กินดีอยู่ดี: กินถูกและคุ้มค่า

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
1756
กินดีอยู่ดี

การศึกษาด้านระบาดวิทยาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น มะเร็ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปว่า การเพิ่มปริมาณการกินผักและผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินชนิดต่าง ๆ นั้นช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

ตัวอย่างเช่น

วิตามินเอ ซึ่งเราได้รับโดยตรงจากเนื้อสัตว์และเครื่องใน โดยเฉพาะจากตับ รวมถึงการได้รับทางอ้อมจากอาหารกลุ่มพืชผักและผลไม้ เช่น มะละกอ หัวผักกาดแดง ผักใบเหลืองและเขียวอื่น ๆ ซึ่งเป็นแหล่งให้เบต้าแคโรทีนที่ร่างกายเราสามารถเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอได้

ปรากฏผลจากงานวิจัยในสัตว์ทดลองให้ข้อสรุปที่เป็นความเข้าใจร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ว่า วิตามินนี้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิดได้ โดยมีสมมติฐานกล่าวว่า เนื่องจากวิตามินเอมีคุณสมบัติช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระได้ จึงคอยปกป้องไขมันไม่อิ่มตัวในส่วนที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์หรือผนังส่วนอื่นในเซลล์ (ที่เป็นฐานการทำงานของระบบทำลายสารพิษของร่างกาย) ส่งผลให้ระบบดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์

สำหรับ วิตามินอื่น ๆ และแร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ข้อมูลจากการวิจัยในปัจจุบันค่อนข้างสรุปได้เช่นกันว่า การได้รับ วิตามินต่าง ๆ จากอาหาร 5 หมู่ ในระดับที่แนะนำโดยอิงข้อมูลทางวิชาการคือ RDA ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของอวัยวะภายในร่างกายทำงานได้สมบูรณ์ สามารถลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ รวมทั้งมะเร็งได้ อย่างไรก็ดียังมีข้อน่ากังวลว่า การได้รับสารอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่สูงมาก ๆ (จากการเสริมโดยขาดความรู้) อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการทำงานจนเกิดผลเสียได้

ลด ละ เลิก เหล้า

ในเรื่องของอาหารที่เรากินประจำวันนั้น เมื่อมีการเพิ่มสิ่งที่ควรกินเป็นอาหารแล้ว สิ่งที่ควร ลด ละ เลิก คือ เหล้า (ซึ่งขอกล่าวโดยสรุปในที่นี้) เพราะเป็นเครื่องดื่มที่เมื่อดื่มอย่างไม่บันยะบันยังแล้วมีผลทางอ้อมต่อการลดลงของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย เนื่องจากไปทำลายเซลล์ตับ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่สำคัญในการสร้างโปรตีนหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นถ้าดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นปริมาณเซลล์ตับก็ถูกทำลายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ

ไม่สูบบุหรี่

สำหรับบุหรี่ซึ่งไม่ได้มีคุณสมบัติใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในควันบุหรี่ที่ถูกสูบเข้าปอดนั้น ประกอบไปด้วยสารพิษนานาชนิดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด ตลอดถึงการที่ผู้สูบกลืนควันลงทางเดินอาหารก็เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารและตับ

ข้อมูลจากเว็บต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ตกล่าวถึงสารเคมีอันตรายของบุหรี่ที่ประชาชนยุค 4.0 ควรรู้คือ นิโคติน (เป็นสารที่ทำให้คนติดบุหรี่) ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (สารพิษที่สายลับในหนังมักใช้ฆ่าตัวตายเวลาหนีศัตรูไม่พ้น) ฟอร์มัลดีไฮด์ (สารก่อมะเร็ง) ตะกั่ว (ทำให้โลหิตจาง ปัญญาทึบ และก่อมะเร็ง) สารหนู (ก่อมะเร็งผิวหนังเรียกว่า ไข้ดำ) เบ็นซีน (ก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว) คาร์บอนมอนน็อกไซด์ (ในปริมาณสูงทำให้หมดสติได้) ไนโตรซามีน (สารก่อมะเร็งกลุ่มเดียวกับที่อยู่ในอาหารเนื้อหมัก) โพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน (สารก่อมะเร็งกลุ่มเดียวกับในอาหารปิ้ง ย่าง รมควัน) และอาจมีสารกัมมันตรังสีซึ่งก่อมะเร็งได้เช่น ยูเรเนียม (ขึ้นกับแหล่งที่ปลูก) เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ผู้ที่ดื่มสุราและติดบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ สูงกว่าคนอื่นมาก ความเสี่ยงนี้จึงถูกนำไปกำหนดเป็นปัจจัยหนึ่งในการคำนวณเบี้ยประกันชีวิตที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้ระบุไว้ว่า ต้องสูงเป็นพิเศษ (อ่านรายละเอียดได้ที่ www.tlaa.org/2012/enews_arti_de.php?article_id=12&article_detail_id=49)

