เจ็บคอ เป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เป็นลำดับต้น ๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ เจ็บคอเฉียบพลัน และเจ็บคอเรื้อรัง
- เจ็บคอเฉียบพลัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อ ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส เช่น ไรโนไวรัส, โคโรนาไวรัส และไวรัสอาร์เอสวี โดยมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดแน่นจมูก อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว เสียงแหบ และอาจมีไข้ นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่น ๆ เช่น โควิด 19 หัด และอีสุกอีใส เป็นต้น คออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอเฉียบพลัน โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย คือ สเตร็ปโตคอคคัส ในกรณีนี้ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการเจ็บคอมาก ไข้สูง อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการไอ ไม่ค่อยมีน้ำมูก และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- เจ็บคอเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการมานานกว่า 2-4 สัปดาห์ สาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บคอเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้อากาศ กรดไหลย้อน เนื้องอก และมะเร็ง เป็นต้น
อาการเจ็บคอกับโควิด 19
อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อโควิด 19 อาจแตกต่างกันไปขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 เช่น สายพันธุ์เดลตา ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บคอ ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดศีรษะ มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสเพิ่มขึ้นชัดมาก รวมทั้งมีอาการเหนื่อยหอบและอาการทางปอดค่อนข้างเยอะ ในขณะที่หากติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บคอ คออักเสบ เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน เพิ่มมากขึ้น การสูญเสียการได้กลิ่นและการรับรสลดลง ซึ่งแยกจากไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ยากขึ้น
อาการเจ็บคอกับการใช้สเปรย์พ่นคอ ยาอมกลั้วคอ เลือกอย่างไรให้เหมาะสม
ปัจจุบันมีสเปรย์พ่นบรรเทาอาการเจ็บคอวางจำหน่ายในท้องตลาดหลากหลายชนิด เช่น สเปรย์พ่นคอจากสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งได้รับการวิจัยมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ อย่างเช่น พรอพอลิส สเปรย์กลุ่มนี้เหมาะสำหรับบรรเทาอาการเจ็บคอโดยทั่วไป สำหรับอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียมีเพียงข้อมูลจากหลอดทดลองที่พบว่าช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ และยังช่วยลดการอักเสบในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองได้เช่นกัน สเปรย์พ่นคอที่มีสารลดการอักเสบ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน และเอ็นเสด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสเปรย์พ่นคอที่มียาฆ่าเชื้อโดยรวมหรือยาชาผสมอยู่
สำหรับการเลือกใช้ หากเป็นอาการเจ็บคอโดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของยาลดการอักเสบหรือยาฆ่าเชื้อ เพราะไม่มีความจำเป็น อาจพิจารณาเลือกใช้ชนิดที่มีสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อช่วยบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้สเปรย์พ่นคอชนิดใด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา เนื่องจากความหลากหลายของส่วนผสมในยาพ่นคอ
ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับสเปรย์พ่นคอ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน และพรอพอลิส ในการป้องกันหรือรักษาโควิด 19 พบว่ามีแนวโน้มว่าอาจจะได้ผล โดยอาจจะช่วยลดจำนวนเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไปในอนาคต
เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “รับมือเจ็บคอหลังโควิด” โดย ผศ. นพ.เจษฎา กาญจนอัมพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานสุขภาพเต็มร้อย วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565