หนทางเลี่ยงมะเร็ง: สารหนู แอลกอฮอล์ และเบต้าแคโรทีน

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
1263

ผู้เขียนขอกล่าวถึงบางปัจจัยที่เกี่ยวข้องระหว่างพฤติกรรมการบริโภคและการเกิดมะเร็ง ได้แก่ การได้รับสารหนูจากสิ่งแวดล้อม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการได้รับเบต้าแคโรทีนในชีวิตประจำวันมากเกินจำเป็น ซึ่งถ้าเราสามารถลดหรือควบคุมการได้รับปัจจัยเหล่านี้ได้ ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งควรลดลงได้

สารหนูในน้ำดื่ม (Arsenic in drinking water)

การปนเปื้อนสารหนูทั้งจากของเสียทางอุตสาหกรรมและจากธรรมชาติเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของผู้บริโภค ข้อมูลทางวิชาการกล่าวชัดเจนว่า สารหนูเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่ กระเพาะปัสสาวะ ปอด และผิวหนัง

เหมืองแร่ดีบุกในไทยซึ่งเป็นเหมืองฉีดในภาคใต้นั้น เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ เพราะสารหนูมักเป็นสายแร่ที่เกิดปนไปกับสายแร่ดีบุก ดังนั้นในการทำเหมืองฉีดจึงได้แร่ทั้งสองชนิดออกมาพร้อมกัน แต่ชาวเหมืองแยกเฉพาะดีบุกออกมาใช้ประโยชน์โดยละเลยสารหนูไว้ในสายน้ำที่ทิ้งไป พฤติกรรมดังนี้ทำให้แหล่งน้ำใกล้เหมืองมีการปนเปื้อนของสารหนูซึ่งถูกดูดซึมเข้าสู่ผักและผลไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อให้ผู้บริโภคผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังที่ชาวบ้านเรียกว่า ไข้ดำ

โศกนาฏกรรมเกี่ยวกับไข้ดำที่เกิดต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรงนั้นพบที่บังคลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่เคราะห์ร้ายจากน้ำท่วมที่เกิดจากพายุขนาดใหญ่พัดจากอ่าวเบงกอลเข้าสู่แผ่นดินใหญ่เป็นประจำ เกิดการพลิกหน้าดินนำเอาสารหนูชั้นใต้ผิวดินขึ้นมาปนกับน้ำที่ท่วมหมู่บ้าน ส่งผลให้น้ำบ่อซึ่งใช้ในการอุปโภคและบริโภคมีสารหนูปนเปื้อน

นอกจากนี้ความหวังดีขององค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง ซึ่งต้องการให้ชาวบังคลาเทศมีน้ำสะอาดใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร องค์กรนี้จึงขุดบ่อบาดาลเพื่อให้ประชาชนได้น้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ผลคือสามารถลดอัตราการเกิดโรคในทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากองค์กรนี้ขาดความเฉลียวใจว่า ใต้ดินของบังคลาเทศนั้นมีสารหนูสูงมาก ชาวบังคลาเทศจำนวนมากที่ใช้น้ำจากบ่อดังกล่าวจึงเป็นไข้ดำเนื่องจากสารหนู

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic drinks)

เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง (colorectum ซึ่งหมายถึงทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ต่อกับไส้ตรงถึงทวารหนัก) เต้านม ตับ ปาก คอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร

นานมาแล้วเคยมีงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวว่า การดื่มบรั่นดีหรือวิสกี้ปริมาณน้อย (ฝรั่งใช้คำว่า 1 shot) ต่อวัน (ถือเป็น moderate drinking ช่วยทำให้สุขภาพของระบบหลอดเลือดดี เพราะจากการตรวจศพของผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณนี้แล้วตายด้วยอุบัติเหตุนั้นมีหลอดเลือดที่อยู่ในสภาพดีทั้งร่างกาย ปราศจากการสะสมของไขมันชนิดเลว ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจเพราะอาจมองในอีกมุมได้ว่า คนเหล่านี้มีโอกาสตายอยู่ข้างถนนเนื่องจากเมาตั้งแต่ยังหนุ่มสาวก่อนที่ไขมันมีโอกาสเกาะผนังเส้นเลือดซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุ

ที่สำคัญคือ มีผลงานวิจัยในลักษณะเดียวกัน ซึ่งศึกษาในผู้ที่มีพฤติกรรม ดื่มหนัก (แล้วไม่ประสบอุบัติเหตุตายเสียก่อน) พบว่า ผลการศึกษาออกมาในทางตรงกันข้ามคือ มีโอกาสที่หลอดเลือดตีบตันเนื่องจากมีไขมันเกาะผนังเส้นเลือดสูงกว่าคนวัยเดียวกันที่ไม่ดื่ม ทั้งนี้เพราะแอลกอฮอล์นั้นเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าแป้ง (แอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงาน 7 กิโลแคลอรี ในขณะที่แป้ง 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี) ดังนั้นผู้ที่ดื่มหนักย่อมอิ่มและมีพลังงานเหลือเฟือจนถูกนำไปสร้างเป็นไขมันเพิ่มในเลือดได้

เบต้าแคโรตีนในรูปอาหารเสริม (Beta-carotene supplements)

สารเคมีนี้มีทั้งเกิดในธรรมชาติและสังเคราะห์ในโรงงาน เมื่อเข้าสู่ร่างกายสารนี้ถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ อย่างไรก็ดีมีผลการศึกษาทางระบาดวิทยากล่าวว่า สารอาหารนี้เมื่อกินเป็นอาหารเสริมในปริมาณสูงกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดในคนที่สูบบุหรี่

ข้อมูลดังกล่าวแตกต่างจากงานวิจัยทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่ที่ระบุว่า ผู้ที่กินผักที่มีเบต้าแคโรตีนเป็นองค์ประกอบนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่ำกว่าคนทั่วไป ความแตกต่างนี้อาจเป็นเพราะในผักนั้นมีแคโรตีนอยู่หลายชนิด ทั้งรูปที่เป็น แอลฟา เบต้า แกมม่า เดลตา เอ็พซาลอนและ ซีตา ซึ่งทำงานร่วมกันพร้อมกับสารพฤกษเคมีธรรมชาติอื่น ๆ ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

งานวิจัยที่กล่าวว่า เบต้าแคโรตีนในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่งเสริมการเป็นมะเร็งปอดของผู้สูบบุหรี่นั้น เป็นผลการศึกษาจากโครงการวิจัยชื่อ The Alpha-Tocopherol, Beta-Carotene Cancer Prevention (ATBC) Study และ The Beta Carotene and Retinol Efficacy Trial (CARET) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถอ่านได้จากบทความเรื่อง β-Carotene and lung cancer: a case study ที่ http://ajcn.nutrition.org/content/69/6/1345s.full.pdf+html

ท่านผู้อ่านพึงระลึกว่า เบต้าแคโรตีนนั้นเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยและจำเป็นต่อมนุษย์ เมื่อกินจากอาหารธรรมชาติ เช่น ฟักทอง ใบตำลึง ผักบุ้ง มะม่วงสุก ฟักข้าว ฯลฯ เนื่องจากการกินผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งของเบต้าแคโรตีนนั้นลดโอกาสที่จะได้รับสารนี้ในปริมาณสูงจนก่อความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ที่เป็นได้คือ มีผิวออกสีเหลืองซึ่งเมื่อลดการกินอาหารชนิดนั้นอาการก็หาย ปริมาณอาหารที่กินตามปกตินั้นเป็นตัวกำหนดปริมาณเบต้าแคโรทีนไม่ให้สูงเกินกว่าควร

 

Resource: HealthToday Magazine, No.191 March 2017