สมองเสื่อมกับการได้ยินเสียงโลก

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง

0
2298
สมองเสื่อม

7 ปีก่อนที่คลินิกโรคสมอง ผมนั่งตรวจคุณลุงวัย 76 ปีคนหนึ่ง คุณลุงตัดผมรองทรง สีผมขาวโพลน แต่งตัวเรียบง่าย ยิ้มให้ผมตั้งแต่ก่อนเข้าห้อง คุณลุงเดินเข้ามาพร้อมลูกสาวเช่นเคย ผมเรียกพยาบาลหน้าห้องให้ปิดห้อง และแจ้งว่า หากได้ยินเสียงหมอตะโกนคุยกับคุณลุงเสียงดังไม่ต้องตกใจนะ เพราะคุณลุงหูตึง คุณลุงเป็นคนดื้อ ผมบอกให้ใส่เครื่องช่วยฟัง เพื่อจะได้สื่อสารกันได้สะดวกขึ้น แต่คุณลุงบอกว่า อยู่อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับการ
ไม่ได้ยิน ลูกสาวหัวเราะหึ ๆ บอกตามใจแก

มาวันนี้ ผมได้พบกับคุณลุงอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้พบกันนาน เพราะคุณลุงย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คุณลุงยังคงมีผมขาวโพลนเหมือน 7 ปีก่อน ต่างกันที่ริ้วรอยและการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าตามวัยที่ชราภาพลง ผมทักลูกสาวที่มาด้วย แจ้งพยาบาลหน้าห้องว่า ผมจะพูดเสียงดังหน่อยนะ เพราะคุณลุงหูตึง แต่ลูกสาวบอกกับผมว่า ไม่เป็นไร เพราะคุณพ่อตอนนี้สมองเสื่อมเสียแล้ว ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ หมอไม่ต้องตะโกนก็ได้ ผมพยักหน้า ยิ้มให้คุณลุง คุณลุงยิ้มตอบ แต่ไม่พูดอะไร ผมคิดถึงความเกี่ยวโยงกันของหูและสมองที่เสื่อม

สมองเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยคนไทยที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป พบได้ถึง 1 ใน 10 และโรคอัลไซเมอร์ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย แม้ว่ามนุษยชาติยังรอคอยต่อความสำเร็จของการพัฒนายารักษาโรค อัลไซเมอร์อย่างใจจดใจจ่อ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้จากปัจจัยที่เราทราบ เช่น การเลี่ยงภาวะซึมเศร้า การเข้าสังคมเป็นประจำ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเราสามาถทำได้ก็จะลดโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 1 ใน 3

ภาวะหูตึงคืออีกหนึ่งความเสี่ยง

ภาวะหูตึง เป็นอีกภาวะที่พบได้ในผู้สูงอายุ โดยพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้มีอายุ 65-75 ปีมีภาวะการได้ยินลดลง และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นประมาณครึ่งหนึ่งเมื่ออายุเกิน 75 ปี จะเห็นได้ว่าภาวะหูตึงมีอัตราการเพิ่มขึ้นตามวัยเหมือนภาวะสมองเสื่อม แต่ที่น่าสนใจคือ การมีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงถึงความเชื่อมโยงกันของการเกิดภาวะสมองเสื่อมและภาวะหูตึง

ความเกี่ยวข้องถึงภาวะหูตึงเพิ่มอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี ค.ศ. 1989 นายแพทย์ Uhlmann และคณะ ได้แสดงการเพิ่มขึ้นของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่หูตึงเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีการได้ยินปกติ และไม่กี่ปีมานี้หลักฐานก็ชัดเจนมากขึ้นจนมีการยืนยันว่า หูตึง เป็นปัจจัยที่เพิ่มการเกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 2 เท่า ยิ่งกว่านั้น หากผู้สูงอายุมีภาวะหูตึงอย่างรุนแรงจะเพิ่มอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 5 เท่า

จากเสี่ยงสู่สมอง

อาจเป็นที่น่าแปลกใจเมื่อมีการเชื่อมโยงการได้ยินที่ลดลงกับความเสื่อมของสมอง คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ กลไกในการขาดการกระตุ้นสมอง เมื่อหูไม่สามารถรับเสียงการสื่อสารกับบุคคลและสังคมรอบตัว ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมขาดไป และเซลล์สมองก็จะทำงานเฉื่อยชาลง และถดถอยในที่สุด

นอกจากภาวะหูตึงอาจนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมแล้ว ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การเกิดภาวะหูตึงยังทำให้โรคแย่ลงอีกด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ญาติต้องตระหนัก เพราะผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในการสื่อสารอยู่แล้ว ทำให้เราอาจทราบได้ยากว่า การที่ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้นั้นมีภาวะหูตึงร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ การตรวจการได้ยินเป็นประจำถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นปัญหาง่าย ๆ ที่อาจถูกมองข้ามไปได้

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์กับการได้ยินเสียงโลก

การแก้ปัญหาความเสื่อมของสมองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงช่วยให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงดีขึ้น ในปี ค.ศ. 2003 งานวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ยืนยันประโยชน์ของเครื่องช่วยฟังในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยได้ทำการใส่เครื่องช่วยฟังให้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติเล็กน้อย ผลการทดลองพบว่า ร้อยละ 42 ของผู้ป่วย ที่ได้รับการใส่เครื่องช่วยฟัง มีการพัฒนาการทำงานของสมองและความจำดีขึ้น และการช่วยเหลือ
ตัวเอง การสื่อสารกับผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวก็ดีขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่า เพียงเราให้ความสัมพันธ์กับเรื่องหูและการได้ยิน ก็อาจเป็นกุญแจดอกสำคัญในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้

Resource: HealthToday Magazine, No.213 January 2019