เชื่อว่านาทีนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ‘คุณหมอภาคย์’ พ.ท.นพ. ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับการกองพันเสนารักษ์ที่ 3 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘คุณหมอที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ หนึ่งในทีมปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตเด็ก ๆ และโค้ชทีมฟุตบอลทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของคุณหมอภาคย์เกี่ยวกับการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษต่าง ๆ กันมาบ้างแล้ว ซึ่งแต่ละหลักสูตรล้วนมีความยากถึงยากมาก ต้องผ่านการฝึกฝนอันหนักหน่วง คุณหมอภาคย์สามารถผ่านหลักสูตรพิเศษเหล่านี้มาได้อย่างไร มีเทคนิคใดในการเตรียมความพร้อม และได้อะไรจากการฝึกที่ยากลำบากนี้บ้าง ไปค้นหาคำตอบกันได้เลยค่ะ
ก้าวแรกสู่เส้นทาง ‘หมอทหาร’
ด้วยความที่เกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นหมอ ได้เห็นท่านทั้งสองดูแลผู้ป่วยมาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้สัมผัสถึงความสุขของผู้ป่วยและญาติเมื่อได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ ประกอบกับพี่ชายที่อายุห่างกัน 2 ปี สอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ เท่ากับว่าสมาชิกครอบครัวในขณะนั้นล้วนแล้วแต่เป็นหมอ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหมอภาคย์ตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์ และสามารถสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า รุ่นที่ 23
“ระหว่างที่เป็นนักเรียนแพทย์เราจะมีการฝึกทหารไปด้วย รู้สึกสนุกและประทับใจ แต่หลังจากที่เรียนจบมาตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดจะฝึกพิเศษอะไร วางแผนไว้เหมือนกับแพทย์ทั่วไป คือใช้ทุน แล้วเรียนต่อเฉพาะทาง จุดหักเหเกิดขึ้นจากการที่ได้ไปบรรจุในกองพันรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษที่ 5 ทำให้เราเห็นถึงความเข้มแข็งของทหารหน่วยรบพิเศษ รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก ประกอบกับหน่วยรบพิเศษจะต้องผ่านอย่างน้อย 2 หลักสูตรพื้นฐาน ได้แก่ หลักสูตรส่งทางอากาศหรือกระโดดร่วม ซึ่งฝึกจบแล้วตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ อีกหลักสูตรหนึ่งคือ หลักสูตรจู่โจมหรือเสือคาบดาบ หลักสูตรพิเศษเหล่านี้ถือเป็นการฝึกฝนตนเองอย่างหนึ่ง ใครที่ผ่านหลักสูตรก็เหมือนผ่านบททดสอบอย่างหนึ่งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบากได้ในระดับหนึ่ง อันที่จริงการเป็นหมอทหารก็เหมือนกับหมอทั่วไป คือในภาวะปกติก็ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเหมือนกัน แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤต สถานการณ์สู้รบ เสี่ยงภัย หรือเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างที่ถ้ำหลวง ก็จำเป็นต้องมีแพทย์ทหารเข้าไปยังพื้นที่ส่วนหน้าด้วย เราต้องมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานแม้ในภาวะที่อันตราย จึงต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ ๆ ครับ”
ฝึกการรบช่วยค้นพบความจริงของชีวิต
เป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละหลักสูตรการรบพิเศษที่คุณหมอภาคย์ผ่านมานั้นล้วนเต็มไปด้วยความยากลำบาก หิน และโหดมากในสายตาของคนทั่วไป โดยเฉพาะหลักสูตรมนุษย์กบ (SEAL) หรือนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ซึ่งคุณหมอภาคย์เล่าให้ฟังว่าในบรรดา 6 หลักสูตรที่ฝึกมา หลักสูตรนี้ถือว่าหนักที่สุดทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ เพราะต้องใช้ร่างกายและจิตใจเกิน 100% จึงจะสามารถสำเร็จได้ ด้านร่างกายต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นประจำสม่ำเสมอ แล้วด้านจิตใจล่ะ?
