กระจกสะท้อน

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
2392

น้องพยาบาลคนหนึ่งที่รู้จักกัน อายุประมาณสามสิบกว่า ๆ มาดักเจอผม เล่าว่าตอนนี้ชีวิตคู่กำลังแย่แล้ว ระดับความสัมพันธ์ของเธอยังไม่ได้ถึงขั้นหย่าร้างกับสามี แต่สามีก็เอ่ยปากขอแยกกันอยู่สักพัก แม้ว่าสุดท้ายสามีจะยอมขอโทษและกลับมาอยู่ด้วยกันตามปกติ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เธอรู้สึกมั่นคงในชีวิตคู่อีกเลยหลังจากเหตุการณ์นั้น ด้วยเหตุนี้เธอจึงมาขอให้ผมช่วยทำ couple therapy (การบำบัดคู่สมรส) ให้กับเธอและสามี

ผมอยากจะช่วยพยาบาลคนนี้อยู่เหมือนกัน แต่งานบำบัดคู่สมรสเป็นงานที่ยากและใช้พลังงานทางจิตมาก อีกทั้งก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญเฉพาะของผม แต่เมื่อมาคิดดูแล้วความอยากช่วยก็ชัดเจนกว่าเมื่อนึกถึงลูกน้อยของพยาบาลท่านนั้นที่ผมเคยเล่นด้วย การช่วยให้เด็กคนหนึ่งมีความสุข ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่ของเด็กคนนั้นย่อมเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่ได้กำลังช่วยสองชีวิต แต่กำลังทำเพื่อชีวิตที่สาม (และสี่ ถ้ามีลูกเพิ่มในอนาคต) คิด ๆ ดูแล้วก็เลยตอบตกลงว่าจะช่วยคุยให้

ผมนัดทั้งน้องพยาบาลและสามีมาที่ออฟฟิศของผมในเย็นวันหนึ่ง น้องพยาบาลดูดีใจที่มีโอกาสที่อาจจะทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น แต่สามีของเธอซึ่งทำงานเป็นนักลงทุน (ได้ยินว่าเล่นหุ้นจนรวยมาก) หน้าตาดูเซ็ง ๆ ไม่สดชื่น ผมทักทายทั้งคู่โดยเฉพาะสามีเนื่องจากไม่เคยเจอกันมาก่อนจึงต้องคุยด้วยเยอะหน่อย จากนั้นผมถามทั้งคู่ตรง ๆ ว่า ที่มาคุยกับผมวันนี้คาดหวังอะไรบ้าง ตัวภรรยายิ้มและเริ่มมีน้ำตา บอกผมว่าอยากเข้าใจสามีและอยากให้สามีเข้าใจ ส่วนสามีพอเห็นภรรยามีน้ำตาก็เอามือมาจับภรรยาไว้เบา ๆ (ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่ดี) แล้วตอบว่าที่มาวันนี้ไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษ

“เวลาที่ได้ยินภรรยาบอกว่าอยากเข้าใจคุณและอยากให้คุณเข้าใจเนี่ย ได้ยินแล้วคิดยังไงบ้างครับ”

“ผมก็มีอะไรที่อยากให้เขาเข้าใจผมเหมือนกัน”

“โอเคครับ งั้นเป้าหมายวันนี้เป็นเรื่องความเข้าใจเนอะ อ่ะ…ใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้นพูดก่อนครับ”

ตัวภรรยายกมือขอเริ่มก่อน สามีก็พยักหน้าอนุญาต เธอเริ่มเล่าถึงชีวิตของพยาบาลคนหนึ่ง งานหนักและเครียด ปัจจุบันพยาบาลวิชาชีพลาออกจากโรงพยาบาลรัฐเยอะมาก เพราะติดขัดเรื่องรายได้ สวัสดิการ หรือความสงบสุขในชีวิต เช่น ความขัดแย้งในองค์กร ภาระงานที่สั่งลงมามากมายจนทำรายงานส่งขึ้นไปไม่หวาดไม่ไหว เธอบ่นด้วยความน้อยใจอย่างยืดยาว

