ผ่านไปแล้ว 2 ตอน สำหรับขั้นตอนแรกคือการเตรียมทรัพยากร ได้แก่ เตรียมคน และ เตรียมเงิน ทรัพยากรทั้งสองเรื่องจะผูกพันกันใกล้ชิด บริหารให้ดี ขั้นตอนที่ 2 คือเตรียมสถานที่ หมายถึง สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุสมองเสื่อมในวัยชรา
หากมีเงินมากมาย เราจะแต่งสถานที่ให้ถูกต้องตามมาตรฐานเท่าไรก็ได้ เข้าไปดูในเน็ตสั่งพิมพ์แบบแปลนออกมาให้สถาปนิกช่วยขัดเกลาอีกรอบก่อนการก่อสร้างได้เลย แต่หากเงินน้อยก็ไม่ถึงกับทำอะไรไม่ได้ ขอเพียงให้เคร่งครัดกับหลักการบางข้อ อย่าดูเบาว่าอะไรๆ ก็ไม่เป็นไร หากสถานที่ดีและเหมาะสม ความสับสันวุ่นวายจะลดลงเรื่อยๆ หากสถานที่ไม่ดีไม่เหมาะสม ความสับสนวุ่นวายจะหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ
หลักการข้อแรกคือ สถานที่แวดล้อมผู้สูงอายุสมองเสื่อมควรเรียบง่าย ไม่รกรุงรัง ข้อนี้สำคัญที่สุด นั่นแปลว่าเราต้องลงมือสะสางห้องที่ท่านพักอยู่อาศัยขนานใหญ่ อะไรเอาออกได้เอาออกไปให้หมด ดียิ่งขึ้นหากจะจัดการบ้านทั้งหลังไปพร้อมกันเผื่อไว้ในกรณีที่ท่านเดินหรือนั่งล้อเข็นออกมานอกเขตหรือห้องส่วนตัว
สมองของท่านมีสมรรถนะลดลงมาก อย่าไปกลั่นแกล้งท่านให้ต้องใช้สมองหนักขึ้นในการจำแนกของระเกะระกะรอบตัว ขจัดออกให้สิ้น เหลือไว้เพียงของที่ท่านแตะต้องหรือใช้งานจริงๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู หนังสือสัก 1-2 เล่มที่ท่านผูกพัน แผ่นซีดีสัก 1-2 แผ่นที่ท่านชอบ ทีวีสักเครื่อง เครื่องเล่นเพลงสักเครื่อง ราวตากผ้าเล็กๆ ประมาณนี้ เมื่อสมองท่านไม่เสียไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น หาของไม่เจอเพราะรกเหลือเกิน สมองที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีจะได้ถูกสงวนไว้ใช้ในเรื่องที่จำเป็น จำเป็นที่สุดคือการรับรู้ว่าตนเองอยู่ที่ไหน และวันนี้วันเดือนปีอะไร
ผู้สูงอายุสมองเสื่อมสำคัญที่สุดคือต้องรู้ตัวว่าอยู่ที่ไหน และวันเดือนปีเวลาอะไร อาจจะรู้ไม่แม่นยำเหมือนพวกเรา แต่ควรรู้พอสมควร ว่าอยู่บ้าน วันนี้วันอะไร บอกวันที่ได้ยิ่งดี รู้ว่าเดือนอะไร ปีอะไร และรู้จักมองนาฬิกาบนผนังเมื่อเริ่มงงว่ากี่โมงกี่ยาม การไม่รู้สถานที่และไม่รู้เวลาคือจุดเริ่มต้นของอาการสับสัน หลงผิด หวาดระแวง หงุดหงิด ขี้โมโห เดินออกนอกบ้าน นอนไม่หลับ ด่าทอลูกหลาน ตามมาเป็นชุดๆ
เมื่อบริเวณรอบตัวท่านเรียบง่าย โอ่โถง สบายตา เรื่องที่ควรทำต่อไปคือ ติดปฏิทินและนาฬิกาที่เห็นชัด สะดวกแก่การเหลียวไปมองให้ท่านดู ปฏิทินเป็นตัวเลขขนาดใหญ่ ไม่ต้องเน้นสวยงาม ถ้าจำเป็นเลือกใช้ปฏิทินรายวันแบบฉีกทุกวัน ลูกหลานหรือพี่เลี้ยงอย่าลืมฉีกทุกเช้าก็แล้วกัน นาฬิกาเรือนใหญ่ เห็นจากระยะไกล เห็นได้ในเวลากลางคืนยิ่งดี ห้องที่รกจะทำให้ติดปฏิทินนาฬิกาก็มองไม่เห็นด้วยลายหูลายตาไปหมด ห้องที่โล่งทำให้ของสำคัญสองอย่างนี้มองเห็นเด่นชัดแต่ไกล
ถัดจากบริเวณอยู่อาศัยก็มาถึงเรื่องห้องน้ำห้องส้วม แบบแปลนห้องน้ำห้องส้วมที่ดีสามารถหาได้ในเน็ต อย่างไรก็ตามหากไม่มีทุนจะทุบทำใหม่ หลักการ 5 ข้อต่อไปนี้เป็นคำแนะนำขั้นต่ำที่ควรทำ ได้แก่ ห้องน้ำไม่ห่างจากห้องนอนมากจนเกินไป ประตูห้องน้ำกว้างพอที่รถเข็นจะเข้าได้ โถส้วมเป็นชักโครก ทำทางลาดจากห้องนอนเข้าสู่ห้องน้ำให้รถเข็นขึ้นลงสะดวก เปลี่ยนรถเข็นเป็นแบบที่สามารถทำความสะอาดช่วงล่างของท่านได้เมื่อถึงเวลานั้น แน่นอนห้องน้ำยิ่งกว้าง เราก็ดูแลท่านสะดวกขึ้น
ถัดจากห้องน้ำก็มาถึงรอบบ้านและรอบโลก ถ้าทำได้ รอบบ้านควรมีบริเวณสีเขียวให้ท่านผ่อนสายตา จิตใจ และจิตวิญญาณ และถ้าทำได้ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งควรพาท่านขึ้นรถไปเที่ยวนอกบ้าน อย่างน้อยที่สุดคือพาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นก็อย่าถึงกับไม่พบแพทย์เลยเอาแต่ส่งญาติไปรับยาเดิม การทำเช่นนี้อาจจะสะดวกดีแต่ผลการรักษาต่างกันแน่นอน อย่าลืมว่า เครื่องมือรักษาที่ดีที่สุดคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย” มิใช่เม็ดยา หากไม่อยากไปพบแพทย์จริงๆ ควรพาท่านไปกินอาหารนอกบ้านสักเดือนละครั้ง หาร้านที่มีที่จอดรถดีๆ แล้วไปสั่งอาหารมาให้ท่านกินถึงรถ หากยังไม่อยากทำแบบนี้อีกอย่างน้อยก็ควรพาท่านวนดูบ้านเมืองบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นภาระทั้งสิ้นและใช้ทุนทั้งนั้น จึงได้ขอให้เตรียมทรัพยากรบุคคลและทุนทรัพย์ให้ดีตั้งแต่แรก
Resource: HealthToday Magazine, No.179 March 2016