ยาแก้เข่าเสื่อม ช่วยได้จริงหรือ?

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
6867

“คุณหมอครับ คุณแม่ปวดเข่าเป็นประจำเวลาเดิน แล้วไปซื้อยาแก้เข่าเสื่อม มันจะได้ผลไหมครับ” เป็นคำถามยอดฮิตที่ผมได้พบอยู่เป็นประจำทุก ๆ วันที่ตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาล

เดี๋ยวนี้จะพบว่าผู้หญิงที่อายุย่างเข้า 60 ปีมักจะมีปัญหาเรื่อง “ปวดเข่า” มีเสียงกรอบแกรบในเข่า เจ็บเวลาเริ่มเดิน เหล่านี้มักเป็นสัญญาณแรก ๆ ของอาการข้อเข่าเสื่อม หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงปวด ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ บริเวณเข่าจะมีกระดูกข้อต่อ 2 ชิ้น ทำหน้าที่เหมือนบานพับ ซึ่งผิวกระดูกจะเรียบมันเพื่อให้เคลื่อนไหวง่าย แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะพบว่าผิวเข่าบางส่วนเกิดการบด เสียดสีจนถลอกขรุขระ อาจเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ว่า ผิวของข้อเข่าปกติคือกระเบื้องมัน ๆ วาว ๆ ส่วนข้อเข่าเสื่อมคือพื้นซีเมนต์หยาบ ๆ อย่างไรอย่างนั้น แล้วก็เกิดคำถามต่อมาว่า “ยาที่วางขายอยู่ไม่ว่าจะเป็นกลูโคซามีนหรือคอลลาเจนสกัดต่าง ๆ ช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือ ?”

ยาที่ใช้บรรเทาอาการเข่าเสื่อมกลุ่มที่ใช้มากที่สุดน่าจะเป็นกลูโคซามีน ถ้าใครเคยไปอเมริกาจะพบว่าตามร้าน Walgreens, CVS หรือ Cosco จะวางขายได้ทั่ว ๆ ไป เพราะถูกจดทะเบียนเป็นอาหารเสริม จึงเป็นที่นิยมเพราะหาซื้อได้สะดวก ส่วนกลูโคซามีนไปช่วยอะไรในข้อเข่าบ้างนั้น เนื่องจากว่าผิวเข่าเราจะมีชั้นเคลือบมัน ๆ ที่เรียกว่า cartilage ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำและคอลลาเจน (ร่างกายคนเรามีคอลลาเจนหลายชนิดมาก ๆ) ในเข่าก็เป็นชนิดหนึ่ง กลูโคซามีนก็เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างเข่าตัวหนึ่งเพื่อเข้าไปปรับสมดุลรักษาน้ำเลี้ยงข้อเข่า ช่วยลดการถลอกของบริเวณผิวเข่า และยังช่วยลดการอักเสบในข้อเข่า

“แล้วที่ขายมีหลายชนิดมาก เราจะรู้ได้ไหมว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี?” ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าการผลิตกลูโคซามีนมักจะทำเป็นผลึกละลายน้ำ ส่วนประกอบเป็นเกลือไฮโครคลอไรด์ (HCL) และเกลือซัลเฟต ผลึกเกลือไฮโดรคลอไรด์จะผลิตได้ง่ายกว่าทั้งที่เป็นเกลือเหมือนกันแต่คุณสมบัติในการแตกตัวดูดซึมแตกต่างกัน มีการศึกษาพบว่าในคนไข้กลุ่มที่ได้รับกลูโคซามีนที่ใช้เกลือซัลเฟตเป็นส่วนประกอบได้ผลการรักษาที่ดีกว่า นอกจากนี้บางยี่ห้อยังมีการผสมสารตัวอื่น เช่น chondroitin เข้าไปด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นสารประกอบในเข่าเช่นกัน

“จำเป็นต้องรับประทานนานไหม? โดยทั่วไปมักจะต้องรับประทานติดต่อกันประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไปจึงจะเห็นผล ถ้าอาการดีขึ้น หายปวด ก็สามารถหยุดได้ ถ้ารับประทานติดต่อกัน 6 เดือนยังสามารถหยุดยาได้ 2 เดือนเพราะระดับยาในเข่าจะยังมีอยู่ ถ้าเริ่มมีอาการค่อยเริ่มรับประทานยาใหม่อีกครั้ง ส่วนที่เคยมีข้อมูลว่ารับประทานยากลุ่มนี้แล้วจะมีผลข้างเคียงเรื่องความดันลูกตาสูงขึ้น พบว่าเป็นเพียงการศึกษาไม่กี่การศึกษา และยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนกับความดันลูกตาสูงที่สัมพันธ์กันอย่างเด่นชัด

“ผู้ป่วยที่ปวดเข่าจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนทุกรายหรือเปล่า?” ไม่ใช่ทุกรายที่มีอาการปวดเข่าแล้วจะเป็นข้อเข่าเสื่อม อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเอ็นข้อเข่าอักเสบ หมอนรองกระดูกฉีกขาด ในกรณีนี้แม้ว่าจะรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนก็ไม่ได้ช่วยอะไร จึงแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉับก่อนน่าจะดีกว่า

“ถ้าเรารู้ว่าเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งเข่าเราจะเสื่อม เราสามารถป้องกันไว้ตั้งแต่ต้นได้ไหม?” เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะคงไม่มีใครอยากจะเป็น แต่ ณ ขณะนี้ข้อมูลทางวิชาการยังไม่พบข้อดีของการรับประทานกลูโคซามีนเพื่อป้องกันอาการข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ช่วยชะลอการเสื่อมที่เกิดขึ้นได้

ในส่วนของคอลลาเจนสกัด ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนที่เด่นชัดว่าช่วยลดอาการปวดเข่าได้ อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้เขียนได้ไปประชุม EULAR หรือสมาคมโรคข้อทางยุโรปกับ AAOS ทางอเมริกา แพทย์ทางยุโรปและอเมริกาก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันเองว่ายากลุ่มรักษาข้อเข่าเสื่อมมีประสิทธิภาพดีพอสำหรับรักษาข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ จึงเป็นการยากที่จะบ่งบอกไปอย่างฟันธงว่าดีจริงหรือไม่

สรุปในความเห็นของผู้เขียน ถ้าเราได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา การคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการนั่งยอง ๆ หรือพับเพียบ ขัดสมาธิเป็นเวลานาน รับประทานยาเท่าที่จำเป็น เท่านี้ก็สามารถบรรเทาอาการปวดข้อเข่าอย่างได้ผลแล้วครับ
Resource: HealthToday Magazine, No.189 January 2017