ปัญญาประดิษฐ์กับการแพทย์

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
5996
เทคโนโลยีทางการแพทย์

ปัจจุบันนี้เรามักได้ยินคำว่า “Disruptive technologies” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันในด้านที่เกี่ยวข้องกันนั้นบ่อยมากขึ้นนะครับ สำหรับในทางการแพทย์เองก็มีการพัฒนาและนำ Disruptive technologies มาใช้กันมากขึ้น และพบว่าได้ผลดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ วันนี้หมอเลยขอเขียนถึงเรื่องราวการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence ; AI) หนึ่งใน Disruptive technologies มาใช้ในทางการแพทย์ แล้วพบว่าสามารถช่วยให้ทีมผู้รักษาและแนวทางการรักษาถูกพัฒนาขึ้นไปได้อีกระดับ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตเลยทีเดียว

เรื่องแรกคือ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเลือกแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ครับ ในปัจจุบันนี้ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของโลก อย่างไรก็ตามแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นยังคงมีความเห็นไม่ตรงกัน และไม่แน่นอนตายตัวอยู่เสมอ หลายต่อหลายครั้งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ผู้รักษาแต่ละท่าน

เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในการช่วยผู้รักษาคัดเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในผู้ป่วยแต่ละรายโดยอ้างอิง วิเคราะห์ และประมวลผลจากพื้นฐานความรู้ในการรักษาภาวะนี้ในปัจจุบันกับสภาวะของผู้ป่วยรายนั้น โดยผลจากงานวิจัยพบว่าการใช้เทคโนโลยี AI นี้โดยค่าเฉลี่ยแล้วมีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่า และยังพบอีกว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจะต่ำลงมากหากแพทย์ที่รักษาเลือกใช้เทคโนโลยี AI นี้ช่วยในการวิเคราะห์การรักษา นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตเลยทีเดียวครับ

เรื่องต่อไปคือ การสร้างสรรค์โปรแกรม AI ที่สามารถเรียนรู้เองได้ในการวิเคราะห์ค้นหาตำแหน่งของติ่งเนื้อร้ายจากการส่องกล้องตรวจทางทวารหนักในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยผู้ทำการวิจัยและทดสอบกล่าวว่า โปรแกรมนี้จะช่วยเพิ่มความไวและความจำเพาะขึ้นอย่างมากในการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต โดยโปรแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลผู้ป่วยจำนวน 1,290 ราย และคิดเป็นจำนวนภาพถ่ายจากกล้องตรวจทางทวารหนักจำนวน 27,113 ภาพ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการใช้งานกล่าวโดยสรุปพบว่า สามารถช่วยให้แพทย์ผู้ทำการส่องกล้องตรวจพบติ่งเนื้อร้าย และตัดสินใจให้การรักษาได้ดีและเร็วขึ้นมาก โดยมีค่าความไวและความจำเพาะสูงขึ้นเกือบถึง 95% เลยทีเดียวครับ

เรื่องสุดท้ายคือ หลาย ๆ ครั้งในการตรวจรักษาผู้ป่วยจำนวนมากอย่างเร่งรีบในห้องตรวจฉุกเฉิน (Emergency departments ; EDs) พบว่า การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ และสงสัยถึงการหักหรือร้าวของกระดูกนั้นเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในทางการแพทย์ วิธีที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้ในปัจจุบันนี้ก็คือ การเอกซเรย์กระดูก เพราะสามารถทำได้รวดเร็วทันทีที่ห้องตรวจฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดจากเทคโนโลยีเก่า ๆ อาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการแปลผลการตรวจหาภาวะกระดูกหัก และอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการวางแผนการรักษาต่อไปได้ การศึกษานี้จึงได้พัฒนา โปรแกรมที่ช่วยในการวิเคราะห์และวินิจฉัยการหักของกระดูก โดยกำหนดให้เครื่องมือนี้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคด้านกระดูก (Orthopedic surgeons) ในการวินิจฉัยโรคจำนวน 18 ท่าน คิดเป็นจำนวนภาพถ่ายเอกซเรย์ 135,409 ภาพ จากการทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแพทย์ที่ให้การรักษาในห้องฉุกเฉินที่ไม่ใช้และใช้เครื่องมือนี้ช่วยในการวินิจฉัยภาวะกระดูกหัก ผลพบว่า ในแพทย์ที่ไม่ใช้เครื่องมือนี้มีค่าความไวในการตรวจพบการหักของกระดูกอยู่ที่ 80.8% ความถูกต้องอยู่ที่ 87.5% ในขณะที่แพทย์ที่ใช้เครื่องมือนี้ช่วยในการวินิจฉัยมีค่าความไวอยู่ที่ 91.5% และความถูกต้องอยู่ที่ 93.9% โดยพบว่าค่าความเสี่ยงในการวินิจผิดพลาดจะลดลงได้ถึง 47%

นับได้ว่าการนำเอาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยร่วมกับการแพทย์ในปัจจุบันนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งนะครับ นอกจากจะเพิ่มสมรรถนะและความสามารถในการให้การรักษาของแพทย์ได้แล้ว ยังช่วยลดความผิดพลาดต่าง ๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับความถูกต้องและการนำไปใช้จริงในโรคและภาวะความเจ็บป่วยต่าง ๆ กำลังเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และเป็นเรื่องน่าติดตาม หากมีโอกาสหมอจะทยอยนำมาเล่าให้ผู้อ่านต่ออีกในครั้งต่อๆ ไปครับ

Resource: HealthToday Magazine, No.213 January 2019

หากผู้อ่านมีข้อสงสัย คำแนะนำ หรือต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ สามารถติดต่อหมอได้ที่อีเมล chkiasecret@gmail.com ครับ