โพสต์ & แชร์

พญ.พรรณพิมล วิปุลกร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
1167

การโพสต์และแชร์กลายเป็นความสามารถพื้นฐานที่ทุกคนทำได้อย่างรวดเร็ว และด้วยความรวดเร็วเราจะได้เห็นการส่งผ่านข้อมูลมหาศาลในแต่ละวัน กระบวนการในการกลั่นกรองและตัดสินใจต่อข้อมูลจำนวนมากทำไปพร้อมกับภารกิจที่ต้องทำในแต่ละวัน เราจะได้เห็นเพื่อนบางคนส่งข้อมูลเข้ามาผิดกลุ่ม เป็นเรื่องเล็กๆ ที่น่ารักที่อาจได้เห็นคุณแม่เผลอคุยกับคุณลูกในกลุ่มไลน์เพื่อนของแม่ เมื่อรู้ตัวเจ้าตัวก็ขอโทษในความพลั้งเผลอ แต่ผลกระทบของการโพสต์และแชร์แบบไม่ทันได้กรองอาจส่งผลมากกว่าที่คิด

หลายคนโพสต์เรื่องเกี่ยวกับตนเองเกือบตลอดเวลา ในทุกกิจกรรม ไปกินข้าว ไปเที่ยว ไปทำงาน ไปเดินเล่น อยู่บ้าน มีลูก ลูกน่ารัก เริ่มพูด เริ่มเดิน ลูกเรียนจบ ลูกแต่งงาน เจออะไร เกิดอะไรขึ้นก็โพสต์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นการบอกเล่าให้ได้พอรู้และร่วมไปกับประสบการณ์ในฐานะเพื่อน คงทำให้เพื่อนทุกคนยินดีไปด้วยกัน แต่ถ้าจำนวนโพสต์เริ่มมาก โดยเฉพาะในแต่ละครั้งแต่ละวัน คงต้องหัดใช้อัลบัม เพื่อนจะเลือกได้เองว่าจะดูพอรู้ หรืออยากจะกดเข้าไปดูเป็นหลายสิบรูป ถ้าเป็นช่วงกำลังเห่อ โพสต์เยอะไปบ้าง แต่ช่วงอื่นเว้นระยะ  เพื่อนก็คงพอเข้าใจได้

การโพสต์เรื่องตนเองมี ข้อควรระวัง ข้อแรกเป็นเรื่อง ความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ การปรากฏบนออนไลน์ แพร่กระจายได้เร็ว ไม่สามารถควบคุมได้ ภาพอาจถูกนำไปใช่ต่อ และตามแก้ไขได้ยาก อย่างกรณีนางแบบที่เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้สถานศัลยกรรมความงามที่ถูกส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนเจ้าตัวตกอยู่ในความตึงเครียด ไม่เฉพาะคนที่มีชื่อเสียงที่ถูกละเมิดเรื่องการใช้ภาพ  คนทั่วไปก็อาจถูกตัดต่อภาพไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ภาพส่วนตัวที่ถ่ายด้วยอารมณ์ขณะหนึ่ง การตัดสินใจโพสต์ด้วยอารมณ์ ภาพที่ปรากฏอาจคงอยู่ระยะยาว และอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก และไม่รู้ว่าในระยะยาวภาพส่วนตัวเหล่านี้จะกลับมากระทบต่อตนเองในภายหลังอย่างไร สำหรับคนที่แชร์ก็ควรเรียนรู้ว่าการแชร์ภาพที่แสดงถึงความทุกข์ของคนอื่นเป็นมารยาทบนออนไลน์ของการใช้พื้นที่ร่วมกันที่จะไม่ส่งต่อภาพทางลบที่มีผลกระทบต่อบุคคล โดยเฉพาะกระทบต่อเด็กที่เขาอาจยังไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขาได้

คนที่ชอบโพสต์ภาพมากๆ ต้องสังเกตตัวเองด้วยว่ามีผลต่อความรู้สึกของตนเองมากน้อยขนาดไหน ถ้าการโพสต์ภาพมีผลต่อความรู้สึกของตนเองมาก อยากแสดงออกมาก อยากให้คนรับรู้ อยากให้คนชื่นชม อยากเป็นที่ยอมรับ เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นบ่อยๆ เปรียบเทียบแล้วมากระทบความรู้สึกของตนเอง ให้เริ่มตั้งหลักกับการใช้ชีวิตออนไลน์  ลดการใช้งานลง  หันมามีกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองรับรู้ มีความสุขกับตนเองให้มากขึ้น มั่นใจมากขึ้น ค่อยกลับไปตั้งหลักใช้งานต่อ

ปัญหาที่กระทบอีกประการมาจาก การรับข้อมูลจากแหล่งที่ไม่สามารถอ้างอิงได้ ทำให้เกิดการส่งต่อจนเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งผู้ใช้งานควรไตร่ตรอง หรือหยุดสักนิดก่อนจะส่งต่อข้อมูลออกไป ว่าข้อความที่ได้รับน่าเชื่อถือได้ระดับไหน ถ้าเป็นภาพ เป็นการตัดต่อหรือไม่ ถ้ายังไม่สามารถเชื่อถือได้หรือระดับต่ำมาก ควรเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง  ข้อมูลบางประเภทแม้จะมีข้อเท็จจริง แต่เป็นการส่งข้อความหรือภาพที่เกิดผลกระทบทางลบต่อบุคคลหรือสังคม การหยุดส่งต่อเป็นการส่งสัญญาณให้เกิดการร่วมใช้งานออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ คิดเสมอว่าหากเกิดเรื่องแบบเดียวกันกับตัวเราหรือคนที่เราใกล้ชิด เราจะรู้สึกอย่างไร บางเรื่องเป็นเรื่องที่สร้างภาพตอกย้ำเชิงลบในสังคมให้กลายเป็นความเคยชินทางสังคม การละเมิดผู้อื่นโดยไม่คำนึงภึงสภาพจิตใจ ตราบาปที่เกิดขึ้นในระยะยาวจะยิ่งก่อให้เกิดความคุ้นชินกับการคิดและสนใจแต่เรื่องของตนเอง ลดความใส่ใจต่อคนที่ลำบากกว่า อ่อนแอกว่า หรือไม่มีโอกาสที่จะมามีที่ยืนทางสังคม

เรื่องสนุกในการส่งต่อหรือเพื่อสนองความต้องการระยะสั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความตระหนักร่วมกันในสังคม ว่าพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้ามาใช้งานร่วมกัน การรับข้อมูลที่มากเกินในแต่ละวัน ส่งผลต่อการเลือกรับข้อมูล และการตัดสินใจ การใช้งานอย่างพอเหมาะ ร่วมกับการยังคงกิจกรรมในแต่ละวันที่ปลอดจากการรับข้อมูลแบบทางเดียว ช่วยให้การเลือกข้อมูลทำได้ดีขึ้น และทำให้หยุดคิดตัดสินใจก่อนการส่งต่อ ตัวเราไม่เป็นคนที่ทำให้ข้อมูลที่เป็นขยะ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมต้องถูกส่งออกไป ยุคสมัยนี้ไม่ต้องกลัวตกข่าว ไม่ต้องรีบ ข้อมูลไม่จริงอยู่ไม่นาน ถ้าไม่ช่วยกันส่งต่อ ก็หายออกจากหน้าจอไปเอง

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.179 March 2016