7 เทคนิคป้องกันมะเร็ง

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
2021
7 เทคนิคป้องกันมะเร็ง

“มะเร็ง” ไม่ว่าใครต่างก็เกรงกลัวด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีอัตราการตายมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ สาเหตุของโรคมะเร็งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ชีววิทยา ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางปัจจัยก็ความเกี่ยวข้องกัน และถึงแม้ว่าปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านี้จะค่อนข้างซับซ้อน แต่มะเร็งหลายชนิดสามารถป้องกันได้ถ้าเราใส่ใจ และทำความเข้าใจกับมัน

ต้นเหตุสำคัญของมะเร็งน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอภายในเซลล์ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจมาจากการถ่ายทอดจากพ่อแม่มายังลูก หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก และเมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความเสียหายให้กับดีเอ็นเอมากขึ้นๆ จนถึงจุดผกผัน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไปเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วและไม่หยุดหย่อน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะไม่สามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วได้ แต่เราสามารถ “ป้องกัน” ไม่ให้ความเสียหายนั้นเพิ่มมากขึ้นจนกลายไปเป็นมะเร็งได้

  • ลด ละ เลิกบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งที่สำคัญที่สุด และได้มีการประมาณการณ์กันไว้ว่า 30% ของผู้ป่วยชาวอเมริกันที่ตายด้วยโรคมะเร็งมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยพบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก และไต แม้กระทั่งการเคี้ยวยาเส้นก็มีความสัมพันธ์กับมะเร็งปากและตับอ่อน และถึงแม้จะเป็นการสูบบุหรี่มือสอง (ได้รับควันบุหรี่ของคนอื่น) ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน การเลิกบุหรี่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับบุหรี่ลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ในแง่ของโรคมะเร็งอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลว่าช่วยลดความเสี่ยงได้จริง ด้วยเหตุนี้จึงควรลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างสิ้นเชิง

  • คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นักวิจัยรายงานว่าการมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งถึง 20% ในขณะที่อีกรายงานหนึ่งระบุว่าภาวะน้ำหนักเกินทำให้เกิดการตายด้วยโรคมะเร็งคิดเป็น 14% ในผู้ชาย และ 20% ในผู้หญิง โดยพบว่าภาวะอ้วนน้ำหนักเกินส่งผลต่อการเกิดมะเร็งหลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ มะเร็งเยื่อบุมดลูก หลอดอาหาร ตับ และไต นอกจากนี้ความอ้วนยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ชาย และมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ด้วย ถึงแม้ว่าการลดน้ำหนักและคงไว้ให้อยู่ในเกณฑ์จะเป็นเรื่องยาก แต่นักวิจัยกล่าวว่าวิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลงได้มาก โดยในการศึกษาหนึ่งพบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ลดน้ำหนักได้ 22 ปอนด์หรือมากกว่า สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ถึง 50%

  • มีชีวิตที่ไม่อยู่นิ่ง

วิถีชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายการศึกษาพบว่า คนที่เคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงมากที่สุดมีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง 27% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวอยู่เสมอยังช่วยให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แม้แต่คนอ้วนน้ำหนักเกินหากออกกำลังสม่ำเสมอก็ยังมีผลช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน มีคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งไว้ว่า ควรออกกำลังกายด้วยระดับความหนักพอประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อย่างไรก็ตามมีรายงานเพิ่มเติมว่าการออกกำลังกายที่ระดับความหนักพอประมาณ 300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับความหนักมากๆ 150 นาทีต่อสัปดาห์อาจจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้มากขึ้น

  • หลีกเลี่ยงแดดจัด

แสงแดดทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้แน่นอน รังสีจากแสงอาทิตย์หรือตู้อบผิวสีแทน (ให้มีผิวสีน้ำตาลอย่างที่ฝรั่งนิยมทำกัน) สามารถสร้างความเสียหายให้กับดีเอ็นเอ และทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลบเลี่ยงแสงแดดตอนกลางวัน สวมใส่เสื้อผ้าทึบแสงกันแดด หรือสวมหมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดให้เพียงพอ จะช่วยป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังได้

  • ลดแอลกอฮอล์

จำนวนเหล้าที่ดื่มหรือระยะเวลาที่ดื่มเป็นประจำมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางอย่าง คือ มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ปอด ไต และตับ เพื่อลดความเสี่ยงจึงมีคำแนะนำว่าในชายอายุ 65 ปีหรือมากกว่าไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว และถึงแม้ว่าจะดื่มในปริมาณที่น้อยกว่านั้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมแก่ผู้หญิงได้ ถ้าคุณเป็นนักดื่มก็ควรรู้ไว้ว่าการกินวิตามินบี 9 หรือโฟเลตให้เพียงพออาจจะช่วยป้องกันความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ได้

  • กินถูกหลักอนามัย

อาหารบางอย่างถ้ากินมากเป็นประจำอาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งได้ เช่น เนื้อแดง เนื้อเค็มรมควัน เนื้อสัตว์แปรรูปเช่นไส้กรอก ธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก ในทางกลับกันอาหารที่ประกอบด้วยผักผลไม้หลากหลายชนิด ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีเช่น ข้าวกล้อง มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งน้อยกว่า ในเมืองไทยเราการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น กินปลาดิบมีพยาธิใบไม้ เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายแล้วจะไปสิงอยู่ในท่อน้ำดีของตับ ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งมีอยู่มากในในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ปีหนึ่งๆ มีคนตายจากโรคนี้ประมาณ 14,000 – 20,000 คน ท่านที่รักสุขภาพจึงควรหลีกเลี่ยงการกินของดิบประเภทปลาร้า ปลาดิบ ฯลฯ ทางที่ดีควรทำให้สุกเสียก่อน

  • ป้องกันและรักษาการติดเชื้อ

เนื่องจากการติดเชื้อหลายชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง เราจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งการลดความเสี่ยงมะเร็งในแง่นี้ทำได้ 3 วิธีคือ

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • รักษาการติดเชื้อ เช่น การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบชนิดบีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อชนิดนี้ การรักษาร่างกายให้หายจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกกันว่า Helicobacter pylori (H. pylori) เพราะเชื้อชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าเป็นนานๆ อาจก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารตามมา

ถ้าท่านใส่ใจต่อสุขภาพ ไม่ต้องการเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็ง ก็ควรจะปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ถึง 50% แล้ว

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 180 April 2016