ล้างพิษ…จริงหรือลวง

รศ. ดร.แก้ว กังสดาลกำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
2096
ล้างพิษ

คำว่า ล้างพิษ นั้นน่าจะเป็นศัพท์ของการบำบัดแบบการแพทย์ทางเลือก ภาษาอังกฤษที่เห็นมีใช้คือคำว่า Detox ซึ่งมันไม่ควรมาจากคำว่า Detoxification ที่แปลว่า การทำลายสารพิษ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักศึกษาสาขาพิษวิทยาและเภสัชวิทยา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสารแปลกปลอมหรือสารพิษนั้นไม่ได้ถูกทำลายหายไปเลยเสียทีเดียว แต่สารเหล่านี้มักถูกเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ (Biotransformation) จนสามารถถูกขับออกจากร่างกายตามทวารที่เหมาะสม

ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตระบุถึงสภาวะของผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการล้างพิษ (เช่น การล้างพิษตับ) เช่น ความดันโลหิตสูงมากเกินไป เบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคหัวใจขั้นร้ายแรง มะเร็งขั้นสุดท้าย ไตวายถึงระยะต้องฟอกไต โรคติดต่อร้ายแรง คนแก่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สตรีมีครรภ์ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ส่วนอาการของผู้ที่เหมาะต่อการเข้าล้างพิษคือ ปวดหัว เวียนหัว มีอาการเกี่ยวกับจิตใจทั้งหลาย เช่น หงุดหงิด วิตกจริต (ซึ่งยังไม่บ้า) กินไม่ได้ (ตามต้องการ) นอนไม่หลับ ถ่ายไม่ออก เหล่านี้เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือ อาการเหล่านี้มันเป็นของธรรมดาสำหรับผู้ที่เข้าสู่วัยการเป็น สว. (สูงวัย) ทั้งสิ้น ดังนั้น สว. ทั้งหลายจึงถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งการพุ่งชนของนักขายบริการมืออาชีพ

ในวงการล้างพิษนั้น นักขายมือใหม่ในบ้านเรามักอ้างคำพูดของนักล้างพิษต่างชาติที่บอกว่า ทุกคนจำเป็นต้องล้างพิษ หรือ ดีท็อกซ์ หรือทำความสะอาด หรือกำจัดสารพิษทั้งหมดออกไปจากร่างกาย หรืออาจอ้างคำพูดของนักวิชาเกินชาวไทยที่สนับสนุนการล้างพิษ ซึ่งจะเชื่อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวของเหยื่อแต่ละคน

“ล้างพิษ มันเป็นเรื่องจริงหรือ”

คำถามนี้จะเข้ามาในหัวผู้บริโภคทันทีที่ใกล้ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงิน คนที่ไม่จำเป็นต้องคิดถึงคำถามนี้คือ คนที่รวย(ไม่รู้เรื่อง) ซึ่งคิดว่า การล้างพิษนั้นเป็นการยกระดับตนขึ้นเป็นคนทันสมัย บทความหนึ่งของวารสารออนไลน์เช่น Time ได้กล่าวถึงความหมายของ Detox ว่าคำ ๆ นี้ไม่ใช่ศัพท์ที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ และเป็นคำที่มักถูกเลือกไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์และบริการที่ดูกำกวม ซึ่งมักเป็นการบำบัดปลอม (Fraud treatment) โดยสิ่งที่แท้และแน่นอนคือ ไม่สามารถพิสูจน์ว่า มีการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้จริง มันจึงมักเป็นการกล่าวถึง “ความรู้สึกทางอารมณ์” ซึ่งโดยหลักแล้วคงต้องดีขึ้น สดใสขึ้น ตามคำชี้นำของผู้ให้บริการ

ความเป็นจริงทางพิษวิทยานั้นระบุว่า ร่างกายเราสัมผัสสารเคมีทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์เป็นประจำทั้งจาก ยา สารปนเปื้อนในอาหาร สารปนเปื้อนในอากาศและน้ำ ฯลฯ สารเหล่านี้เราถือว่าเป็น สารแปลกปลอม เพราะมันไม่ใช่สารที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนสารอาหาร การสัมผัสสารแปลกปลอมของร่างกายนั้นไม่ได้หมายความว่า มันก่ออันตรายเสมอไป เพราะในความเป็นจริงแล้วการก่ออันตรายนั้นขึ้นกับ ปริมาณและความถี่ในการสัมผัสสารแปลกปลอมโดยเซลล์ของอวัยวะในร่างกายมนุษย์ และที่สำคัญเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเรามีระบบการป้องกันและกลไกที่น่าทึ่งเพื่อกำจัดสารที่ไม่พึงประสงค์ออกสู่สิ่งแวดล้อม

