ร่างกายแก่ ชะลอได้

นพ.ภรเอก มนัสวานิช แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ด้านผู้สูงอายุ

0
1379

จุดที่สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ที่สุดคือช่วงอายุ 30-35 ปี หลังจากนี้ทุกระบบของร่างกายจะเสื่อมหรือแก่ลงตามอายุแน่นอน แต่จะเสื่อมเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับต้นทุนเดิมและการดูแลตนเองตลอดช่วงอายุ ถ้าบุคคลดูแลสุขภาพได้ดีมาตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มสาว ความเสื่อมจะเป็นไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งแม้อายุ 60 ปีไปแล้ว สุขภาพก็ยังแข็งแรงอยู่ แต่ถ้าชีวิตในช่วงวัยหนุ่มสาวไม่เคยมีการดูแลสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเสื่อมก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นโรคต่างๆ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 60 ปี

ความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” โดยทั่วไปจะหมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม “อายุไม่ใช่ตัวเลข” ทางการแพทย์จะพิจารณาจากสภาพร่างกาย บางคนอายุแค่ 50 ปี แต่ร่างกายทรุดโทรมก็ถือว่าสูงอายุแล้วเช่นกัน ปัญหาสุขภาพใดบ้างที่พบได้ในผู้สูงอายุ

    • กลุ่มอาการเมแทบอลิก (Metabolic Syndrome) เช่น ความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง อ้วน คนเราเมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดจะแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น ความดันเลือดจึงสูงขึ้นตามมาเป็นธรรมชาติ อัตราการเผาผลาญลดลงจึงอ้วนง่ายขึ้น การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่ตับเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง การดูแลสุขภาพด้วย อาหารที่ถูกโภชนาการ อารมณ์ที่แจ่มใส และการออกกำลังกายที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนสูงวัยเพราะกว่าจะถึงเวลานั้นอาจสายเกินไปแล้ว
  • กระดูก มีความเสื่อมตามวัยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีปัญหาตรงนี้ชัดเจนกว่าผู้ชาย เพราะเมื่อถึงวัยทอง กระดูกจะบางลงเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ดังนั้นจึงต้องเสริมสร้างมวลกระดูกตั้งแต่ก่อนถึงวัยหมดประจำเดือนด้วย การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักเล็กน้อย รับประทานแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

 

  • ข้อเสื่อม มักจะตามมาทีหลัง ขึ้นกับการใช้งานข้อ ถ้าข้อถูกใช้งานมากก็จะเสื่อมเร็ว อย่างแม่บ้านที่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้มือบ่อยๆ ก็จะมีปัญหาข้อนิ้วและข้อมือเสื่อม ผู้ที่พิมพ์ดีดเป็นเวลานานก็จะมีปัญหาข้อนิ้วเสื่อม การชะลอความเสื่อมต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้โดย จัดให้มีช่วงหยุดพักระหว่างการทำงาน เช่น เมื่อพิมพ์ดีดติดต่อกันนาน 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมงแล้วควรหยุดพัก ใช้ท่าทางในการทำงานที่เหมาะสม เช่น การบิดผ้าควรบิดออก เพราะใช้ข้อมือน้อยกว่า และผ้าขี้ริ้วไม่ควรใหญ่เกินไป นอกจากนี้การดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของข้อที่รับน้ำหนัก เช่น ข้อเข้า ข้อสะโพก ได้เช่นกัน
  • ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ปัญหาที่มักพบได้แก่ ฟันหลุดร่วงตามวัย ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ลิ้นรับรสได้น้อยลงจึงเบื่ออาหาร กระเพาะอาหารไม่ค่อยยืดหยุ่น ทำให้อิ่มเร็ว (ตรงนี้ถ้าผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา) นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังท้องผูกได้ง่ายขึ้น เพราะลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวลดลง ไม่ค่อยบีบไล่อาหารเหมือนแต่ก่อน การรักษาอาการท้องผูกควรเริ่มด้วยการปรับพฤติกรรมก่อนโดยเพิ่มอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนที่ได้ดีขึ้น และขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไส้บีบตัว แต่ถ้าอาการเป็นมากควรมาพบแพทย์ เพราะอาการท้องผูกอาจเป็นอาการแสดงของความผิดปกติอื่นๆ เช่น มะเร็งในลำไส้ เป็นต้น
  • ระบบประสาทและสมอง สมองจะฝ่อลงตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งแสดงอาการได้หลายอย่างนอกจากความจำที่ลดลง เช่น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า บุคลิกภาพเปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวไม่ดี การทรงตัวไม่ดี เป็นต้น

อายุที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โรคภัยที่ตามมาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถชะลอหรือป้องกันได้ โดยการใส่ใจในสุขภาพตั้งแต่ขณะนี้ ด้วยอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายที่พอเหมาะ และอารมณ์ที่แจ่มใส ก่อนจะสายเกินไป

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 179 March 2016