หยุดยาลดไขมัน อันตรายหรือเปล่า?

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
38156
ยาลดไขมัน

คำถามตามชื่อหัวข้อของบทความนี้ เป็นคำถามที่หมอถูกถามบ่อยมาก ๆ ครับเวลาตรวจผู้ป่วย เพราะในปัจจุบันนี้เรามีแนวโน้มที่จะมีการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดกันมากขึ้น โดยเฉพาะยากลุ่มที่มักมีชื่อเรียกต่อท้ายว่า “statin” หมอขอยกตัวอย่างชื่อยาที่ผู้อ่านอาจเคยได้ยินหรืออาจกำลังรับประทานอยู่เองเลยก็ได้ครับ เช่น Simvastatin, Atorvastatin, Rosuvastatin เป็นต้นครับ ทั้งนี้อาจมีชื่อยาในทางการค้าที่แตกต่างกันตามแต่ละบริษัทนะครับ

ยาลดไขมันกลุ่มนี้ทางการแพทย์เรามีการค้นพบและมีหลักฐานจากงานวิจัยแล้วมากมายว่า นอกจากจะสามารถลดระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือดได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถลดการอักเสบภายในหลอดเลือด เพิ่มไขมันชนิดดี และสามารถใช้ทั้งแบบป้องกันในคนที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแต่พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นสูง และใช้ในกรณีรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย

แม้ว่าโดยหลักการยากลุ่มนี้จะทรงประสิทธิภาพและดีเลิศขนาดไหน แต่ยาย่อมเป็นยาในสายตาผู้ป่วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่มีแค่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแต่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคจริง ๆ การที่หมอแนะนำให้รับประทานยายิ่งเป็นเรื่องยากหลายเท่า ถ้าเป็นไปได้หลายคนจึงยังขอไม่รับประทานยาใด ๆ เลยเป็นเรื่องที่ดีที่สุดครับ

จึงตามมาด้วยคำถามที่ว่า ถ้าหยุดรับประทานยาลดไขมันจะเป็นอันตรายไหมครับหมอ?” หมอจึงขอให้คำตอบอ้างอิงตามงานวิจัยที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้

อ้างอิงการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Annals of Internal Medicine เดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 ทำในหัวข้อที่ว่า ในกลุ่มประชากรที่ไม่มีโรคแต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อถึงเกณฑ์ได้รับยาแล้วเลือกไม่รับหรือรับแล้วเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง?”

หมอขออนุญาตอธิบายแบบพื้นฐานก่อนนะครับ เมื่อเราควรรับประทานยาลดไขมันเพื่อควบคุมความเสี่ยงโรคหัวใจให้ลดลง แต่เราไม่ยอมรับประทานยา ระดับความเสี่ยงนั้นก็ยังคงเท่า ๆ เดิมครับ ส่วนในกรณีที่เมื่อรับประทานยาแล้วหยุดยาไปด้วยสาเหตุจากผลข้างเคียงจากยาหรืออื่น ๆ ก็ตาม ก็ย่อมจะมีผลในการปกป้องเราจากโรคหัวใจที่ลดลงแน่นอนเช่นกัน

กลับมาที่การศึกษานี้กันต่อครับ การศึกษานี้เก็บข้อมูลในประเทศจีนโดยมหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด โดยเก็บข้อมูลด้วยการสอบถามผู้ที่ได้รับยาลดไขมัน และพบว่าในกลุ่มที่ได้รับยานี้ประมาณ 24% รายงานว่าตัวเองเกิดผลข้างเคียงจากยาขึ้นแล้ว และลังเลว่าจะใช้ยาต่อไปดีหรือไม่ ในรายงานพบว่าผลข้างเคียงที่พบคือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออักเสบ จากนั้นผู้วิจัยได้ติดตามดูต่อว่าในกลุ่มผู้ที่เกิดผลข้างเคียงแล้วเลือกที่จะรับประทานยาต่อ กับกลุ่มที่ไม่ยอมรับประทานยาต่อไปจะมีการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

ผลปรากฏว่าในกลุ่มที่ใช้ยา statin ต่อไปนั้นมีอัตราการเสียชีวิตลดต่ำกว่ากลุ่มที่หยุดยาไปเลย 10-20% ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ ในกลุ่มที่รับประทานยาต่อก็พบว่ามีผลข้างเคียงคือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 25% แต่คนที่ตัดสินใจใช้ต่อก็ให้เหตุผลว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยและยอมรับได้ แต่ว่าข้อสังเกตของการศึกษานี้คือกลุ่มคนที่ได้รับยานั้นเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงและเป็นโรคแล้วบางส่วน การหยุดยาจึงส่งผลเสียพอสมควรอยู่แล้วครับ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเรื่องการใช้ยาลดไขมันกลุ่มนี้เคยให้ข้อสังเกตว่า การที่คนที่มีผลข้างเคียงจากยาแล้วหยุดยา แต่ก็ไม่เกิดโรคก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่โอกาสเกิดน้อยตามหลักสถิติ ทางผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าหลักฐานของการลดอัตราการเสียชีวิตจากการใช้ยานั้นมีประโยชน์เหนือกว่าผลเสียซึ่งมักจะไม่รุนแรงจากยา จึงไม่แนะนำให้หยุดยาหากไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง และถ้าหยุดก็จะมีความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมสูงกว่าผู้ที่รับประทานต่ออย่างชัดเจนแน่นอนครับ

เพราะฉะนั้นกล่าวโดยสรุปว่าเมื่อผู้ที่ได้รับยาลดไขมันแล้วเกิดผลข้างเคียงหรืออยากหยุดยาด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาถึงข้อดีและข้อเสีย รวมถึงวิธีแก้ไขผลข้างเคียงที่เกิดจากยาดีกว่าครับ ไม่แนะนำให้หยุดเองไปเฉย ๆ โดยไม่ติดตามความเสี่ยงหรือระดับไขมันในเลือดต่อโดยคิดว่าหายขาดแล้ว หากหยุดยาไปแล้วเกิดโรคหรืออาการที่เป็นอยู่กลับเป็นซ้ำหรือกำเริบขึ้น เราคงทำได้แต่นั่งเสียใจที่หยุดยาเท่านั้น หมอคิดว่าคำกล่าวที่ว่า ป้องกันดีกว่าแก้ไข ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอนะครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.204 April 2018