“คนที่สามารถผ่านหลักสูตรเหล่านี้ได้ต้องมีมุมมองแนวคิดที่ไม่ย่อท้อต่อความยากลำยาก ต้องพยายามมองหาจุดดี หรือมองให้เรารู้สึกเกิดความฮึกเหิม มีแรงใจตลอดเวลา ถ้าเราคิดว่าไม่ไหวแล้ว เหนื่อยแล้ว มันก็จะไม่ไหวจริง ๆ ไม่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จได้ ดังนั้นที่สำคัญคือต้องให้กำลังใจตัวเองครับ”
นอกจากความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว การฝึกยังทำให้คุณหมอภาคย์มีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตที่ชัดเจนขึ้น ทั้งยังได้หลักคิดนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
“พอฝึกไประดับหนึ่งเราจะรู้ว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมายเกินความจำเป็น เพราะว่าสิ่งที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้คือ ปัจจัย 4 การได้กิน ได้นอน เพราะเราฝึกกันถึงขนาดที่ว่าแค่ได้กินหรือได้ดื่มน้ำสักเล็กน้อยหรือได้นอนสักงีบหนึ่ง ก็เพียงพอให้ชีวิตอยู่ต่อได้ เราได้เรียนรู้ว่าปัจจัยที่จำเป็นจริง ๆ สำหรับชีวิตคืออะไร ทำให้เราห่างจากสิ่งฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ ไปเลยครับ”
ครอบครัว ความเข้าใจ เบื้องหลังความสำเร็จ
ลักษณะงานของคุณหมอภาคย์นั้น หน้าที่หลักคือ ‘การแพทย์ในสนามรบ’ บ่อยครั้งที่คุณหมอต้องเข้าไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งการจะปฏิบัติงานส่วนนี้ได้นั้น ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคุณหมอภาคย์และภรรยา รวมทั้งกำลังใจจาก ‘น้องพาวเวอร์’ ลูกชายวัย 3 ขวบ ทำให้คุณหมอภาคย์สามารถทุ่มเทให้กับภารกิจต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยมีภรรยาและลูกเป็นแรงใจอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
“การจะทำตรงนี้ได้ครอบครัวต้องเข้าใจลักษณะงานของเราว่ามีความจำเป็นต้องเสียสละ จริง ๆ แล้วไม่เฉพาะหน้าที่ของแพทย์ทหารเท่านั้น ผมว่าทุกงานทุกหน้าที่ ครอบครัวมีส่วนช่วยส่งเสริมผลักดันซึ่งกันและกัน อยู่ที่ความเข้าใจ สำหรับผมอย่างแรกเลยคือ ถ้าเราจะให้เขาเข้าใจเรา เราต้องเข้าใจเขาก่อน ให้ความรัก ให้ความเข้าใจ ถ้ามีตรงไหนที่ทำให้เขาไม่สบายใจ เราก็ต้องพยายามอธิบายหรือว่าพูดคุยกัน อย่างตอนไปถ้ำหลวง ก่อนไปก็จะมีการพูดคุยกันก่อน บอกเขาว่าต้องดำน้ำไปอยู่กับเด็ก ๆ สักระยะหนึ่ง อาจจะติดต่อไม่ได้ ซึ่งเขาก็เข้าใจและคอยให้กำลังใจครับ”
ทุกการเริ่มต้นใหม่ ไม่มีคำว่าสาย
ในแง่มุมสุขภาพ คุณหมอภาคย์มองว่าปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นปัญหาที่น่ากังวลมากทั้งในคนไทยและคนทั่วโลก ทั้งที่ความจริงแล้วโรคต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเราควบคุมดูแลดี ๆ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ในระดับที่เห็นผลชัดเจน สำหรับคนที่มองว่าตัวเองอายุมากแล้ว ดูแลไปก็คงไม่ทันการณ์ คุณหมอภาคย์ฝากบอกค่ะว่า ‘ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นใหม่’
“ไม่มีคำว่าสายจริง ๆ ครับสำหรับการเริ่มต้นใหม่ในทุกเรื่อง ขอเพียงลงมือทำ แล้วหนทางจะมาเอง อย่างเรื่องของสุขภาพ อันนี้เป็นประเด็นที่ดีมากที่ผมอยากถ่ายทอด คือ การผลิตหมอในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อประชาชนชาวไทยหรอกครับ จริง ๆ แล้วหน้าที่ในการดูแลสุขภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมอ แต่ขึ้นอยู่กับเราทุกคน ถ้าเราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องหันมาดูแลรับผิดชอบตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย ปัจจัยอะไรก็ตามที่เร่งให้ร่างกายมีสุขภาพย่ำแย่ เช่น เหล้า บุหรี่ ก็ควรหลีกเลี่ยง ถ้าเลิกไม่ได้ก็ควรค่อย ๆ ลด ขอให้ได้ลงมือทำ ถ้าอยากมีชีวิตบั้นปลายที่มีความสุข อายุยืนอย่างมีสุขภาพดีก็ต้องดูแลตัวเอง การพึ่งหมอให้น้อยที่สุดนั้นดีที่สุดครับ”