“แล้วมันส่งผลถึงชีวิตคู่ยังไงบ้างครับ” ผมดึงกลับมาที่ปัญหาความสัมพันธ์

“ก็พอไม่มีคนทำ งานก็หนักขึ้น เครียดขึ้น กลับมาบ้านก็หมดแรง รู้สึกเหนื่อย ไม่พร้อมจะทำอะไร อยากนั่งเฉย ๆ สบาย ๆ บ้าง ไม่ได้อยากจะไม่ทำหรอกนะงานบ้าน แต่มันไม่มีเวลา แล้วพอคนออกเยอะขึ้น เวรก็ถี่ขึ้นอีก แฟนหนูอาจจะรู้สึกว่าหนูไม่มีเวลาให้ทางบ้าน”

“ตรงนี้ผมขอพูดอะไรหน่อย ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องไม่มีเวลาครับ ที่จริงก็กลับถึงบ้านตั้งแต่หกโมงแหละ แต่กลับมาแล้วก็นอนเล่นโทรศัพท์ไปเรื่อย ๆ ผมเสียอีกกลับมาค่ำ เจอว่าจานก็ไม่ได้ล้าง บ้านช่องก็รก พอผมผิดหวังไม่พอใจก็โกรธผมที่โกรธใส่เขา แต่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าทำไมผมถึงโกรธ” สามีแย้งด้วยน้ำเสียงเซ็ง ๆ พอสามีแย้งภรรยาก็เริ่มชักสีหน้า บอกผมว่า “ก็ทำงานกลับมันก็เหนื่อยแล้ว หนูมีโรคประจำตัวคือปวดหัวไมเกรนด้วย ที่นอนนิ่ง ๆ นั่นคือวันนั้นปวดมันกำเริบ เลยต้องพยายามทำอะไรให้มันเบี่ยงเบนความสนใจจากความปวดไป เขาไม่เคยจะเห็นข้อดีอะไรของหนูบ้างเลย วันที่ทำอะไรให้เยอะแยะก็มี ไม่เห็นชื่นชม พอนอนพักปุ๊บก็ไม่พอใจ เอาแต่ทำหน้าบึ้งใส่”

“ผมว่าเขาเสพติดอินเตอร์เน็ตแล้วครับหมอ พวกคนเสพติดอะไรก็ไม่ค่อยเห็นปัญหา หมอลองรักษาเขาหน่อยสิครับ”

“คนเราจะใช้เวลากับเรื่องอะไรมันก็ชีวิตของเขาไม่ใช่เหรอคะ ทีแฟนหนูเขาเล่นเกม อ่านนิยาย ดูหนังฟังเพลง เขาก็นั่งทำเงียบ ๆ ของเขาไป ไม่เห็นมองว่าตัวเองไร้สาระบ้างเลย”

คุณสามีเลิกคิ้ว พูดโต้ตอบด้วยเสียงที่ดังขึ้น “โอ้โหคุณ ปริมาณมันเทียบกันไม่ได้เลยนะ อีกอย่างถึงผมจะเล่นเกม อ่านการ์ตูน แต่ผมก็ทำหน้าที่ผมแล้ว ผมหาเงินให้คุณใช้จ่าย ให้คุณทุกอย่าง ผมไม่เคยบกพร่องหน้าที่ผม แต่ที่คุณนอนเล่นเนี่ย คุณทำหน้าที่คุณแล้วหรือยัง ดูแลบ้านได้ดีแล้วหรือยัง ผมกลับบ้านมาเห็นภรรยาเล่นมือถือเครื่องนึง ลูกยังเล็กแต่นั่งดูไอแพดอีกเครื่องนึง ผมก็ขึ้นเลยสิครับ”

