ถ่ายเป็นเลือด

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
2146
ถ่ายเป็นเลือด

สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน คอลัมน์ของเราในเดือนนี้จะมาพูดกันถึงเรื่องของการขับถ่ายค่ะ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า…ถึงแม้ว่าการขับถ่ายจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มักจะเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยอยากจะพูดถึงกันสักเท่าไร แต่ฉบับนี้…เราจะมาเจาะลึกกันถึงเรื่องที่หลายคนอาจจะเคยประสบพบเจอมาก่อน นั่นก็คือ การถ่ายเป็นเลือด หรือการถ่ายแล้วมีเลือดปนนั่นเองค่ะ

ถ่ายเป็นเลือด ไม่จำเป็นต้องเป็นสีแดงเสมอไป

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของการถ่ายเป็นเลือด เรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า การถ่ายเป็นสีแดงนั้นไม่ได้หมายถึงการถ่ายเป็นเลือดเสมอไป เพราะการถ่ายเป็นสีแดงนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การกินอาหารที่มีสีแดง การกินยาบางชนิด

ส่วนการถ่ายเป็นเลือดนั้นไม่จำเป็นว่าต้องถ่ายเป็นสีแดง แต่อาจจะถ่ายออกมามีสีดำเนื่องจากเลือดที่ออกมาในทางเดินอาหารจะสัมผัสกับน้ำย่อยและถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นสีดำในช่วงที่อยู่ในทางเดินอาหาร ต่อเมื่อเลือดออกในจุดที่ใกล้กับทวารหนักหรือมีเลือดออกมาเป็นปริมาณมากจนเอนไซม์ในลำไส้ไม่สามารถย่อยได้ทันเท่านั้น เลือดที่ออกมากับอุจจาระจึงจะเป็นสีแดงสดเหมือนกับเลือดที่เคยเห็น ๆ กันค่ะ

ทำไมจึงถ่ายเป็นเลือด

สาเหตุของการถ่ายเป็นเลือดนั้นอาจจะพอบอกได้คร่าว ๆ จากลักษณะของอุจจาระและเลือดที่ออก โดย…

  • เลือดที่ออกจากทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จะผ่านการย่อยและหมักจากเอนไซม์มาเป็นเวลานาน เลือดที่ออกมาจะเป็นสีดำสนิทเหมือนยางมะตอย และมีกลิ่นเหม็นคาวมาก (melena) อาจจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือดร่วมด้วย
  • ในกรณีที่ถ่ายเป็นเลือดสีแดงสด ๆ ส่วนมากมักจะมีลักษณะเป็นเลือดสดหยดตามก้อนอุจจาระลงมา กลุ่มนี้มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของบริเวณทวารหนัก ถ้ามีอาการเจ็บขณะขับถ่ายด้วยมักจะเกิดจากทวารหนักฉีก (anal fissure) กลุ่มนี้มักจะมีประวัติถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ๆ มาก่อน ทำให้บาดบริเวณทวารหนักจนเป็นแผล ถ้าไม่มีอาการเจ็บแต่ถ่ายเป็นเลือดสดหยดตาม ส่วนมากจะเกิดจากริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoid) อาจจะคลำได้ก้อนบริเวณรูทวารร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

ผู้สูงอายุต้องระวัง!

ในกลุ่มผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) ต้องระวังเรื่องของมะเร็งลำไส้ใหญ่เอาไว้ด้วย ในส่วนนี้…อาการถ่ายเป็นเลือดมักจะไม่รุนแรง อาจจะถ่ายเป็นเลือดทีละน้อยจนไม่ทันได้สังเกตเห็น อุจจาระอาจจะไม่ดำเลยก็ได้ แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดลงอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ถ้าได้ตรวจร่างกายก็จะพบมีความเข้มข้นของเลือดต่ำ อาจจะมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิมร่วมด้วย เช่น ท้องผูกมากขึ้น ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายเป็นก้อนที่เล็กลงเนื่องจากตัวเนื้องอกได้เข้ามาเบียดบังพื้นที่ในลำไส้

วิธีดูแลตัวเอง

อาการถ่ายเป็นเลือดนี้เป็นอาการที่ควรจะได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอาการในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดแล้ว การดูแลตัวเองควบคู่ไปกับการรักษา การรับประทานอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน การขับถ่ายให้เป็นเวลา จะเป็นสิ่งที่ทำให้การรักษานั้นได้ผลในระยะยาว

ว่าด้วยเรื่องของมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน ความชุกของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อย่าเพิ่งตกใจกลัวไปค่ะ เนื่องจากในปัจจุบันวิทยาการในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ก้าวหน้าไปมาก และความสามารถในการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้น ๆ ได้พัฒนาไปไกล ดังนั้นการได้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจึงมีส่วนสำคัญในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ให้หายขาดได้

แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้มีความเสี่ยงมีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีคำแนะนำให้เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นการตรวจอุจาระ ควรจะทำทุกปี ปีละครั้ง และการส่องกล้องตรวจทางทวารหนัก ควรจะทำทุก ๆ สิบปี หรือเมื่อมีอาการที่ชวนให้สงสัยว่าจะมีสาเหตุมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่

ถึงแม้ว่าเรื่องของการขับถ่ายจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าพูดถึง แต่การดูแลและสังเกตตัวเองในเรื่องของการขับถ่ายจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของเรา ดังนั้นอย่าละเลยการให้ความสำคัญกับเรื่องของการขับถ่าย และอย่าลืมไปตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุเข้าเกณฑ์ หรือถ้ามีใครในครอบครัวที่เข้าเกณฑ์ตรวจก็อย่าลืมเชิญชวนกันไปตรวจคัดกรองกันนะคะ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018