บทความตอนนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวกับอาหารนัก แต่ World Cancer Research Fund คิดว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด ปัจจัยนั้นคือ ความสูงและน้ำหนักตัวแรกเกิด อย่างไรก็ดีข้อมูลนี้ค่อนข้างซับซ้อนและสับสน เพราะมีแค่ผลจากการวิจัยที่ยังอธิบายความได้ไม่ชัดเจนนัก ท่านผู้อ่านพึงอ่านด้วยสตินะครับ
ความสูง (Height)
ข้อมูลทางระบาดวิทยาระบุว่า คนที่สูงมากกว่าคนอื่นอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง เต้านม ไต รังไข่ ตับอ่อน และต่อมลูกหมากสูงกว่าคนที่เตี้ยกว่า
เรื่องของปัจจัยความสูงต่อความเสี่ยงของมะเร็งนี้มีผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่อง Height and cancer incidence in the Million Women Study: prospective cohort, and meta-analysis of prospective studies of height and total cancer risk (doi: 10.1016/S1470-2045(11)70154-1) ของ Dr. Jane Green และคณะ ซึ่งสังกัด University of Oxford ในวารสาร Lancet Oncololgy ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2011
งานวิจัยของ Dr. Green นั้นเป็นการศึกษาในอาสาสมัครสตรีอายุเฉลี่ย 56.1 ปี และมีความสูงเฉลี่ย 160.9 เซนติเมตร จำนวน 1,297,124 คน โดยคณะวิจัยอภิปรายว่า เหตุที่ความสูงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงอาจเป็นเพราะขณะที่กระดูกกำลังยืดขยายในวัยเด็กนั้นมีฮอร์โมนที่เรียกว่า insulin-like growth factors (IGFs) เพิ่มขึ้น โดยถ้าสูงมากฮอร์โมนก็เพิ่มมาก (IGFs เป็นฮอร์โมนนี้ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง)
นอกจากนี้วารสาร HealthDay Reporter (https://consumer.healthday.com) ได้รายงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2015 ว่า มีงานวิจัยซึ่งศึกษาในคนสวีเดนทั้งหญิงและชายกว่า 5 ล้านคน แล้วพบเช่นกันว่า คนที่สูงกว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางอวัยวะมากกว่าคนที่เตี้ยกว่าทุกความสูง 4 นิ้วที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยเรื่องความสูงนี้ยังต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมอีกมากเพื่ออธิบายกระบวนการและหนทางลดความเสี่ยงต่อมะเร็งที่อาจเกี่ยวข้อง ดังนั้นคนไทยจึงไม่ควรกังวลในเรื่องนี้นัก ขอให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ พยายามค้นหานักกีฬาไทยที่มีความสูงเกิน 190 เซนติเมตรและต้องไม่ผอม เพื่อสนับสนุนให้เล่นวอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ฯลฯ เนื่องจากการแข่งขันกีฬาระดับสากลนั้น ถ้าสูงใหญ่และมีสุขภาพดีโอกาสชนะย่อมสูงไปด้วย ดีกว่านักกีฬาตัวเตี้ย ผอมบาง แรงปะทะต่ำ เล่นดีอย่างไรก็มีแนวโน้มว่าแพ้วันยังค่ำ
น้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป (Greater birth weight)
เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในเด็กที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ประเด็นนี้อาจก่อความประหลาดใจแก่ผู้อ่านหลายท่าน ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเมื่อได้คุมวิชาสัมมนาของนักศึกษาปริญญาโท นักศึกษาคนหนึ่งได้นำเสนอบทความที่เกี่ยวกับผลเนื่องของความเข้มข้นฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดของแม่ขณะตั้งท้องต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมของลูกสาวที่คลอดออกมา
