โรคไมเกรน เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยประมาณการณ์ว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรนถึงประมาณ 10 ล้านคน โรคไมเกรนไม่ใช่เพียงพบบ่อยเท่านั้น แต่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไมเกรนมองหาการรักษาเนื่องจากความรุนแรงของอาการปวดหัวทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
ไมเกรนไม่ใช่โรคปวดหัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนไข้ไมเกรนมักรู้ดีว่าอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับอาการปวดหัวก็ทำให้เกิดความลำบากและรำคาญไม่แพ้กัน อาการคลื่นไส้ หรือ อาเจียน เป็นอาการที่พบได้ถึงครึ่งหนึ่งของคนไข้ไมเกรน หากใครเคยมีอาการคลื่นไส้จะรู้ได้ว่ามันทรมานไม่แพ้อาการปวด ยิ่งในบางรายมีทั้งอาการผะอืดผะอมร่วมกับอาการปวดด้วยแล้ว ผู้ที่มีอาการคงอยากให้เวลาหมุนผ่านช่วงเวลาที่ลำบากนี้ไปให้เร็วที่สุด
ทำไมไมเกรนต้องมีอาการคลื่นไส้อาเจียน?
อาการปวดของไมเกรนมีจุดกำเนิดวงจรอยู่ที่ก้านสมอง เมื่อคนไข้ไมเกรนถูกสิ่งกระตุ้น สมองจะมีกระบวนการของการกำเนิดความปวด(Pain generation) โดยวิ่งผ่านเส้นประสาทชื่อ ไทรเจมินัล (Trigeminal nerve) ที่ทำหน้าที่รับความปวด แล้วจะมีการหลั่งสารต่าง ๆ ที่กระตุ้นปวดโดยผ่านทางก้านสมอง และที่ก้านสมองนี้เองจะมีตำแหน่งที่ไวต่ออาการอาเจียนอยู่ด้วย (Vomiting trigger zone) ที่เมื่อใดก็ตามที่มีการกระตุ้นสมองส่วนนี้ อาการคลื่นไส้ อาเจียนจะตามมา นอกจากนี้จากการทดลองวัดสารในสมองเมื่อปวดไมเกรน สมองจะมีการหลั่งสารโดปามีนอีกด้วย และสารนี้ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียนในไมเกรนสำคัญอย่างไร?
นอกจากความไม่สบายที่เกิดจากอาการคลื่นเหียนอาเจียนแล้ว อาการอาเจียนที่เกิดจะทำให้คนไข้ตอบสนองต่อยาแก้ปวดไม่ดี เมื่อคนไข้ไมเกรนเกิดอาการปวดศีรษะ ยาแก้ปวดคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยระงับอาการปวดได้ เมื่ออาการคลื่นไส้เกิดขึ้น การเคลื่อนไหวของลำไส้จะผิดปกติ ทำให้การดูดซึมยาแก้ปวดเป็นไปด้วยความลำบาก และผลที่ตามมาก็คือ ยาแก้ปวดไม่ออกฤทธิ์
คนไข้หลาย ๆ คนบ่นว่า เมื่อกินยาแก้ปวดแล้วไม่หายปวด ส่วนหนึ่งนั่นคือ คนไข้ไมเกรนเกิดอาการคลื่นไส้จนทำให้ระบบการย่อยยาสูญเสียไป และบางรายหากมีอาการมากถึงกับอาเจียนเอายาแก้ปวดออกมา และนั่นก็ทำให้ผู้ป่วยอาจจะต้องเสียเวลาไปฉีดยาแก้ปวดที่โรงพยาบาล
ทำอย่างไรหากฉันเป็นไมเกรนที่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนบ่อย ๆ ?
เป็นที่สังเกตว่า อาการคลื่นไส้ อาเจียนในคนไข้ไมเกรนมักสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค นั่นหมายความว่า หากอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก ๆ อาการคลื่นไส้ อาเจียนจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปด้วย ดังนั้นหากไม่อยากจะต้องเผชิญกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน คนเป็นไมเกรนก็ต้องไม่ทนให้อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีทางป้องกันคือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะ เช่น หลบไปอยู่ที่เงียบ แสงไม่จ้า อากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำมาก ๆ และพักเสีย นอกจากนี้หากรับประทานยาแก้ปวดตั้งแต่อาการปวดไม่มากนัก อาการปวดศีรษะจะไม่รุนแรงขึ้น และโอกาสเกิดคลื่นไส้ อาเจียนจะลดลงไปด้วย ซึ่งคนไข้หลาย ๆ คนเข้าใจมาตลอดว่า ยาแก้ปวดควรจะใช้เมื่อมีอาการปวดศีรษะรุนแรงเท่านั้น ซึ่งนี่คือความเข้าใจผิด และอาจทำให้ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไม่ตอบสนองต่อยาได้
แม้มีคนไข้หลาย ๆ คนที่ไม่ค่อยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่มีคนไข้อีกจำนวนมากที่อาการคลื่นไส้ อาเจียนเป็นสิ่งที่เกิดเป็นประจำและหลีกเลี่ยงได้ยาก ในกรณีนี้มีคำแนะนำให้รับประทานยาแก้คลื่นไส้ อาเจียนระหว่างมีอาการปวดศีรษะได้เลย ซึ่งหลาย ๆ คนก็ใช้ร่วมกับยาแก้ปวด ซึ่งจะทำให้การดูดซึมยาแก้ปวดดีขึ้น ทำให้อาการปวดศีรษะหายเร็วขึ้นด้วย ยากลุ่มนี้ เช่น ยา Domperidone หรือ Metoclopramide เป็นต้น ในบางรายหากต้องเดินทางไกลหรือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นได้ยาก อาจใช้วิธีรับประทานยาแก้อาเจียนดักไว้ก่อนอาการปวดศีรษะก็ได้ จะเห็นได้ว่าการรักษาไมเกรนมีเคล็ดลับมากมาย และคนไข้แต่ละรายก็รักษาไม่เหมือนกัน เพียงแต่คุณต้องสังเกตว่า ไมเกรนของคุณเป็นอย่างไร ระดับไหน และอาการร่วมคืออะไร ก็จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นครับ
Resource: HealthToday Magazine, No.218 June 2019