ตอนนี้ผมผู้ซึ่งวางแผนว่าจะมาช่วยสามีภรรยาคู่นี้กลับถูกดูดเข้าไปในวังวนของปัญหาระหว่างเขาทั้งสอง ผมยกมือหยุดทั้งสองคนแล้วพูดว่า “เอ่อ…ตอนนี้มันกลายเป็นการถกเถียงกันแล้วแหละครับ ผมว่าคงไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างที่ตั้งใจกันแน่ ๆ”

“เดี๋ยวก่อนค่ะอาจารย์ คือหนูก็ยังรักสามีนะคะ หนูรู้ว่าหนูมีบางส่วนที่ทำได้ไม่ดีนัก เพียงแต่อยากให้เขาเห็นใจหนูบ้าง เวลาหนูเหนื่อย ไมเกรนขึ้น อย่าเพิ่งโกรธ พอเห็นหน้าเขาโกรธ เห็นเขาหงุดหงิดแล้วบรรยากาศบ้านมันไปหมดเลยค่ะ”

“ผมไม่ได้เป็นคนใจร้ายอยากกดขี่ภรรยานะครับ แต่ผมก็มีลิมิตครับ คือปวดหัวจะพักนี่ไม่ว่าครับ แต่มันก็กลายเป็นว่าไม่ทำงานบ้าน อยู่เฉย ๆ เพราะบอกว่าปวดหัว ๆ ทุกที ผมก็ไม่ไหวแล้วครับ”

“คุณกำลังหาว่าฉันแกล้งปวด ขี้เกียจ สำออย” ดูเหมือนพอพูดถึงเรื่องนี้ ภรรยาก็โกรธทันที

“อ้าว…ไม่รู้สิ ผมก็ไม่แน่ใจแล้วตอนนี้ ถ้าคุณอยากหายป่วย สุขภาพดี ทำไมไม่ออกกำลังกายล่ะ เอาแต่นอนนิ่ง ๆ เล่นโทรศัพท์ ผมเรียก คุณก็ไม่หือไม่อือ จนผมไม่แน่ใจแล้วนะว่าในสายตาคุณ ผมหรือโทรศัพท์สำคัญกว่ากัน”

ผมคิดว่าเมื่อครู่เบรคการทะเลาะไปได้รอบหนึ่ง ตอนนี้กำลังจะมียกสองเกิดขึ้นอีกแล้ว แต่จากการติดตามบทสนทนานี้ ผมนึกถึงอะไรบางอย่างที่อยากจะบอกแก่ทั้งคู่ “ทั้งคู่ครับ ตอนนี้ผมขอชวนหยุดกันสักพักนึงครับ ผมสังเกตอะไรในบทสนทนาออกบางอย่าง ผมสังเกตว่าพวกคุณโกรธเพราะมุมมองของอีกฝั่งที่มีต่อตัวคุณ” ทั้งสองคนหยุดคิดเล็กน้อย แต่เดาได้ค่อนข้างชัวร์ว่ายังไม่เข้าใจสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อ “เช่น (ผมผายมือไปทางภรรยา) พอคุณสังเกตสีหน้าสามี คุณคิดว่าสามีมองว่าคุณเป็นยังไง”

“เป็นภรรยาที่…แย่มาก น่าผิดหวังมาก ๆ”

จากนั้นผมหันไปถามสามี “ส่วนคุณสามีตอนที่เมียนั่งเล่นมือถือ เรียกแล้วก็ไม่มอง คุณรู้สึกว่าภรรยามองคุณยังไง”

“เหมือนผมไม่มีตัวตน ไม่มีความหมายในสายตาเขาเลย”

“แล้วจริง ๆ คุณทั้งคู่มองว่าตัวเองเป็นอย่างที่อีกฝ่ายทำให้รู้สึกไหม”

