ปวดต้นคอ เป็นอาการกวนใจที่น่าเบื่อหน่ายและน่ารำคาญมากที่สุดอาการหนึ่ง มักมีสาเหตุมาจาก ท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ทว่าหลายครั้งที่อาการปวดต้นคอไม่ได้มีสาเหตุแค่นั้น แต่แอบซ่อนโรคอื่น ๆ เอาไว้ เช่น
- ปวดต้นคอจากกระดูกคอเสื่อม
- ปวดต้นคอจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
- ปวดบริเวณคอที่เป็นผลลามมาจากการติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
- ปวดต้นคอจากการกระทบกระแทกจากอุบัติเหตุบริเวณคอ
อาการปวดต้นคออาจไม่ได้หยุดอยู่แค่การปวดหนึบ ๆ กวนใจที่ต้นคอเท่านั้น แต่มักจะมีอาการตึงแข็งบริเวณต้นคอที่ทำให้รู้สึกว่าขยับคอได้ลำบากร่วมด้วย อาการปวดแปลบ ๆ เหมือนถูกแทงหรือปวดร้าวบริเวณต้นคอไปจนถึงหัวไหล่ หรือแม้กระทั่งร้าวลามมาถึงใบหน้าหรือกรามได้
สัญญาณเตือนควรไปพบแพทย์
- ปวดมากจนกระทั่งต้องตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืน (Awakening pain)
- มีไข้ร่วมด้วย อาจมีอาการปวด บวม แดงร้อน ร่วมกับคลำได้ก้อนแข็ง ๆ บริเวณลำคอ เป็นสัญญาณของการติดเชื้อบริเวณลำคอ หรืออาจมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอร่วมด้วย
- มีอาการแขนชาหรือแขนอ่อนแรง อาจมีลักษณะอาการปวดเหมือนโดนไฟช็อตร้าวไปถึงปลายนิ้วมือ ร่วมกับความรู้สึกว่ามือข้างหนึ่งมีแรงน้อยกว่าอีกข้าง อาจมีอาการชาบริเวณปลายนิ้ว โดยอาการเหล่านี้มักเป็นมากขึ้นเมื่อเอียงคอไปมา อาจเป็นสัญญาณของเส้นประสาทบริเวณแขนถูกกดทับจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- เคยมีอุบัติเหตุที่รุนแรงบริเวณลำคอ และอาการปวดไม่หายไปและไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นสัญญาณว่าเกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกบริเวณคอได้ โดยเฉพาะถ้ามีอาการในข้อ 3 ร่วมด้วย
วิธีป้องกัน
- จัดท่าทางการทำงานให้สบายและเหมาะสม ไม่ก้ม เงย หรือเกร็งบริเวณต้นคอมากเกินไป
- จัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้อยู่ในระดับสายตา
- หมั่นพักยืดเหยียดต้นคออยู่เรื่อย ๆ หลังจากทำงานเป็นระยะ ๆ
- งดการใช้คอหนีบมือถือเอาไว้ อาจฟังดูตลก แต่จริง ๆ แล้วการหนีบมือถือไว้ที่คอเป็นเวลานาน ๆ นั้นเป็นสาเหตของการปวดคออย่างหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับใครที่มักจะปวดต้นคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้า แนะนำให้กลับไปสำรวจหมอนของตัวเองดูว่าเหมาะสมหรือไม่ หมอนที่ดีควรจะจัดท่าทางให้ศีรษะอยู่ในระนาบเดียวกับลำตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อคอขณะหลับ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าอาการ ‘ตกหมอน’ นั่นเอง
เทคนิคแก้อาการปวดต้นคอ
ใครที่มีอาการปวดต้นคอแล้ว นอกจากการปรับพฤติกรรมไม่ให้ทำร้ายลำคอของตัวเองมากขึ้นไปกว่าเดิม ก็มีวิธีแก้ไขอาการปวดต้นคอที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ดังนี้
- ใช้ยาแก้ปวด ไม่ว่าจะแบบนวดทาหรือแบบรับประทาน แต่เบื้องต้นแนะนำให้ลองใช้แบบทาดูก่อน เนื่องจากการทายาในบริเวณที่ปวดร่วมกับการนวดไปด้วยนั้นเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณคอที่ดี กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาบริเวณกล้ามเนื้อที่เกร็งค้างได้ดี และทำให้คลายจากอาการปวดได้เร็ว ส่วนการรับประทานยานั้น ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งเพื่อป้องกันและระวังผลข้างเคียงจากยา
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณคอ
- ใช้ผ้าอุ่นประคบบริเวณที่ปวด เช่นเดียวกับการนวดบริเวณต้นคอ การใช้ผ้าอุ่นประคบเป็นการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน และลดอาการเกร็งค้างของกล้ามเนื้อบริเวณคอได้
ที่สำคัญที่สุดก็คือการปรับท่าทางการทำงานให้เหมาะสม เพราะถึงแม้ว่าเราจะสามารถรักษาอาการปวดต้นคอด้วยตัวเองได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าต้องกลับไปสู่สภาวะแวดล้อมเดิม ๆ ที่ทำให้ปวดต้นคอ ไม่นานก็จะกลับมาปวดได้อีก ดังนั้น การปรับสภาพแวดล้อมและการปรับพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะป้องกันตัวเราให้ห่างไกลจากอาการปวดต้นคอได้ในระยะยาว
สุดท้ายนี้ขอส่งกำลังใจให้ชาวออฟฟิศทุกคนทำงานกันอย่างมีความสุข ไร้อาการปวดต้นคอมากวนใจนะคะ
Resource: HealthToday Magazine, No.202 February 2018