สิ่งที่ควรทราบคือ ระหว่างท้องนั้นระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีเพิ่มขึ้นสูงกว่าระยะที่ไม่ท้อง และร่างกายต้องรักษาระดับนั้นให้คงไว้จนกว่าคลอดลูก มิเช่นนั้นอาจแท้งได้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ การแท้งลูกนั้นถือว่าการทำงานของเอสโตรเจนที่มดลูกยังไม่จบสมบูรณ์ อิทธิพลของฮอร์โมนในการกระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวยังเหลืออยู่ จึงส่งผลให้สตรีผู้แท้งลูกนั้นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกสูงกว่าสตรีทั่วไป สมมุติฐานนี้มีงานวิจัยยืนยันเรื่อง Multiple Miscarriages Are Associated with the Risk of Ovarian Cancer (doi:10.1371/journal.pone.0037141) ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS One (Public Library of Science) เมื่อปี 2012
โดยทั่วไปแล้วสตรีที่อ้วนระหว่างท้องนั้นมักมีปริมาณเอสโตรเจนในเลือดสูงเป็นสิบถึงเป็นร้อยเท่าของระดับเมื่อยังไม่ท้อง (ต่างจากของหญิงที่ท้องแต่ไม่อ้วนซึ่งฮอร์โมนเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มากนัก) ผลที่ตามมาคือ เด็กหญิงที่อยู่ในมดลูกแม่นั้นมีสภาพเหมือนอยู่ใน อ่างเอสโตรเจน (Estrogen bath) ตลอดเวลาที่อยู่ในท้องแม่และเอสโตรเจนจากแม่นั้นเป็นปัจจัยที่เหนี่ยวนำให้เซลล์ที่จะกลายเป็นเต้านมของเด็กหญิงนั้นมีการสร้างบริเวณรับ (receptor) เอสโตรเจนมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า การมีบริเวณรับฮอร์โมนนี้มากย่อมทำให้เอสโตรเจนออกฤทธิ์ได้มากขึ้นกว่าเด็กที่มีบริเวณรับฮอร์โมนในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
เอสโตรเจนนั้นเป็น Anabolic hormone กล่าวคือ เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการแบ่งเซลล์ให้มากขึ้น ดังนั้นเด็กหญิงที่มีบริเวณรับฮอร์โมนที่เต้านมสูงกว่าเด็กอื่น เด็กคนนั้นย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่า (ท่านผู้อ่านไม่ควรสับสนกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเนื่องจากมียีนมะเร็งที่เรียกว่ BRCAs ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน) ทั้งนี้เพราะปรกติแล้วเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นั้น การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อเข้าเกาะที่บริเวณรับของเซลล์ที่ต่อมน้ำนม (mammary gland) ของเต้านมนั้น เป็นการกระตุ้นให้เซลล์เตรียมพร้อมในการแบ่งเซลล์เพื่อสร้างน้ำนมถ้ามีการปฏิสนธิและมีตัวอ่อนเกาะบนผนังมดลูก
ในสตรีซึ่งมีบริเวณรับของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงนั้น มักมีการขยายขนาดของเต้านมช่วงก่อนมีประจำเดือนอย่างชัดเจนพร้อมกับความเจ็บปวด ขนาดเต้านมจะลดลงเมื่อประจำเดือนหมด (เนื่องจากไม่มีการปฏิสนธิในมดลูก) แต่บางครั้ง (โดยเฉพาะในสตรีใกล้หมดการมีประจำเดือนและไม่มีลูก) การเตรียมพร้อมบางครั้งอาจเลยเถิดกลายเป็นมีการเพิ่มจำนวนเซลล์ของต่อมน้ำนมขึ้นเองอย่างผิดพลาด ซึ่งการเพิ่มเซลล์ในลักษณะนี้เข้าใจว่า เป็นสาเหตุหนึ่งในการนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นการที่เต้านมได้ทำงานครบรอบตามที่ควรเป็นคือ การได้มีน้ำนมให้ลูกดื่มนั้นจึงกลายเป็นหนทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมดังจะกล่าวต่อไปเกี่ยวกับปัจจัยลดความเสี่ยงมะเร็ง
Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017