สามีตอบผมว่า “ก็ไม่นะ ผมทำงานในบริษัทก็เป็นคนสำคัญนะ เดินผ่านนี่ใคร ๆ ก็ทัก ขอนั่นขอนี่ แต่พอกลับบ้านมาแล้วมันแบบ โอ้โห…ตูนี่โนบอดี้มากเลยอ่ะ มันโกรธ”

“แล้วทางคุณภรรยาล่ะครับอยู่ที่ทำงานเป็นยังไง”

“งานมันก็หนักนะ แต่พอเราช่วยใครได้ก็ดีใจ คนไข้และญาติรักเรา มีอะไรก็เรียกหาเรา แต่พอเจอหน้าสามีแล้วมันแบบ…รู้สึกเลยว่าฉันแย่มาก ไม่มีอะไรดีเลย ไม่มีอารมณ์จะทำอะไรให้ดีขึ้น เพราะว่าเขาไม่เคยเห็นฉันดีพอเลย” พูดแล้วคุณพยาบาลก็ร้องไห้ เธอหันไปหาสามีแล้วพูดเสียงแสนจะเศร้าสร้อย “โดยเฉพาะวันที่เธอเก็บของออกจากบ้านไป วันนั้นฉันรู้สึกพังทลาย ไม่เหลือความดีอะไรเลย ฉันเฝ้าคิดแต่ว่าฉันเป็นภรรยาที่แย่มาก แย่จนถูกสามีทิ้ง”

ผมส่งทิชชู่ให้คุณภรรยา และบอกกับทั้งสองคนว่า “สังเกตไหมครับ ที่คุณทั้งคู่รับไม่ได้คือภาพสะท้อนที่อีกฝ่ายทำให้คุณเห็น คนอื่นจะเหมือนเป็นกระจกบานหนึ่งที่สะท้อนภาพเรากลับมา มนุษย์เราไปส่งกระจกดูหน้าตาตัวเองเราก็ย่อมอยากดูดี เราอยากได้ภาพสะท้อนที่ดี มันไม่ใช่แค่เขาดีต่อเราหรือเปล่าแค่นั้น แต่มันรวมถึงสิ่งที่เขาทำนั้นส่งผลทำให้เราเห็นว่า เราดี”

สามีเห็นภรรยาร้องไห้ก็ขยับตัวมาใกล้ชิดขึ้น พยายามจะกอดปลอบ ลูบหลัง (ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี) เขาบอกกับภรรยาว่า “ที่ผ่านมา เราก็ต่างทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่เนอะ เอ่อ…ผมขอโทษนะ”

ผมหันไปหาคุณสามีว่า “แต่ผมคิดว่าวันที่คุณเก็บของออกจากบ้านไปนั้นมันก็คงเพราะสะท้อนอะไรบางอย่างที่เกิดจากภรรยาเหมือนกันใช่ไหม”

คุณสามีนึกอยู่สักพักก็เล่าว่า วันนั้นบรรยากาศก็เหมือนช่วงนี้ เขาพูดถึงปัญหาที่เขาเห็นในครอบครัว แต่ภรรยาก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร “ผมคิดว่าถ้าเขาเห็นผมสำคัญ เขาต้องยอมทำอะไรเพื่อผมบ้าง ผมเห็นว่าเขาทุ่มเทกับงาน กลับมาบ้านก็หมดแรง ถ้าผมสำคัญก็ต้องช่างหัวที่ทำงานบ้าง แล้วหันมาให้เวลากับผมแทน วันนั้นผมยื่นคำขาดว่าจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อผมไหม เขาปฏิเสธ ผมเลยคิดว่าผมจะอยู่กับเขาไปทำไมถ้าเขาไม่เห็นว่าผมสำคัญแล้ว” เขาเล่าอย่างน้อยใจ

“ตอนนั้นคุณคงเจ็บปวดจากภาพสะท้อนจากภรรยาว่าคุณเป็นไม่สำคัญ แล้วอะไรทำให้คุณกลับมาอยู่ด้วยกันได้”

