การฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1763
ฆ่าตัวตาย

เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เด็ก ๆ รู้จักและเข้าใจความตายและการฆ่าตัวตายมากน้อยเพียงใด

ตำราจิตเวชศาสตร์เขียนว่า เด็กอายุ 10 ขวบเข้าใจความตายแล้ว คือเป็นกระบวนการที่มีสาเหตุ เป็นที่สิ้นสุด
หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่หวนกลับ (causality, finality, inevitability, irreversible) อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันว่า เด็กสมัยใหม่เข้าใจความตายเร็วกว่านี้มาก เพราะสื่อสารมวลชนช่วยกันสื่ออยู่ทุกวัน พอมาถึงยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คจึงเป็นที่มั่นใจได้ว่ารู้แน่ ๆ

การศึกษาในเด็กอายุ 7-12 ปี  เกรด 1-5 จำนวน 65 คนพบว่า มีเด็กเกรด 1 เพียงคนเดียวที่ไม่แน่ใจว่าการ
ฆ่าตัวตายหมายถึงอะไร เมื่อเด็กถึงเกรด 3 ทุกคนรู้ว่าการฆ่าตัวตายคืออะไร และสามารถยกตัวอย่างวิธีการทำได้ด้วย

การฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่นต่างกัน การฆ่าตัวตายมักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้นหรือโรคซึมเศร้า โดยที่ในเด็กมักพบโรคสมาธิสั้นร่วมด้วยมากกว่า ในขณะที่วัยรุ่นมักพบโรคซึมเศร้าร่วมด้วยมากกว่า ขอให้ทราบว่าเขียนเช่นนี้มิได้แปลว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะฆ่าตัวตาย ที่จริงแล้วเป็นส่วนน้อยมากเท่านั้นที่จะลงมือทำ อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะทำ

หากพิจารณาลักษณะของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตาย เราพบว่ามี 2 พวก พวกหนึ่งมีอาการซึมเศร้า ขณะที่อีกพวกหนึ่งมีอาการ
ขี้โมโห โดยที่วัยรุ่นมักพบอาการขี้โมโหร่วมด้วยมากกว่า การฆ่าตัวตายในวัยรุ่นจำนวนมากเกิดจากความหุนหัน
พลันแล่นหรือขาดความยับยั้งชั่งใจเสียมาก

เด็ก ๆ เป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วยหรือ?

เด็ก ๆ มีความแปรปรวนของสารสื่อนำประสาทในระบบประสาทส่วนกลางถึงระดับเป็นโรคซึมเศร้าได้ แม้ว่างานวิจัยเรื่องนี้จะก้าวหน้าไปมาก แต่ก็มีข้อสงสัยและข้อคำถามอยู่มากด้วย อย่างไรก็ตามมีความรู้ 2-3 ข้อที่น่าจะเป็น
ความจริง

หนึ่ง ในทางจิตวิเคราะห์ มีคำพูดว่า “once suicide once psychotic” ความหมายคือ การลงมือฆ่าตัวตายเป็นความไม่ปกติเสมอ ต่อให้เป็นการฆ่าตัวตายเชิงสังคมที่มีความหมาย แต่ก็มิใช่เรื่องที่ยอมรับกันโดยไร้ข้อกังขา เช่น การฆ่าตัวตายในบางวัฒนธรรม หรือการฆ่าตัวตายเพื่ออุดมการณ์บางอย่าง มีให้เห็นทั้งในบ้านเราและในทุกประเทศ

การฆ่าตัวตายทางจิตวิเคราะห์เกิดจากการดูดกลืนเอาความรู้สึกผิด ความรับผิดชอบ ความละอายใจ การโทษตนเอง เข้าสู่จิตใจของตนเอง ตนเองเป็นผู้ผิด ไม่สมควรเกิดมา และไม่สมควรมีชีวิตอยู่ จะเป็นเช่นนี้ได้เมื่อผู้ป่วยมีซูเปอร์อีโก (superego) ที่แข็งกระด้าง ไม่ผ่อนปรน ดุร้าย ไม่ปรานี เป็นซูเปอร์อีโกที่หาเรื่องและพร้อมจะลงโทษ เด็กอายุ
5 ขวบมีซูเปอร์อีโกแล้ว และซูเปอร์อีโกนี้ได้มาจากพ่อแม่เป็นสำคัญ

สอง ยาต้านอารมณ์เศร้ารุ่นใหม่ ๆ มีรายงานว่าสามารถเหนี่ยวนำการฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น แม้ว่าจะมีข้อ
ถกเถียงเรื่องนี้มากมาย แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าเราไม่รู้กลไกการเกิดโรคอารมณ์เศร้าและการฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่นอย่างถ่องแท้ พอ ๆ กับที่ไม่เข้าใจกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงระยะยาวของยาต้านอารมณ์เศร้ารุ่นใหม่ ๆ ทั้งหมด ยาหลายขนานมีคำเตือนเรื่องนี้ติดอยู่

จะเห็นว่าน่าทึ่งทีเดียว โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างไรก็ไม่กระจ่าง ยาต้านอารมณ์เศร้าในเด็กและวัยรุ่นทำงานอย่างไรก็ไม่กระจ่าง แต่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มีฝีมือรักษาผู้ป่วยด้วยยาได้จริง ๆ

สาม การฆ่าตัวตายถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมและมีตัวบ่งชี้ งานวิจัยพบว่า สารผลิตภัณฑ์ของ serotonin ที่เรียกว่า 5-hydroxyindoleacetic acid ในน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นทำให้เราควรระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ฆ่าตัวตาย ด้วยสมมติฐานที่ว่าอาจจะทำให้เกิดการผ่าเหล่าในรุ่น
ถัดไป

เด็ก ๆ ผูกคอหรือแขวนคอมากกว่าวิธีอื่น ๆ เด็กมัธยมปลายบางคนสามารถแขวนตัวเองกับลูกบิดประตูในท่านั่ง ในสหรัฐฯ ที่มีปืนแพร่หลาย อันดับสองคือใช้ปืน ไม่ค่อยพบว่าเด็กจะใช้วิธีกระโดดที่สูง ในขณะที่ผู้ใหญ่ใช้วิธีกระโดดตึกมากกว่า

แม้ว่าโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายจะเป็นภาวะทางชีววิทยาและถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่ปัจจัยทางจิตวิทยาก็มีส่วนกระตุ้นด้วย เชื้อเพลิงคือ การถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก โดยที่พ่อแม่อาจจะอยู่ครบ แต่เป็นการถูกทอดทิ้งทางจิตวิทยา ความรู้สึกเปลี่ยวเหงา ไม่มีใคร คือ psychological isolation

ส่วนตัวจุดระเบิดมักเป็น การสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียทางจิตใจ คือ psychological loss เช่น การถูกตัดสัมพันธ์ หรือตีความว่าตนเองถูกตัดสัมพันธ์ ประการหลังนี้คือประเด็น ในคนที่มิได้ป่วยอยู่ก่อนจะไม่ตีความเช่นนี้ ในขณะที่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอาจจะตีความเช่นนี้ คือการตีความที่สมองเป็นผู้สั่งการ มิใช่จิตใจสั่งการ คำพูดประเภทที่ว่าเพราะจิตใจอ่อนแอไม่เป็นความจริง

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018