ฝรั่ง ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
3816

ฝรั่ง (apple guava) เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลางและหมู่เกาะอินดีสต์ตะวันตก คนไทยที่อยู่ต่างถิ่นกันอาจเรียกผลไม้นี้ว่า จุ่มโป มะแกว มะกา มะมั่น มะปุ่น มะก้วย หรือ สีดา ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า คนฝรั่งอเมริกันคงไม่ค่อยชอบกินผลฝรั่งกันนัก เพราะสมัยเมื่อผู้เขียนเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ไม่เคยเห็นมีผลฝรั่งขายในห้างสรรพสินค้าในเมืองที่ไปเรียนหรือเคยไปเที่ยว อีกทั้งไม่เคยเห็นผลฝรั่งอยู่บนโต๊ะอาหารในภาพยนตร์ตะวันตกเรื่องใด

มีผู้สันนิษฐานว่า ฝรั่งโปรตุเกสเป็นคนนำผลไม้ชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และอาจจะเป็นไปได้ว่า คนไทยเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “ฝรั่ง” เนื่องจากฝรั่งเป็นผู้นำเข้ามาปลูกในบ้านเรา โดยปัจจุบันนี้คนไทยนิยมกินฝรั่งสายพันธุ์ไร้เมล็ด กิมจู เวียดนาม แป้นสีทอง กลมสาลี่ เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจดูแลสุขภาพนั้น ฝรั่งเป็นผลไม้ที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เพราะอุดมไปด้วยใยอาหารโดยเฉพาะเพคติน ช่วยทำให้อิ่มนาน ขับถ่ายอุจจาระสะดวกซึ่งเป็นการลดช่วงเวลาของสารพิษที่อาจตกค้างในทางเดินอาหาร จึงเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง

ฝรั่งดิบที่ยังไม่ถึงเวลาสอยนั้นมีรสฝาดสมานจึงใช้ลดอาการถ่ายท้องได้ดี แต่เมื่อใกล้สุกซึ่งผิวของผลเปลี่ยนเป็นเขียวอ่อนออกขาวนั้นเนื้อฝรั่งมีรสหวานพอประมาณ เพราะมีน้ำตาลประมาณร้อยละ 9 คุณลักษณะดังนี้ทำให้ฝรั่งเป็นผลไม้ที่เหมาะในการช่วยปรับระดับการใช้อินซูลินของร่างกายให้เหมาะสม

มีผู้ทำการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของผลไม้พบว่า ฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงกว่าส้มทั่วไปประมาณ 5 เท่า จึงควรช่วยให้ผิวพรรณและเหงือกผู้กินฝรั่งอยู่ในสภาพดี เนื่องจากวิตามินซีนั้นสำคัญมากในการสร้างคอลลาเจน ดังนั้นผู้เข้าประกวดความงามซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องยิ้มค้างควรสนใจกินฝรั่งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มีเหงือกที่สวยงาม การที่ฝรั่งมีวิตามินซีสูงน่าจะช่วยให้นักเรียนและนักศึกษาที่คร่ำเคร่งในการศึกษาตำราก่อนสอบตลอดจนผู้ที่ต้องทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่แปรของไทยมีภูมิต้านทานโรคดี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัด

โดยทั่วไปแล้วฝรั่งที่สุกกำลังดีมักมีผิวสีเขียวออกเหลือง รสหวานกรอบ แต่ถ้าสุกเกินไปเนื้อจะนิ่มขึ้นซึ่งเหมาะแก่ผู้สูงอายุที่มีฟันไม่แข็งแรง ในบ้านเรานั้นนอกจากการกินฝรั่งเป็นผลไม้แล้ว ฝรั่งยังถูกแปรรูปเป็นของกินอย่างอื่นได้อีกหลายอย่าง เช่น ฝรั่งดอง แยมฝรั่ง หรือฝรั่งหยี