“ผมสงสารเขา สงสารลูก ผมรู้ว่าไม่มีผม เขาอยู่ไม่ได้หรอก และผมไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา ผมเลยต้องกลับมา โอเค ผมผิดเอง จริง ๆ ผมรักคุณ รักลูก ผมรักครอบครัวของเรา” ฝั่งภรรยาพอได้ยินก็ร้องไห้หนักขึ้น แต่มือของทั้งคู่ยังคงจับไว้

“พอสามีคุณพูดแบบนี้ ภาพสะท้อนที่คุณรับรู้ได้คืออะไร”

“เขายังรักเรา เราก็ยังมีอะไรดีอยู่บ้างมั้งเขาถึงกลับมา”

“สามีคุณเคยทำอะไรให้คุณรู้สึกว่าคุณช่างเป็นภรรยาที่แสนดีบ้างไหม ลองนึกถึงสักหนึ่งเหตุการณ์สิครับ”

“หนูนึกถึงวันแต่งงานตอนที่เขาพูดบนเวที เขาบอกว่าเราคือคู่ชีวิตที่เขาเลือก เพราะเราคือผู้หญิงที่ดีที่สุดสำหรับเขา ตอนนั้นฟังแล้วเชื่อสนิทใจ”

“ก็ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ น่ะสิ” สามีพูดแบบเขิน ๆ ทั้งคู่ยิ้มออกมาน้อย ๆ

“แล้วฝั่งคุณสามีละครับ เหตุการณ์อะไรสักหนึ่งเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกกับตัวเองว่าฉันช่างเป็นสามีที่แสนดีบ้างครับ”

สามีหลับตาทำท่าค้นหาความทรงจำอยู่พักหนึ่ง “มีอยู่ปีนึงตอนที่ยังไม่มีลูกกัน ผมพาเธอไปเที่ยวยุโรป เราเที่ยวแบบตะลอนไปหลายประเทศ เมื่อกี้ตอนหลับตาผมนึกถึงชีวิตช่วงนั้น นึกถึงรูปที่เราถ่ายที่ประเทศต่าง ๆ แต่มันนานมากแล้ว เกือบสิบปีได้ เราไปเที่ยวกันอีกครั้งดีไหม” สามีพูดขึ้นมา ภรรยาเงยหน้าขึ้นมามอง

ผมถามคุณพยาบาลผู้เป็นภรรยาของเขา “พอสามีบอกว่าจะพาคุณไปเที่ยวอีกครั้ง คุณได้ภาพสะท้อนว่ายังไงบ้าง”

“เขายังอยากไปไหนกับเรา เขายังเห็นเราเป็นคู่ชีวิตอยู่”

“เป็นภาพสะท้อนที่ดีใช่ไหมครับ แล้วคุณสามีละครับ พอได้เอ่ยปากชวนภรรยา ตอนนี้มองตัวเองเป็นยังไงบ้าง”

“รู้สึกดีที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขครับ รู้สึกว่าเรานี่ก็เจ๋งแฮะ มีปัญญาพาลูกเมียไปเที่ยว”