‘น้อย ๆ แต่บ่อย ๆ’
เทคนิคความแข็งแกร่งในแบบคุณหมอภาคย์
‘คุณหมอที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ คำเรียกนี้ไม่ใช่ได้มาเพราะความบังเอิญ หากแต่มาจากการฝึกฝนและการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ มาดูกันค่ะว่าคุณหมอภาคย์มีเทคนิคในการดูแลตัวเองอย่างไรบ้างจึงได้มีสุขภาพดี ฟิตแอนด์เฟิร์มแบบนี้
“ผมไม่ได้เป็นคนที่ซีเรียสเรื่องอาหารการกินเท่าไร มีอะไรผมก็ทาน แต่ผมจะเน้นเรื่องการออกกำลังกาย อย่างน้อยในหนึ่งวันควรจะมีเวลาออกกำลังกาย งานยุ่งไม่ใช่ปัญหา ไม่มีเวลาไม่ใช่เหตุผลของการไม่ออกกำลังกาย เพราะใช้เวลาแค่หนึ่งนาทีเราก็สามารถออกกำลังกายได้แล้วครับ เช่น วิดพื้นหรือซิทอัพ 10 ครั้งใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีด้วยซ้ำ ถ้าเราสะสมไปทั้งวันรวม ๆ กันก็ได้เป็น 100 ครั้ง ทำติดต่อกันเป็นสัปดาห์ รับรองได้ว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงแน่นอนครับ เรื่องเวลาไม่มีขอให้โยนทิ้งไปได้เลย ใช้เวลานิดเดียว ว่างเมื่อไรก็ทำทีละนิดทีละหน่อย น้อย ๆ แต่ทำบ่อย ๆ นี่แหละครับ ช่วยให้แข็งแรงได้จริงผมรับประกัน”
‘ความคิด คำพูด การกระทำ’
3 สิ่งสำคัญปลุกพลังในตัวเอง
นอกจากเรื่องของความแข็งแกร่งแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของคุณหมอภาคย์คือ ‘รอยยิ้ม’ สื่อถึงจิตใจที่ดี ความเป็นมิตร และอารมณ์ที่แจ่มใส เป็นพลังด้านบวกที่คนรอบตัวคุณหมอต่างก็สัมผัสได้ ซึ่งคุณหมอภาคย์ได้บอกกับทีมงานว่า เราทุกคนสามารถปลุกพลังบวกให้กับตัวเองได้ด้วยการ ‘คิดดี พูดดี ทำดี’
“มีการศึกษาแล้วว่า ความคิด คำพูด การกระทำ สามสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและส่งผลต่อจิตใจอย่างมาก ถ้าเราอยากให้สิ่งที่ทำอยู่นั้นมีประสิทธิภาพ ประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำให้สามสิ่งนี้ไปในแนวทางเดียวกันคือ คิดในทางที่สร้างสรรค์ พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ พูดแล้วรู้สึกสดชื่นแจ่มใส ร่างกายก็เช่นกันควรทำกิจกรรมที่ทำให้สดชื่น มีพลัง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การยิ้ม การกระโดดโลดเต้น ทั้ง 3 ส่วนนี้เมื่อรวมกัน จิตใจก็จะมีความเข้มแข็ง คนเรามักนึกไม่ถึงว่าพลังที่อยู่ข้างในที่เรียกกันว่าพลังจากจิตใต้สำนึกนั้นมีพลังมหาศาล การจะดึงออกมาใช้ได้ดีต้องทำให้ความคิด คำพูด การกระทำ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงจะดึงศักยภาพของพลังส่วนนี้มาใช้ได้ คนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกมักจะใช้หลักคิดนี้กัน”
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ คุณหมอภาคย์จึงขอฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยความห่วงใยว่า ปัจจุบันคนเราติดโซเชียลมีเดียกันมาก ประเด็นส่วนใหญ่ที่จะดึงดูดคนให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้มากคือประเด็นดราม่า จึงอยากให้ทุกคนรู้เท่าทัน อ่านแค่รู้แล้วผ่านไป ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อยอดทางอารมณ์ให้ขุ่นมัว เพราะไม่ว่าบทสรุปของเรื่องราวจะเป็นอย่างไร สุดท้ายผลเสียจะตกอยู่ที่เราอย่างแน่นอน ความสุขที่ลดลงจริง ๆ แล้วไม่ได้เกิดจากใคร แต่เกิดจากตัวเรานั่นเอง
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018