สำหรับปัจจัยที่มีหลักฐานชัดว่า ลดความเสี่ยงของมะเร็ง ที่กล่าวถึงในบทความนี้คือ ผลไม้ ซึ่งขอกล่าวถึงเฉพาะผลไม้ที่คนไทยพอมีสตางค์สามารถหาซื้อกินได้สะดวกตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนผลไม้ประเภทต้องสั่งตรงจากต่างประเทศนั้นขอละเว้นเพื่อสงวนให้ผู้มีกำลังทรัพย์สูงไปหาข้อมูลเอาเองแล้วกัน
ผลไม้ สำหรับอาหารกลุ่มนี้ World Cancer Research Fund กล่าวเพียงว่า การได้กินผลไม้มากพอในแต่ละมื้ออาหารนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ปอด ปาก คอ และหลอดอาหาร ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ งานวิจัยทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่ระบุในภาพรวมของผักและผลไม้ในมื้ออาหารว่า มีศักยภาพในการต้านมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งของทางเดินอาหาร สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพบจากการค้นข้อมูลรวมทั้งประสบการณ์จากการสอนและทำวิจัยคือ ผลไม้พื้น ๆ ที่มีขายในบ้านเราหลายชนิดนั้นมีศักยภาพในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ เช่น กล้วย มังคุด องุ่น ส้ม เป็นต้น
กล้วย
เป็นทั้งอาหารและยาซึ่งมีราคาไม่แพงนัก ถ้าเป็นกล้วยน้ำว้าหวีงาม ๆ (นอกห้างสรรพสินค้า) ควรมีราคาไม่เกินหวีละ 35 บาท ส่วนกล้วยหอมซึ่งถ้าซื้อทั้งหวีจะแพงกว่า และเมื่อกินไม่ทันก็ต้องทิ้ง ดังนั้นคนในยุคปัจจุบันจึงมักซื้อกล้วยหอมจากห้างหรือร้านสะดวกซื้อซึ่งขายครั้งละ 1-2 ผล ผู้เขียนกินกล้วยช่วยเพิ่มพลังงานระหว่างการเล่นแบดมินตันหรือถีบจักรยาน เนื่องจากกล้วยอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติซึ่งให้พลังงานอย่างดี องค์ประกอบสำคัญอีกชนิดหนึ่งของกล้วยคือ ใยอาหาร นั้นช่วยทำให้ท้องอิ่มได้นานกว่าอาหารก่อนออกกำลังกายจานอื่น ที่สำคัญคือ กล้วยช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งควรช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารตอนล่างได้ดี
ใยอาหารนั้นเป็นพรีไบโอติกคือ เป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งเป็นโปรไบโอติกที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา นักวิชาการเชื่อว่าการมีพรีไบโอติกและโปรไบโอติกพร้อมกันในลำไส้ใหญ่เป็นการช่วยปรับสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารตอนล่างให้ ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็ง
มังคุด
เป็นผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก คนไทยอาศัยมังคุดช่วยลดอาการร้อนในเนื่องจากกินทุเรียนมากเกินไป อีกทั้งมีการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษบางชนิดด้วย จึงอาจกล่าวว่า มังคุดเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้แม้ราคาอาจสูงไปหน่อยในบางช่วงของปี งานวิจัยในวารสาร Journal of the Society for Integrative Oncology เมื่อปี 2006 เรื่องหนึ่งกล่าวว่า มังคุดมีสารชื่อ แซนโธน (Xanthones) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ต้านอาการบวม และต้านการขยายจำนวนของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดีผู้ป่วยมะเร็งคงต้องรองานวิจัยที่วางแผนการศึกษาในคนไข้ที่ดีกว่านี้ในอนาคต เพราะยังไม่มีใครบอกได้ว่า น้ำมังคุดที่หลายคนไปซื้อมาเพื่อใช้บำบัดมะเร็งนั้นไปรบกวนการทำงานของวิธีการบำบัดมะเร็งอื่นหรือไม่
องุ่นสีเข้มต่าง ๆ
เป็นผลไม้ต่างชาติที่คนไทยได้พัฒนาเป็นสายพันธุ์ที่สามารถขึ้นได้ดี (แต่อร่อยน้อยหน่อย) ในประเทศไทยมาหลายสิบปีแล้ว งานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ) เกี่ยวกับองุ่นรายงานว่า องุ่นลดการเกิดการออกซิเดชั่นในเซลล์ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ลดโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิด ต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ฯลฯ
ส้ม
เป็นผลไม้ที่พบว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการลดความเสี่ยงมะเร็งทั้งในห้องปฏิบัติการและงานระบาดวิทยา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับเรื่องการกินส้มกล่าวว่า การดื่มน้ำส้มช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ดีกว่าการกินส้มทั้งผล ซึ่งฟังดูประหลาดนัก เพราะการดื่มน้ำส้มนั้นทำให้ผู้ดื่มไม่ได้รับใยอาหารเท่าที่ควร ในรายละเอียดของงานวิจัยนั้นกล่าวว่า คนในเมืองเล็กเมืองหนึ่งชื่อ Sun City ในรัฐ Arizona ของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีแดดจัดแต่ร้อนแห้งต่างจากบ้านเราซึ่งร้อนชื้น) ดื่มน้ำส้มแล้วมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนในเมืองเดียวกันที่กินส้มทั้งลูก คำอธิบายผลการศึกษาที่เกิดเช่นนี้คือ ในการคั้นน้ำส้มนั้นได้มีการบีบเอาน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นสารขมของผิวส้มลงไปด้วย สารขมที่นักวิทยาศาสตร์สนใจคือ ดี-ลิโมนีน (d-Limonene) จากการค้นข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทำให้พบบทความที่กล่าวถึงแนวโน้มว่า ดี-ลิโมนีนและสารอื่นที่อยู่ในน้ำมันจากผิวส้มสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็ง โดยอาศัยกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายได้ (อ่านได้ในบทความชื่อ Cancer Prevention by Natural Compounds ในวารสาร Drug Metabolism and Pharmacokinetics ตีพิมพ์ปี 2004)
คนไทยแต่เดิมนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังค่อนข้างต่ำ (ทั้งที่บ้านเรานั้นแดดแรงเหลือคณา) อาจเป็นเพราะเรามีวัฒนธรรมการกินน้ำพริกซึ่งต้องมีการคั้นน้ำมะนาวด้วยมีด ทำให้มีการบีบเอาน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกมะนาวลงไปในน้ำพริก ซึ่งเป็นกลิ่นรสเฉพาะของน้ำพริกมะนาวนั่นเอง อย่างไรก็ตามสารดี-ลิโมนีนในปริมาณสูง ๆ กลับถูกพิสูจน์มาแล้วว่า ก่อให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลองได้ ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่ใครจะเสี่ยงไปซื้อลิโมนีนในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากิน เพราะอะไร ๆ ในโลกนี้น้อยเกินไปหรือมากเกินไปมักออกอาการเป็นพิษให้เห็น
Resource: HealthToday Magazine, No.196 August 2017