“ตรงนี้ผมอยากให้สังเกตว่า เรื่องพวกนี้มันไป ๆ กลับ ๆ ในการสื่อสารได้นะครับ เช่น พอคุณดีกับเขา เขารู้สึกดี มันก็ย้อนกลับไปทำให้คุณมองว่าคุณดีได้ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนพอรู้สึกเป็นลบกัน เขาทำให้ฉันรู้สึกแย่ มันก็เป็นภาพสะท้อนแย่ ๆ ย้อนกลับไปสู่เขา เช่น ถ้าคุณคิดว่าภรรยาขี้เกียจ ภรรยาได้ภาพสะท้อนไปว่าฉันเป็นไม่เอาไหนเลย ก็ไม่ชอบ หันไปทำงานดีกว่า เพราะคนที่ทำงานให้ภาพว่าฉันเป็นคนดี ช่วยเหลือคนอื่นได้ พอคุณภรรยาหันไปทำงานเยอะก็สะท้อนภาพกลับมาที่สามีว่าเธอไม่สำคัญเท่างานของฉัน  สามีได้ภาพสะท้อนนี้มาก็โกรธทำหน้าบึ้ง พอภรรยาเห็นหน้าบึ้งก็สะท้อนกลับมาว่าฉันเป็นภรรยาที่น่าผิดหวังเหลือเกิน ฉันไม่เคยดีในสายตาเธอ” ระหว่างที่พูดผมก็เอามือชี้สลับไปมาระหว่างทั้งคู่ว่าภาพสะท้อนมันไปกลับระหว่างกันอย่างไร ดูทั้งคู่พอจะเข้าใจอะไรมากขึ้น

“ตอนนี้คุณทั้งคู่คงเข้าใจแล้วว่าคุณต่างเจ็บปวดจากอีกฝ่ายเพราะอะไร คุณก็คือกระจกที่จะสะท้อนภาพของอีกฝ่ายนะครับ หมออยากให้คุณทั้งคู่ลองคิดกันดูว่าเราจะให้อีกฝ่ายมีภาพสะท้อนที่สวยงามขึ้นได้อย่างไร เพราะที่จริงสิงนั้นก็จะสะท้อนความดีงามกลับมาที่คุณด้วยเหมือนกัน”

“ผมก็พอเข้าใจที่คุณหมอเปรียบเทียบนะครับ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไงครับ” คุณสามีบอกผม

“งั้นเอางี้ก็ได้ครับ ตอนนี้นะครับ มีอะไรที่คุณอยากขอบคุณภรรยาคุณไหมครับ สักหนึ่งเรื่อง ไม่ต้องเรื่องใหญ่ก็ได้”

คุณสามีหลับตา ค่อย ๆ นึกแล้วตอบผม แต่ผมแนะนำให้เขาหันหน้าไปบอกกับภรรยาของเขาเลย “ผมนึกถึงเวลาที่คุณตัดเล็บให้ ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า นึกถึงเวลาคุณดูแลผมตอนผมไม่สบาย ตอนผมเป็นไข้ คุณหายา เช็ดตัวให้ ก็คุณเป็นพยาบาลมืออาชีพนี่นะ” เขาจับมือภรรยาอย่างแน่นแฟ้น ตัวภรรยายิ้มแฉ่ง

“ทางคุณภรรยาล่ะครับ มีอะไรอยากจะขอบคุณสามีคนนี้กลับบ้าง ช่วยสะท้อนภาพดี ๆ กัน”

“เขาเลี้ยงหนูกับลูกมาตลอด เรื่องเงินไม่เคยไม่พอใช้ หนูเสียอีกที่ใช้เปลือง อยากบอกเขาว่าเขาเป็นเสาหลักของบ้าน ถ้าไม่มีเขา แม่ลูกก็อยู่กันไม่ได้ หรือไม่ได้อยู่สบายเท่าทุกวันนี้ บางทีเจอเขาโกรธเลยไม่ชอบ แต่จริง ๆ รู้เสมอนะว่าเขาคือเสาหลักของชีวิตเรา”

“ผม…ภูมิใจนะที่ได้หาเลี้ยงครอบครัว ขอบคุณที่บอกนะ”

ผมชวนสองคนนี้อย่าลืมหลักการนี้ จะทำอะไรคิดถึงภาพที่จะสะท้อนไปสู่อีกฝ่ายด้วย เพราะมันเป็นได้ทั้งเติมพลังใจและบั่นทอนพลังใจของอีกฝ่าย ทั้งคู่ก็พยักหน้าเข้าใจดี และจูงมือกันออกจากห้องของผมไป (ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี)

…..จบ…...

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017