มีฝรั่งชนิดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากพันธุ์ที่คนไทยนิยมกินคือ ฝรั่งขี้นก (Wikipedia ใช้คำว่า Thai maroon guava หรือ red apple guava) ฝรั่งชนิดนี้คนไทยไม่นิยมนักเพราะเนื้อค่อนข้างเละและไม่กรอบเหมือนฝรั่งสายพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ดีมีผู้ทำการวิจัยพบว่า ฝรั่งขี้นกซึ่งมีเนื้อสีชมพูนี้มีสารไลโคปีนสูงซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งโดยรวมได้ และที่น่าสนใจคือ ฝรั่งขี้นกนี้เป็นผลไม้ที่ชาวตะวันตกทั่วไปรู้จักและกินกัน โดยกินเนื้อหรือทำเป็นน้ำฝรั่งสีชมพูแดงสวยดี

สมัยเป็นเด็กผู้เขียนเป็นคนไม่ชอบกินฝรั่ง เพราะรู้สึกว่าเป็นผลไม้ที่มีเนื้อสีขาวรสชาติไม่น่าติดใจ แต่พอโตขึ้นได้มีโอกาสกินฝรั่งดอง ก็ค่อยมีความรู้สึกว่าฝรั่งที่ถูกดองแล้วอร่อยดี แต่เมื่อเรียนรู้วิชาด้านโภชนาการจึงทราบว่า ฝรั่งนั้นควรกินเมื่อยังไม่ถูกดอง เพราะการดองทำให้วิตามินซีในฝรั่งสูญเสียไป

ในการกินฝรั่งนั้นไม่ควรปอกเปลือก ทั้งนี้เพื่อคงคุณค่าของสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินซีซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่ามีอยู่มากที่เปลือก และไม่ควรกินมากจนเกินไปเพราะบางคนอาจท้องอืดได้ ที่สำคัญคือ ไม่ควรจิ้มพริกกะเกลือผสมน้ำตาลมากนักเพราะอาจทำให้คุมน้ำหนักลำบาก

ข้อดีของการกินฝรั่งใกล้สุกซึ่งเนื้อยังกรอบอยู่หลังมื้ออาหารคือ ใยอาหารของฝรั่งน่าช่วยทำความสะอาดปากและลดกลิ่นของอาหารที่ค้างตามซอกฟันได้บ้าง โดยเฉพาะกรณีที่ท่านไม่มีโอกาสแปรงฟันหรือบ้วนปากหลังกินข้าวกล่องบนรถทัวร์

เมื่อสอบถามราคาฝรั่งขนาดใหญ่ขายส่งที่ตลาดไทยในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ พบว่าอยู่ที่ 30-50 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นเมื่อผู้ขายเร่ขายต่อผู้บริโภคก็ย่อมแพงขึ้นบ้าง ผู้เขียนจัดให้ฝรั่งเป็นผลไม้ที่ราคาค่อนข้างถูกที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ที่ผลไม้อะไร ๆ ก็แพง เช่น กล้วยน้ำว้าซื้อที่ตลาดนัดวันศุกร์มหาวิทยาลัยมหิดล ต้นเดือนสิงหาคมนั้นราคาหวีละ 40 บาท ทั้งที่เดิมเคยขาย 20 บาท (ดูรายการข่าวตอนเช้าวันหนึ่งของไทยพีบีเอสสำรวจราคาอาหารตามตลาดสดพบว่า กล้วยน้ำว้าผลงาม ๆ ในตลาดสดบางแห่งมีราคาถึงหวีละ 80 บาท) เหตุผลที่กล้วยแพงนั้นแม่ค้าที่สนิทกันบอกว่า กล้วยที่กำลังออกเครือนั้นต้นหักล้มไปเยอะเพราะพายุต้นฤดูฝนปีนี้แรงมาก โดยหวังว่ากล้วยรุ่นใหม่ที่ออกเครือหลังหมดพายุแล้วราคาจะกลับเป็นปกติเหมาะแก่การกินของชาวบ้าน

 

Resource : HealthToday Magazine, No.186 October 2016