งปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด อาการซึมเศร้า การทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย หลายรายสุดท้ายจบลงด้วยการหย่าร้างหรือฆ่าตัวตาย

ส่วนอาการหลงผิดรูปแบบอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

อาการหลงผิดว่ามีคนปองร้าย (persecutory type) ผู้ป่วยเชื่อว่าตนเองถูกผู้อื่นจ้องทำร้าย คอยติดตาม หรือถูกใส่ร้าย เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งบอกว่าคนข้างบ้านจ้องจะแกล้งตนเอง คอยแอบมองตัวเองอยู่ตลอดเวลา และวางแผนจะทำให้ตนเองถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เป็นต้น

อาการหลงผิดว่ามีคนอื่นหลงรักหรือเป็นคู่รักตนเอง (erotomanic type) ผู้ป่วยเชื่อว่าคนอื่นมาหลงรักตัวเอง หรือเชื่อว่าเป็นคู่รักของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือดูดีกว่า โดยความเชื่อรูปแบบนี้มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และผู้ป่วยมักตีความพฤติกรรมของคนที่เชื่อว่ามาหลงรักอย่างผิด ๆ ว่าเป็นการมีใจให้ เช่น นักศึกษาชายรายหนึ่งเชื่อว่าดาวของคณะมาหลงรักตน โดยผู้ป่วยบอกว่าการที่เดินเจอกันแล้วคน ๆ นั้นทักทายเป็นการสื่อนัยยะว่าเขารักตนเอง ทั้งที่ความจริงก็เป็นการทักทายตามมารยาททั่วไป แต่ผู้ป่วยเชื่อ 100% ว่าคน ๆ นั้นหลงรักและเป็นแฟนตนเอง เป็นต้น

อาการหลงผิดว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือเป็นโรค (somatic type) ผู้ป่วยเชื่อว่าร่างกายตนเองผิดปกติหรือเป็นโรคบางอย่าง ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น เชื่อว่ามีพยาธิหรือแมลงบางอย่างอยู่ในผิวหนังตนเอง เป็นต้น

การรักษา

โรคหลงผิดถือว่าเป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ป่วยเชื่อว่าความเชื่อของตัวเองเป็นสิ่งที่เป็นจริงจึงมักไม่ไปพบแพทย์ รวมถึงปฏิเสธที่จะรับการรักษา และไม่ร่วมมือ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มารักษาจึงเกิดจากญาติหรือคนใกล้ชิดเป็นคนพามา

ยารักษาโรคจิต (antipsychotic) เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษา ซึ่งสามารถลดความรุนแรงของอาการหลงผิดลงได้ โดยพบว่าเมื่อรับการรักษาแล้วผู้ป่วยครึ่งหนึ่งอาการหลงผิดหายไป และร้อยละ 20 อาการดีขึ้นแต่หลงเหลืออาการอยู่บ้าง ในผู้ป่วยที่อาการหลงผิดไม่หายไปหรือหายไปไม่หมด การทำจิตบำบัดสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและปรับตัวได้แม้จะมีความคิดหลงผิดอยู่บ้าง

 

Resource : HealthToday Magazine, No.199 November 2017