ปัจจัยก่อมะเร็งมีมากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่า 30 – 35% มาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม รายงานกว่า 7,000 เรื่องที่รวบรวมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการกับมะเร็งจากทั่วโลกใน The second expert report on Food, Nutrition, Physical activity, and the Prevention of Cancer: a Global Perspective ได้ยืนยันถึง 7 อาหารที่ก่อมะเร็งได้
อาหารและเครื่องดื่มพลังงานสูง
อาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงระหว่าง 225 – 275 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม โดยเฉพาะพลังงานที่มาจากแป้งและไขมัน อย่างอาหารฟาส์ตฟู้ดหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาหารที่ให้พลังงานสูงเช่นนี้จะเพิ่มความอ้วน และกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้
เนื้อแดงและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์
ไม่ว่าจะเป็นการรมควัน หมักเกลือ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะ แฮม ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการเติมสารไนเตรต ไนไตรต์ เมื่อทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่ย่อยแล้วจะได้สารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรโซ ซึ่งกระตุ้นการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
แอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าชนิดใดก็ตามที่มากเกินควรไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร เต้านม ลำไส้ใหญ่ และทวารหนักอีกด้วย ดังนั้นผู้ชายควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 แก้วมาตรฐาน ส่วนผู้หญิงควรจำกัดไม่เกิน 1 แก้วมาตรฐาน โดย 1 แก้วมาตรฐานเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว หรือเหล่า 1 เป๊ก (30 มิลลิลิตร)
อาหารแปรรูป
โดยเฉพาะการแปรรูปด้วยวิธีหมักเกลือ เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนการบริโภคอาหารหมักเกลือที่ผ่านการตากแห้งร่วมด้วยอย่างปลาเค็ม จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลังโพรงจมูกได้ ทั้งนี้รวมถึงพฤติกรรมติดกินเค็มก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นมะเร็งเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
แม้หลายคนจะเชื่อว่าการเสริมสารอาหารบางชนิดสามารถป้องกันมะเร็งได้ โดยเฉพาะกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระ แต่แท้จริงแล้วการวิจัยในมนุษย์ยังให้ผลไม่ชัดเจน ปัจจุบันจึงยังไม่มีข้อแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยหรือขาดสารอาหารบางชนิดเท่านั้น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดยังก่อให้เกิดมะเร็งอีกด้วย เช่น เบต้าแคโรทีน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ดังนั้นหากต้องการเสริมสารอาหารป้องกันมะเร็งควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารนั้น ๆ แทนจะปลอดภัยกว่า เช่น รับประทานแครอทเพื่อให้ได้เบต้าแคโรทีนเข้าไปลดสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
อาหารที่ปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราและพยาธิ
เช่น ถั่วลิสงแห้ง พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นราจะมีการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ หรือการรับประทานปลาน้ำจืดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก อาจทำให้ได้รับพยาธิใบไม้ตับ เสี่ยงต่อมะเร็งตับเช่นกัน
อาหารปิ้งย่างไฟแรง
ไขมันในอาหารเมื่อผ่านการย่าง โดยเฉพาะการย่างด้วยเตาถ่าน จะเกิดสารก่อมะเร็งกลุ่ม polycyclic aromatic hydrocarbon หรือ heterocyclic amines การย่างหรือการทอดด้วยอุณหภูมิสูงๆเช่นนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมากได้
รู้อย่างนี้แล้ว มาปฏิวัติการกินเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคมะเร็งกันดีกว่าค่ะ
Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018