อวัยวะในร่างกาย เช่น ปอด ตับ ไต ผิวหนัง ผนังลำไส้ มีโอกาสสัมผัสสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายทุกวัน เซลล์ของอวัยวะเหล่านี้ล้วนมีความสามารถในการเปิดระบบ (ซึ่งปรากฏอยู่บนหน่วยพันธุกรรมคือ ดีเอ็นเอ) เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างสารแปลกปลอมแล้วขับออกจากร่างกาย อย่างไรก็ดีการทำงานของแต่ละอวัยวะนั้นมีระดับความสามารถมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่างทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ เมื่อใดที่สารแปลกปลอมถูกร่างกายกำจัดออกไม่หมด เหลือตกค้างอยู่ในร่างกาย การออกฤทธิ์แสดงความเป็นพิษจะเริ่มขึ้น ซึ่งโดยรวมนั้นเป็นการทำให้การทำงานของเซลล์แต่ละชนิดที่ได้สัมผัสกับสารพิษนั้น ๆ หยุดทำงานหรือทำงานผิดไปจากเดิม ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกไม่ปกติสุข

กระบวนการเปลี่ยนแปลงสารแปลกปลอมเพื่อขับออกจากร่างกาย หรือถ้าจะเรียกง่าย ๆ ว่า การทำลายสารพิษ (ซึ่งดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นคนละเรื่องกับการดีท็อกของนักขายฝันทั้งหลายนั้น) เริ่มต้นจากการที่สารแปลกปลอมซึ่งมักมีความสามารถในการละลายน้ำต่ำ จึงสามารถเคลื่อนผ่านระบบผนังเซลล์ที่เรียงตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลำไส้เล็ก ผนังปอด ผิวหนังมนุษย์ โดยอาศัยคุณสมบัติที่ผนังเซลล์มีองค์ประกอบหลักเป็นไขมันที่เรียงตัวเป็นสองชั้น สารแปลกปลอมบางชนิดอาจทำเนียนเคลื่อนผ่านช่องต่าง ๆ บนผนังเซลล์บ้างเป็นกรณีไป หรือแม้แต่ทำซี้ตีตั๋วไปกับระบบขนส่งสารอาหารที่อยู่บนผนังเซลล์ก็มีบ้าง

หลังจากสารแปลกปลอมผ่านปราการด่านแรกของร่างกายได้แล้ว ในกรณีที่เป็นการผ่านผนังลำไส้เล็กส่วนมากจะเข้าสู่ระบบเลือดที่เรียกว่า Hepatic portal vein ไปยังตับ จากนั้นเซลล์ตับจะทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสารด้วยระบบเอ็นไซม์ที่ซับซ้อน เพื่อทำให้สารแปลกปลอมละลายน้ำได้ดีขึ้น แล้วส่งต่อสารแปลกปลอมที่ถูกปรับแต่งโครงสร้างแล้วไปยังระบบน้ำดี (ที่ตับสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานในการช่วยดูดซึมไขมันจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย) ออกสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งสารแปลกปลอมจะไม่ถูกดูดซึมอีกแล้วเพราะละลายน้ำดีขึ้น จึงเคลื่อนพร้อมน้ำดีสู่ลำไส้ใหญ่ปนไปกับกากอาหารที่กลายเป็นอุจจาระในที่สุด

สำหรับสารแปลกปลอมที่ไม่ได้ผ่านไปสู่ตับ เช่น ถูกดูดซึมผ่านทางผนังปอดเข้าระบบเลือด ก็สามารถถูกเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ปอด หรือไปไกลที่เซลล์ของไต ในกรณีนี้สารแปลกปลอมจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ดังนั้นคนที่นิยมดื่มปัสสาวะตนเองคงพอได้คำตอบแล้วว่า ดื่มปัสสาวะแล้วได้อะไร

 

ที่มา: HealthToday Magazine, No.220 August 2019