เบิกบานใจ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ คือ ความเบิกบานของจิตใจ อยู่ใกล้ธรรมชาติที่สุด หลีกเลี่ยงความเครียดที่ไม่จำเป็นเพื่อตัดปัญหาฮอร์โมนที่อาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ไม่ดี พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายมีระบบต้านทานโรคที่ดี การกินอาหารในปริมาณพอเหมาะ และควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ได้รับการพิสูจน์แล้วในสัตว์ทดลองว่า สัตว์ทดลองที่มีรูปร่างดีมีไขมันตามลำตัวต่ำ มีอายุยืนกว่าสัตว์ทดลองที่ผอมแห้งหรืออ้วน

ว่าด้วยเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งส่วนใหญ่ได้จากสกัดออกมาจากอาหารที่กินเป็นประจำทุกวัน (แต่ก็มีส่วนน้อยที่สกัดมาจากสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยกินมาก่อน เช่น เมล็ดองุ่น เปลือกต้นสน ฯ) ที่น่าสนใจคือ สินค้าบางชนิดเป็นการนำของเหลือในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เปลือก ไส้หรือแกนผลไม้ มาสกัดปรับแต่งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยผสมสารเคมีตามกระบวนการผลิตอาหารสมัยใหม่เข้าไปให้มีลักษณะสัมผัสดูดีนั้น สินค้าลักษณะนี้อาจเหมาะและจำเป็นต่อผู้บริโภคที่มีปัญญาหาเงิน แต่ไร้โอกาสกินอาหารครบ 5 หมู่ เพราะเริ่มทำงานแต่ไก่โห่ และกลับถึงบ้านหลังไก่ขึ้นคอนนอนแล้ว

ดังนั้นผู้ที่ใส่ใจหาความรู้และมีเศรษฐานะดีพอ ควรทำตามข้อแนะนำของนักวิชาการด้านสุขภาพ กล่าวคือ ในอาหารโดยรวมของทั้งวันควรมี แป้ง ผัก ผลไม้ ไขมัน และเนื้อสัตว์ ในสัดส่วนที่เหมาะสม (คือ ผักผลไม้ครึ่งหนึ่ง และอาหารแป้ง ไขมันและเนื้อสัตว์รวมกันอีกครึ่งหนึ่ง) โดยสลับสับเปลี่ยนชนิดของอาหารในแต่ละกลุ่ม การกระทำดังนี้ควรทำให้ผู้บริโภคได้สารอาหารที่ผู้ประกอบการมักนำไปทำเป็นอาหารเสริมครบอยู่แล้วอย่างพอเพียง จึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อมากินให้เหนื่อยแรงกลืนเม็ดอาหารที่คล้ายยา

ประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีโอกาสกินอาหารดีและอร่อยแล้ว ก็ควรยับยั้งชั่งใจในการที่กินแต่พออิ่ม เพราะความอ้วนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนซึ่งควรอยู่ในโลกนี้นาน ๆ กลับต้องจากไปก่อนเวลาอย่างน่าเสียดาย

ต่อคำถามที่มักอยู่ในใจผู้บริโภคเป็นประจำคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า อาหารที่กินแต่ละวันนั้นพอเหมาะกับตนเองแล้ว คำตอบง่าย ๆ คือ ถ้ารูปแบบการบริโภคอาหารนั้นเหมาะสมแล้ว ผู้บริโภคมัก กินได้ ถ่ายสะดวก หลับสบาย ไม่ใคร่เป็นหวัด อาจมีคัดจมูกเพราะแพ้อากาศบ้างเท่านั้น อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องทำเป็นประจำคือ การออกแรงกายให้ได้เหงื่อในแต่ละวัน ไม่ว่าเป็นการเดิน การงดใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ตลอดไปจนถึงการได้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายบ้างในแต่ละสัปดาห์ เหล่านี้ควรทำให้ผู้บริโภคมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ซึ่งจะกล่าวใน
บทต่อไป

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018